อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : The Tenebrous Spiral Staircase of the – สำรวจสภาวะสังคมไทยปัจจุบัน ผ่านการจับคู่เปรียบกับห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

The Tenebrous Spiral Staircase of the –

สำรวจสภาวะสังคมไทยปัจจุบัน

ผ่านการจับคู่เปรียบกับห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ (1)

 

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ในตอนนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่กลับมาเปิดให้เข้าชมกันอีกครั้งหลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลกันอีกที

ในคราวนี้เป็นคิวของนิทรรศการของศิลปินและภัณฑารักษ์อิสระชาวกรุงเทพฯ ผู้สร้างสรรค์ผลงานและอยู่เบื้องหลังการจัดนิทรรศการและโครงการศิลปะร่วมสมัยอันโดดเด่นทั้งในประเทศไทยและในระดับสากลมากมายอย่าง จิตติ เกษมกิจวัฒนา

แก่นแกนของวิถีปฏิบัติทางศิลปะของจิตติคือการสำรวจการผันผ่านของกาลเวลา ในแต่ละนิทรรศการที่ผ่านมาของเขามักเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ในปัจจุบันกับเงื่อนงำทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ถูกเปิดเผยให้ปรากฏขึ้น

วัตถุต่างๆ ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้น เป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับชีวิต ไปจนถึงเชื่อมร้อยประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม, การเมือง หรือแม้แต่คำถามเชิงอภิปรัชญา และการดำรงอยู่ของห้วงจักรวาลเข้าไว้ด้วยกัน

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ก่อตัวขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันไดเวียนที่สะท้อนฝีก้าววนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่ารายรอบความว่างเปล่าอันไร้จุดหมาย

เช่นเดียวกับความหมายในชื่อนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาอย่าง

The Tenebrous Spiral Staircase of the –

นิทรรศการ The Tenebrous Spiral Staircase of the –

นิทรรศการที่จับคู่เปรียบสถานการณ์ทางสังคมการเมืองในปัจจุบันเข้ากับผลงานศิลปะแห่งยุคโรแมนติกที่บันทึกความหายนะของมนุษย์ในประวัติศาสตร์ และฉากหลังแห่งการปฏิรูปเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของรัฐสยามในอดีต ผ่านการเฝ้ามองของสายตาหลากคู่บนสองศีรษะ (ไร้ร่างกาย)

อันเป็นภาพแทนของศิลปินและนักดนตรีคู่จากทศวรรษ 1980

หรือคราบกายของเทวทูตจากภาพยนตร์แฟนตาซีสัญชาติเยอรมัน

และผลงานที่ล้อไปกับศิลปะวัตถุจากภาพยนตร์ซีรีส์ดราม่าอาชญากรรมสัญชาติเกาหลี

เหล่าบรรดาตัวละครเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องมือในการกระตุ้นจินตนาการความคิดฝันของผู้ชม และเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นเสมือนหนึ่งผู้กำกับฯ ด้วยการเคลื่อนกายผ่านห้องสีขาวไปสู่ห้องสีเขียวที่ดูไม่ต่างอะไรกับฉากหลังที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์

จิตติเปลี่ยนห้องแสดงงานให้กลายเป็นพื้นที่ปลายเปิดให้ผู้ชมสำรวจเงื่อนปมภายในนิทรรศการจากประสบการณ์และพื้นเพทางความคิดของตนเอง

-, 2021

 

“นิทรรศการครั้งนี้เกิดจากการเฝ้ามองสถานการณ์บ้านเมืองที่ผมคิดว่าเรากำลังมาถึงจุดที่พังพินาศในหลายๆ อย่าง ผมเลยอยากสร้างพื้นที่ที่สะท้อนสถานการณ์เหล่านี้ แต่ก็ยังอยากเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วย”

