สนทนาธรรมกับ 2 พส. : ธรรมะยุคดิจิตอล (จบ)/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

สนทนาธรรมกับ 2 พส.

: ธรรมะยุคดิจิตอล (จบ)

 

สัปดาห์ก่อนผมเล่าให้ฟังว่าบท “สนทนาธรรม” และ “สำรวมหลวมๆ” ของผมกับสองพระนักเทศน์รุ่นใหม่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต แห่งวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ กทม.

ผ่านมาสองตอน วันนี้มาอ่านตอนที่ 3 และสุดท้ายของสนทนาธรรมวันนั้นครับ

ถาม : การใช้โซเชียลมีเดียทำให้ลดช่องว่างระหว่างวัยได้ไหมครับ

พระมหาสมปอง : อาตมากับท่านไพรวัลย์ห่างกันหนึ่งรอบ ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้เรามานั่งใกล้กัน เรียนรู้จากท่าน

อาตมาปีนี้ 42 อยากจะชวนคนอายุ 40 ขึ้นมาเรียนรู้จากคนอายุ 30 หรือ 20 หรือแม้กระทั่ง 10 กว่า

เขามีความคิดความอ่านที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง เริงร่า ร่าเริง มีความคิดความอ่านที่น่าสนใจ

อาตมาก็ถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าจะเขินจะอายไหม รุ่นอาตมาอาจจะกลัวเสียฟอร์ม เราต้องไปจำจังหวะและเทคนิคจากเขา ซึ่งคนเป็นอย่างนี้เยอะมาก

อาตมาอยากเชิญชวนให้มีเรียนรู้กันและกัน คนเขาจะดูใครก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น

เราช่วยกันทำสิ่งดีๆ มีประโยชน์ให้เกิดขึ้น

เราอยากให้ฟังเหตุฟังผล อะไรที่ไม่ดีไม่ชอบก็ผ่านไป แต่ก็จะมีอะไรที่ดีที่เราชอบ

พระมหาไพรวัลย์ : ตั้งแต่แรกๆ ใช้เฟซบุ๊กเลย นี่เป็นคีย์เวิร์ดเลย ก่อนนี้เรารู้สึกว่ามีช่องว่างเยอะ ช่องว่างระหว่างพระกับฆราวาส ช่องว่างระหว่างวัย เหมือนมีกำแพงอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งแทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นการปิดกั้นคนให้ออกห่างจากกัน

การไลฟ์อย่างที่อาตมาทำกับอาจารย์สมปอง เราพยายามจะทุบกำแพงนั้นออก พยายามที่จะคุยภาษาให้คนที่มาฟังเราเหมือนคนที่สนิทกับเรามาก เราสามารถแกงเราได้ หยอกล้อเราได้

แล้วเขาก็อาจจะเอาเราไปโพสต์ และพูดถึงเรา เขามีความสุข เขาพูดกับเราเหมือนเราสนิทกันมาก

อาตมาซึ้งเลยกับคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ว่าความคุ้นเคยจะทำให้เราเป็นญาติพี่น้องกัน

ถึงแม้คุณเกิดมาสายเลือดเดียวกัน แต่ถ้าคุณไม่มีความคุ้นเคยกันก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นญาติพี่น้องกัน

แต่แม้ว่าคุณไม่ได้เกิดร่วมสายเลือดเดียวกัน แต่มีความคุ้นเคยกันก็จะมีความสนิท

แต่ก่อนคนเจออาตมาอาจจะเฉยๆ แต่ทุกวันนี้ เวลาเขาเข้าวัด ทำบุญเขาก็จะยิ้มมาก่อนแล้ว แสดงว่าเรามีความเป็นมิตรกับเขาในระดับหนึ่ง

เขาเห็นเราเขายิ้มได้ สามารถเดินเข้ามาหาเราได้โดยรู้สึกว่าเรามีความปลอดภัยหรือเราให้กำลังใจอะไรบางอย่างสำหรับเขา

พระมหาสมปอง : เขาบอกว่าหลักการสอนนั้นคือการสร้างบรรยากาศให้เกิดความสนุก ความอบอุ่น เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้โดยที่ไม่รู้ตัว

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำอยู่คือการสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ เช่น คำพูดของวงการ LGBT ของอะไรต่างๆ มันทำให้เรารู้สึกสนิท รู้สึกเป็นญาติ หยอกล้อกันได้ สองรู้สึกมีความอบอุ่น มีความไว้ใจกันและกันที่จะถามจะบอก

และเขาก็จะเรียนรู้ธรรมะโดยไม่รู้ตัว

บางครั้งพอเราไลฟ์สาย เขาก็มีการจิก มีการโทร.ตาม

พระมหาไพรวัลย์ : และบางครั้งยังมีการแสดงความโกรธด้วย เช่น วันก่อนไปร่วมไลฟ์ในเพจของทนายสงกรานต์ ปรากฏว่าทนายสงกรานต์บอกให้ช่วยแชร์หน่อย เราก็แชร์ ก็คิดว่าไม่มีอะไร ปรากฏว่ามีคนเข้ากด “โกรธ” เยอะมาก

