E-DUANG : ธรรมศาสตร์ กับ 45 ปี 6 ตุลา “ครูด้านกลับ” ทาง การเมือง

การตัดสินใจของฝ่ายบริหารแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อการจัดงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม กำลังเข้าสู่โหมดแห่งสถานการณ์ของ“ครูด้านกลับ”ในทางการเมือง

เป้าหมายของฝ่ายบริหารแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการสกัดและขัดขวางมิให้การจัดงานรำลึกดำเนินไปอย่างราบรื่น

นั่นก็คือ แทนที่จะให้จัดตามปกติกลับให้จัด”ออนไลน์”

ความหมายก็คือ แยกความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ออกจากความสัมพันธ์ในสถานที่จริง หากแต่ดำเนินไปในโลก”เสมือน”

เหตุผลที่อ้างขึ้นอย่างเปิดเผยก็คือ การจัดงานขัดต่อสถานการณ์ “โควิด” อาจก่อให้เกิดเป็น”คลัสเตอร์”นำไปสู่การแพร่ ระบาด

นั่นก็คือ การคล้อยตามแนวทางของ”รัฐบาล”อย่างเชื่องๆ

แยกขาดมหาวิทยาลัยออกจากสังคมการเมือง  แยกขาดมหา วิทยาลัยออกจากประวัติศาสตร์การต่อสู้อันแหลมคมและเข้มข้น

ทำให้อดีตเมื่อ 45 ปีก่อนจมหายไปอย่างว่างเปล่า

 

ไม่ว่าการตัดสินใจของฝ่ายบริหารแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะอยู่บนรากฐานในทางความคิดแบบไหน แต่สะท้อนให้เห็นไม่เพียงแต่ไม่เข้าใจต่อพลานุภาพแห่ง”6 ตุลา”

เมื่อมองผ่านการยืนหยัดของคณะกรรมการจัดงานอันประกอบ ส่วนขึ้นจากคนในรุ่น 6 ตุลาคม

ไม่ว่าจะมองผ่าน นายสุเทพ สุริยะมงคล ประธานโดมรวมใจ ไม่ว่าจะมองผ่าน นายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกอมธ.เมื่อปี 2520 ไม่ว่าจะมองผ่าน นายพลากร จิรโสภณ แห่งกลุ่มอ็อคเด็ม

คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่ผ่านการเคี่ยวกรำมาในสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมมาตั้งแต่ปี 2519 กระทั่งมาถึงปี 2564

หากแต่บทบาทของพวกเขายังส่งผ่านมาถึง ณ ปัจจุบัน

 

จึงแทนที่งานรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคมจะผ่านไปอย่างเงียบๆ ตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้บทบาทและความหมายของสถานการณ์ 6 ตุลา คมเมื่อ 45 ปีก่อนได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอย่างทรงพลัง

เด็กๆรุ่นใหม่กลับยิ่งรับรู้และซึมทราบต่อสภาพความเป็นจริง

รับรู้และสามารถอ่านออกแทงทะลุว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิด อุปสรรคในการรำลึกถึงบทเรียนจากสถานการณ์ 6 ตุลาคม

นำ”อดีต”มาประสานกับความจริงในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน