จับตาการเมืองอินทรีเหล็ก หลังยุคแมร์เคิล/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

จับตาการเมืองอินทรีเหล็ก

หลังยุคแมร์เคิล

 

ปิดฉากลงไปเรียบร้อยกับศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญของเยอรมนี ที่เป็นการสรรหาผู้นำรัฐนาวาคนใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดในยุโรปแห่งนี้ แทนที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่ง ผู้ทรงอิทธิพลบทบาทมากที่สุดของโลก ซึ่งได้ประกาศวางมือไปก่อนหน้าหลังจากทำผลงานไว้อย่างโดดเด่นในระหว่างอยู่ในตำแหน่งนี้มายาวนานถึง 16 ปี

แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมากลับทำให้เยอรมนีต้องเผชิญอยู่บนความไม่แน่นอนมากขึ้น

เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงสนับสนุนเด็ดขาดที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในบุนเดิสทาค (รัฐสภา) ของเยอรมนีได้

โดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีดี) แนวทางกลางซ้ายของนายโอลาฟ โชลตซ์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี เฉือนเอาชนะกลุ่มพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนและพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (ซีดียู/ซีเอสยู) กลุ่มการเมืองขั้วอนุรักษนิยมที่อยู่ภายใต้การนำของนายอาร์มิน ลาสเชต ผู้ขึ้นมาถือธงนำกลุ่มซีดียู/ซีเอสยู ต่อจากนางแมร์เคิลไปอย่างหวุดหวิด ด้วยคะแนนนำเพียงแค่เปอร์เซ็นต์เศษ ที่ 25.7% ต่อ 24.1% เท่านั้น โดยที่ผลงานของกลุ่มซีดียู/เอสซียูในการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าทำได้แย่ที่สุดเป็นครั้งประวัติการณ์เลยทีเดียวด้วย

ชัยชนะที่ไม่เด็ดขาดนี้เองทำให้การเมืองแดนอินทรีเหล็กกำลังปั่นป่วนหนัก เพราะขณะที่นายโชลตซ์ประกาศว่าพรรคตนเองมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลจากเสียงสนับสนุนมากกว่าที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมอบให้

ทว่าลาสเชตก็อ้างว่าพรรคตนเองยังมีสิทธิที่จะตั้งรัฐบาลผสมเพื่อบริหารประเทศได้

 

สถานการณ์ทำนองนี้ของการตั้งรัฐบาลผสมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเยอรมนี เพราะนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองใดเลยในเยอรมนีที่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมากลุ่มซีดียู/ซีเอสยูนำโดยนางแมร์เคิล ก็จับขั้วกับพรรคเอสพีดี เป็นรัฐบาลผสมมาแล้ว

แต่มาครั้งนี้เอสพีดีประกาศท่าทีแข็งกร้าวออกมาก่อนแล้วว่าจะไม่จับขั้วเป็นพันธมิตรกับพรรคซีดียู

เพราะโชลตซ์ต้องการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเยอรมนี ซึ่งเป็นเป้าประสงค์เดียวกันกับลาสเชต

ตอนนี้ทำให้นานาชาติกำลังจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองในเยอรมนีต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นหัวหอกนำการจัดตั้งรัฐบาลผสมสำเร็จ ที่จะกำหนดทิศทางนโยบายและการดำเนินบทบาทของเยอรมนีในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

ที่ต้องจับตากันให้ดีคือท่าทีของพรรคกรีน ซึ่งมีคะแนนเสียงตามมาเป็นที่ 3 ได้ 14.8% และพรรคเอฟดีพี แนวทางเสรีนิยม ได้คะแนนเสียง 11.5% ซึ่งกำลังเนื้อหอมถูกตามจีบในฐานะเป็น “คิงเมกเกอร์” ผู้ชี้ชะตาว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลผสม

และใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ระหว่างโชลตซ์กับลาสเชต ที่ดูท่าจะยังต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์และแนวนโยบายต่างๆ ที่มีความแตกต่างขัดแย้งกันอยู่พอสมควร

 

มีการตั้งธงความเป็นไปได้ถึงการฟอร์มรัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่ที่จะออกมา ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุดแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การจับขั้วทางการเมืองระหว่างพรรคเอสพีดี พรรคกรีน และพรรคเอฟดีพี โดยพรรคเอสพีดีของโชลตซ์ ที่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดและควรได้รับสิทธิตั้งรัฐบาลก่อนนั้น แสดงท่าทีที่จะดึงพรรคกรีนและพรรคเอฟดีพีเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

โดยพรรคเอสพีดีและพรรคกรีนนั้นต่างมีแนวทางเห็นพ้องกันอย่างกว้างๆ ในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การขึ้นภาษีคนรวยและการจัดสรรงบประมาณด้านสังคม แต่พรรคกรีนนั้นสนับสนุนการดำเนินนโยบายที่เด็ดขาดกับรัสเซียมากกว่า

อีกความเป็นไปได้หนึ่งคือการจับขั้วกันของกลุ่มซีดียู/ซีเอสยู พรรคกรีน และพรรคเอฟดีพี หากนายลาสเชตยังดื้อแพ่งที่จะพยายามนำการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจับมือเป็นพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลของขั้วการเมืองนี้อาจไม่ได้ง่ายดาย เหตุผลหนึ่งนั้นพรรคกรีนและพรรคเอฟดีพียังมีแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ห่างกันสุดขั้ว

ขณะที่คริสเตียน ลินด์เนอร์ หัวหน้าพรรคเอฟดีพีเองก็เคยถอนตัวออกจากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมในขั้วการเมืองเดียวกันนี้มาแล้วในปี 2017

 

แต่มีกระแสข่าวล่าสุดที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าลาสเชตอาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝันของการขึ้นแท่นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อจากนางแมร์เคิลดังหวัง เพราะมีรายงานว่าเริ่มมีเสียงทักท้วงทั้งจากลูกพรรคและสมาชิกพรรคพันธมิตรซีเอสยู ที่เห็นควรให้เอสพีดีเป็นฝ่ายได้เจรจาจัดตั้งรัฐบาลก่อน แม้เอสพีดีจะไม่ได้มีคะแนนเสียงนำห่าง แต่ก็มีคะแนนเสียงนำกลุ่มซีดียู/ซีเอสยู

ขณะที่ก็มีเสียงบอกให้ลาสเชตยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่เป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ภาวะฝุ่นตลบทางการเมืองในเยอรมนีจะคลี่คลายลงเมื่อใด จะใช้เวลาเจรจาต่อรองนานเป็นเดือนถึงขั้นลากยาวไปถึงคริสต์มาสนี้ อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งนั่นจะยังทำให้อังเกลาต้องรักษาการอยู่ในตำแหน่งต่อไปและจะทำให้เธอทำลายสถิติการเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของเยอรมนีไปได้หลังจากที่เฮลมุต โคห์ล เคยทำไว้ ก็ต้องรอดู

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือผู้นำเยอรมนีคนใหม่ที่จะก้าวขึ้นมา จะยังคงส่งเสริมบทบาทของเยอรมนีในฐานะชาติยุโรปที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในเวทีโลกได้เหมือนในยุคของแมร์เคิลหรือไม่ ต้องติดตาม!