มองบ้านมองเมือง : เทศกาลน้ำท่วมประจำปี / ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส
น้ำท่วม ในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู ภาพจาก ข่าวสด

 

 

เทศกาลน้ำท่วมประจำปี

 

เมืองไทยของเรา นอกจากเทศกาลสงกรานต์สาดน้ำในเดือนเมษายน และเทศกาลลอยกระทงตามน้ำในเดือนพฤศจิกายนแล้ว ยังมีอีกหลายเทศกาลที่เกี่ยวกับน้ำ ที่เป็นกิจกรรมบันเทิงทั่วประเทศ

ในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม คนไทยจะกระวนกระวายกับอากาศที่ร้อนจัด แต่ก็พอใจเมื่อมีข้ออ้างให้ไปเล่นน้ำทะเลหรือน้ำตก

พอถึงเดือนมิถุนายน ฝนฟ้าก็เริ่มตก อากาศร้อนหายไป ไม้ใบเริ่มเขียว ไม้ผลเริ่มผลิดอกออกผลให้อิ่มหนำสำราญ

แต่ทุกครั้งที่ฝนตั้งเค้า คนไทยจะหวาดผวา กลัวน้ำหลากมาท่วมหมู่บ้าน กลัวจะติดอยู่ในรถนานเป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง กลัวน้ำรอระบายจะท่วมถนนหนทาง รถยนต์ และบ้านอยู่อาศัย

จนเริ่มไม่แน่ใจว่า ฝนฉ่ำกับฝนแล้ง แบบไหนจะดีกว่ากัน

 

คงเป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของบ้านเราอยู่ในเขตมรสุม อีกทั้งแนวชายฝั่งทะเลในสมัยทวารวดีนั้น ห่างขึ้นไปไกลทางเหนือหลายกิโลเมตร เมืองโบราณที่อยู่ติดกับอ่าวไทยในเวลานั้น ได้แก่ นครนายก ลพบุรี สุพรรณบุรี อู่ทอง นครปฐม คูบัว ฯลฯ

นั่นหมายความว่า บริเวณพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบัน เคยอยู่ใต้น้ำมาก่อน

ฝนที่ตกบนเขาทางภาคเหนือและไหลหลากลงมา ได้นำตะกอนที่อุดมสมบูรณ์มาทับถมบริเวณปากแม่น้ำนานหลายร้อยปี จนกลายสภาพเป็นทะเลตม และค่อยเป็นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำในเวลาต่อมา เมื่อรวมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาล จึงกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเกษตรยิ่งนัก ผู้คนพากันมาตั้งถิ่นฐานทำนาหาเลี้ยงชีพ จากบ้านกลายเป็นเมือง และมหานครในเวลาต่อมา

ตามสภาพภูมิประเทศ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีระดับสูงกว่าพื้นที่ฝั่งตะวันออกเล็กน้อย จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกประเภทพืชสวน เป็นที่มาของการเรียกขานว่า บาง เช่น บางกอก บางบำหรุ บางบัวทอง บางมด บางแวก บางปะกอก เป็นต้น

ส่วนฝั่งตะวันออก ที่มีระดับต่ำกว่า มีสภาพเป็นทุ่ง เหมาะแก่การทำนา เช่น ทุ่งแสนแสบ ทุ่งวัวลำพอง ทุ่งสามเสน ทุ่งมักกะสัน ทุ่งดงละคร เป็นต้น

บางพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังเป็นหนอง บึง เช่น หนองจอก บึงกุ่ม เป็นต้น หรือเป็นที่ลาด (ลุ่ม) เช่น ลาดพร้าว ลาดกระบัง ลาดหลุมแก้ว ลาดยาว ลาดปลาเค้า เป็นต้น

มีแต่คนรุ่นปัจจุบันที่ไม่รู้กำพืดเดิม เพราะรุ่นปู่-ย่า ตา-ทวด หรือพ่อ-แม่โยกย้ายมาจากถิ่นอื่น เลยไม่รู้ว่าถิ่นที่อยู่อาศัยในเมืองกรุงนั้น

อย่างไรก็ต้องเจอะเจอฝนตกและน้ำท่วม

 

นํ้าฝนที่ตกลงมา เดิมทีจะไหลไปตามสภาพพื้นที่ เกิดเป็นทางน้ำและคูน้ำมากมาย ก่อนจะไหลรวมลงคลอง สู่แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ที่เป็นแหล่งรวมของน้ำจากทางภาคเหนือของประเทศ ส่วนแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำแม่กลอง จะเป็นน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันออกและตะวันตก ตามลำดับ ก่อนที่จะไหลลงอ่าวไทย

ทางน้ำทั้งน้อยใหญ่ จะเชื่อมต่อกันเป็นระบบ เป็นที่มาของรูปสัณฐานของบางกอก ที่พัฒนาต่อเนื่องเป็นสภาพถนนหนทางและสิ่งก่อสร้างเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินที่มาพร้อมน้ำหลาก ทำให้พืชพันธุ์งอกงามตามธรรมชาติ ฝนที่ตกตามฤดูกาล ทำให้คนไทยมีผลิตผลจากธรรมชาติ ให้บริโภคตลอดทั้งปี เดิมทีเฉพาะพันธุ์ไม้ที่เจริญงอกงามรอบบ้าน ก็พอเพียงกับการประกอบอาหารแต่ละมื้อ แต่ละวัน

ฝนตกน้ำท่วม จึงเป็นเรื่องที่คนไทยในอดีตเฝ้ารอ หากกลายเป็นเรื่องที่คนไทยในปัจจุบันหวาดหวั่นทุรนทุราย