มีการคอมเมนต์ด้วยว่านิมนต์พระอาจารย์กลับไปช่องของพระอาจารย์เองได้แล้ว

 

ถาม : ถ้าสมัยพุทธกาลมีโซเชียลมีเดีย ลองเดาว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ท่านจะใช้มันอย่างไร

พระมหาไพรวัลย์ : อาตมาว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่สุดโต่งนะ ถ้ามันเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา อาตมาว่าพระพุทธเจ้าท่านน่าจะอนุญาต

อาตมาอาจจะคิดไปเองก็ได้นะ

พระมหาสมปอง : พระองค์ท่านเหนือชั้นมากในการสอนแต่ละเรื่อง เช่นการยกตัวอย่าง การตามไปดู พระองค์จะฉายให้เห็น ถ้าจินตนาการได้ก็จะเป็นพระองค์ใช้โปรเจ็กเตอร์ มีภาพประกอบสารพัด

พระองค์ทรงทันสมัยมาก มีอะไรให้ดูประกอบ ไม่ใช่การพูดอย่างเดียว

พระมหาไพรวัลย์ : ถึงขั้นมีเด็กถามในรายการหนึ่งว่าพระอาจารย์ถ้าสมมุติว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในไลฟ์ของพระอาจารย์ทั้งสอง พระอาจารย์จะทำอย่างไร

ถามอย่างนี้เลย

ก็ตอบไปว่าพระอาจารย์ก็คงได้แต่นั่งพนมมือฟัง และถ้าหากมีวาสนาก็อยากจะบรรลุธรรม

ถาม : ท่านรู้สึกว่าในช่วงหลังคนรุ่นใหม่สนใจธรรมะมากขึ้นหรือไม่อย่างไร

พระมหาไพรวัลย์ : ธรรมะของคนรุ่นใหม่เป็นธรรมะแบบลึกซึ้ง เขาต้องการธรรมะที่ตอบปัญหาชีวิตของเขาได้อย่างจริงจังและมีเหตุผล

เขาไม่สนใจหรอกว่าตายไปแล้วจะได้ไปขึ้นสวรรค์ เป็นนางฟ้าหรือเป็นเทวดาหรือไม่

เขาสนใจธรรมะในแง่ที่เป็นปรัชญา ตอบปัญหาที่คาใจเขา เช่น การปฏิเสธพ่อ-แม่ถือว่าอกตัญญูหรือเปล่า ถ้าไม่บวชทดแทนบุญคุณได้ไหม

เขาสนใจศาสนาในเชิงสังคมแบบนี้ หรือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา

ที่บางคนบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจธรรมะ ไม่ใช่หรอก อาตมาว่าคุณเอาธรรมะในแบบเก่าไปสอนให้เขาเห็นเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ ก็เลยทำให้รู้สึกว่ายังไม่ใช่คำตอบที่เขาอยากจะรู้หรือที่เขาสนใจ

 

ถาม : คำถามจากคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปไหมครับ ตอบยากขึ้นไหมครับ

พระมหาสมปอง : อาตมาว่าคนรุ่นอาตมาหรือมากกว่าอย่าได้กลัวคำถามเลย พระพุทธเจ้าท่านไม่กลัวคำถาม ตั้งแต่คำถามพื้นฐานเลย บางทีอาจจะถูกมองว่ากวนด้วยซ้ำไป

ไม่ว่าจะเป็นคำถามว่าทำไมคนต้องแก่ ต้องป่วย ต้องตายไหม

คำสั่งสอนของพระองค์ท่านล้วนแล้วแต่เกิดจากคำถามทั้งสิ้น และค้นหาคำตอบ

เด็กรุ่นใหม่ก็มีคำถามว่าธรรมะข้อนี้ข้อนั้นใช้ได้หรือไม่อย่างไร และเขาก็แสวงหาคำตอบ ทำอย่างไรจึงจะเอามาใช้ได้จริง

รุ่นเราจะเป็นทำนองว่าเชื่อไว้ก่อน ศรัทธาไว้ก่อน และวางเอาไว้ ไม่ต้องเอามาลองใช้ก็ได้ เราอาจจะมีอิทธิบาท 4 พรหมวิหาร 4 แต่เราไม่ได้เอามาใช้

คนรุ่นใหม่กล้าถาม กล้าลองเอามาใช้ บางอย่างเขาถามลึกซึ้ง เช่น ถามว่าถ้าไม่บวชแทนคุณคุณพ่อคุณแม่จะได้บุญไหม บาปไหม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรถามอยู่แล้ว

เพราะความจริง เราสามารถตอบแทนบุญคุณได้หลายวิธี

คนไทย 70 กว่าล้านคนที่บวชก็เพียงจำนวนหนึ่ง อีก 68-69 ล้านคนก็ไม่ได้บวช เขาก็ทำความดีอย่างอื่นได้

ความจริงก็ไม่ได้ตอบยากขึ้น แต่ว่าเราก็ต้องพยายามตอบแบบ make sense กับเขามากขึ้น

ทุกวันนี้ อาตมาต้องกลับมาเรียนรู้ว่าจะต้องพูดอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจธรรมะมากขึ้น ดลใจเขามากขึ้น