“เริ่มที่ผลงานชิ้นแรกอย่าง -, 2021 ภาพวาดคู่หนึ่งที่ผมเขียนวันที่ 16 ตุลาคม 2020 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนที่แยกปทุมวันลงไป สำหรับผมเหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนหลายๆ อย่างของประวัติศาสตร์เมืองไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ตัวเรากว่าวันที่ 6 หรือ 14 ตุลาคม ในอดีต, ด้านใต้วันที่มีตัวเลขพิกัดจีพีเอส เมื่อนำไปเสิร์ชในกูเกิลจะเห็นเป็นพื้นที่ตรงจุดเกิดเหตุเด้งขึ้นมา ส่วนภาพวาดด้านซ้ายเป็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผมคัดลอกมาจากแผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาจากอยุธยาสู่ทะเล (Carte du Cours du Menam depuis Siam jusqu’ à la Mer) โดย ฌากส์-นิโกลาส์ เบลแลง (Jacques-Nicolas Bellin) เขียนเมื่อประมาณปี 1750 โดยวาดด้วยสีไทยโทนสีฟ้าชื่อ “สีน้ำไหล” (เพราะสยามสมัยก่อนไม่มีสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน) เพราะถ้าพูดถึงความเป็นสมัยใหม่ของไทย (สยามประเทศ) ก็ต้องย้อนกลับไปที่สมัยอยุธยา นั่นคือจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้”

“หรือผลงาน Ensemble Laboratory, 2021 ประติมากรรมที่เป็นหัวคนสองหัว ผมอยากสร้างระยะให้ผู้ชมโดยทำเหมือนมีคนกำลังจ้องมองอะไรบางอย่างอยู่ในห้องแสดงงาน เวลาคนเข้ามาชมนิทรรศการก็จะกระเถิบถอยหลังจากงานออกไปอีกระยะหนึ่ง หรือในเชิงปรัชญา สองหัวนี้เป็นตัวแทนของแนวคิดเกี่ยวกับ Angel of History (เทวทูตแห่งประวัติศาสตร์) ของ วอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) ที่พูดถึงผลงานภาพพิมพ์ Angelus Novus (New Angel) (1920) ของ พอล คลี (Paul Klee) ที่เขาซื้อมา และตีความผลงานชิ้นนี้ในบทความในหนังสือชื่อ Theses on the Philosophy of History (1940) ที่พูดถึงความหมายของประวัติศาสตร์ เวลา และความเปลี่ยนแปลง”

“ประติมากรรมสองหัวนี้คือ Angel of History ส่วนตัวของผมที่เอามาตั้งไว้ในพื้นที่นี้ ดวงตาหกดวงในแต่ละหัวเป็นสัญลักษณ์แทนปีกของเทวทูตในภาพของพอล คลีที่ปีกค้างแข็งอยู่กับที่ ซึ่งวอลเตอร์ เบนยามิน ตีความว่าเทวทูตตนนี้กำลังพยายามย้อนกลับไปสู่อดีตเพื่อซ่อมแซมสิ่งที่พังพินาศไปแล้ว แต่กลับถูกพายุจากสวรรค์พัดมาอย่างรุนแรงจนทำให้ปีกค้างแข็งไม่สามารถหุบได้อีก และถูกพัดพาไปสู่อนาคตที่ไม่อาจต้านทานได้ (ซึ่งพายุลูกนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความก้าวหน้า’ นั่นเอง) ในขณะที่ประติมากรรมสองหัวของผมคู่นี้ไม่มีร่างกาย ผมก็เลยเปลี่ยนปีกให้เป็นดวงตาแทน ซึ่งในวัฒนธรรมของเราจะมีคติความเชื่อเกี่ยวกับดวงตาที่สามที่สี่ อันเป็นตัวแทนของการรู้แจ้งเห็นจริง”

“แรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งของประติมากรรมสองหัวนี้ก็คือวงดนตรียุค 80 ที่ผมเคยดูชื่อ “จีวันแบนด์” ที่เมื่อก่อนเขาแสดงดนตรีแบบกึ่งศิลปะแสดงสด จำได้ว่าผมเคยดูเขาเล่นตอน ม.5 ม.6 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเห็นเขาเขียนดวงตาบนหน้าผาก ถ้าถามผมถึงภาพจำเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของไทยในประสบการณ์ของผม ผมก็จะนึกถึงการแสดงของวงดนตรีวงนี้”

Ensemble Laboratory, 2021

 

นิทรรศการ The Tenebrous Spiral Staircase of the – โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) โครงการ N22 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22

ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม-6 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชมต่อครั้งไม่เกิน 10 คน

ทางแกลเลอรี่ขอความร่วมมือผู้ชมสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเข้าชมนิทรรศการ

หรือชมนิทรรศการทางช่องทางออนไลน์ได้ที่ instagram.com/journal_spiralstaircase

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Gallery VER