เครื่องเสียง : Polk Reserve R200 Large Bookshelf Speaker / พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท / [email protected]

 

Polk Reserve R200

Large Bookshelf Speaker

 

อีกสิ่งที่ Polk Audio ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ยุคต้นๆ ของการออกแบบและผลิตลำโพงออกมาสู่วงการ ก็คือตู้ลำโพง และการทำตู้ลำโพงของค่ายนี้ก็เป็นแบบ Hand-Made มาตั้งแต่แรก ภายใต้ความเชื่อและปรัชญาในการออกแบบที่ว่า ตู้ลำโพงควรมีความสวยงาม ประณีต อันเป็นสิ่งบ่งบอกความโดดเด่นของงานฝีมือ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเป็นตัวการในการเพิ่มอะไรเข้ามาในน้ำเสียงที่นำมาเล่นกลับด้วย

นั้นเอง ที่ตู้ลำโพงของค่ายนี้นอกจากจะถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันแล้ว ยังได้ผ่านการคิดคำนวณทางด้านวิศวกรรมในเชิงอะคูสติกมาอย่างละเอียด เพื่อให้คลื่นเสียงที่ถ่ายทอดออกมามีความนิ่ง เสถียร สะอาด ถูกต้อง โดยปลอดจากการเสริมและหักล้างคลื่นกันเองภายในตู้อย่างสิ้นเชิง

โครงสร้างตู้ลำโพงของ Reserve Series นอกจากจะแลดูมีความสวยงาม ทันสมัยแล้ว ภายในยังถูกออกแบบมาด้วยหลักคิดทางด้านวิศวกรรมอย่างถูกต้อง แม่นยำ ทั้งในแง่ของปริมาตรและเหลี่ยมมุม ตลอดจนความโค้งมนในบางส่วน

รวมทั้งการคาดดามภายในที่เป็นแบบค้ำยัน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ตู้มีความเสถียรสูงแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดคลื่นเสียงออกมาได้อย่างเที่ยงตรง ถูกต้อง ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ของเวทีเสียงได้อย่างสมจริง เปิดกว้าง และครอบคลุมพื้นที่ภายในห้องได้อย่างทั่วถึง

ด้วยองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมด ทำให้สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าลำโพงแต่ละรุ่นในอนุกรม The Reserve ล้วนเป็น Best-in-Class อย่างแท้จริง

 

ในขณะที่ Polk Audio เรียกขาน Legendary L200 ว่าเป็น Large Premium Bookshelf Speaker กับ Reserve R200 ได้บอกไว้เพียงว่าเป็นลำโพงวางหิ้งขนาดใหญ่ โดยตัดคำว่า Premium ทิ้งไป แต่ถึงจะไม่มีคำบอกที่ให้หมายรู้ว่าเป็นความเหนือชั้นขึ้นไปอีกระดับ โครงสร้างและภาพลักษณ์ของลำโพงรุ่นนี้ก็ให้รับรู้อยู่ในที ว่าได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยงานฝีมือที่ยอดเยี่ยม ชนิดที่แทบมิได้แตกต่างไปจากลำโพงในกลุ่ม Flagship แต่อย่างใด

กับภาพรวมของโครงสร้างตู้ที่แลเสมือนขึ้นรูปจากแท่งไม้ชิ้นเดียว ซึ่งนั้นน่าจะมาจากงานฝีมือปิดผิวตู้โดยรอบแบบ Veneer อันประณีต ทำให้ไร้ริ้วรอยการประกบของแผ่นไม้แต่ละด้านที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวตู้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งผนังตู้ทั้งสี่ด้านที่ประกอบเข้าด้วยกันได้ถูกลบเหลี่ยมมุม แล้วแทนที่ด้วยความโค้งมน ทำให้ทั้งแลดูและสัมผัสต้องได้ด้วยความรู้สึกที่เนียนตาและละมุนละไมมือยิ่งนัก

เป็นโครงสร้างตู้ที่มีความเพรียวแบบหน้าแคบ และลึกไปด้านหลัง ลักษณะเดียวกับ Legend L200 รวมทั้งมีมิติตู้ที่ใกล้เคียงกันยิ่งนัก โดยมีขนาด (กว้าง x สูง x ลึก) 7.5 x 14.1 x 13.9 นิ้ว กับน้ำหนักสุทธิ 8.7 กิโลกรัม/ตู้

 

ชุดตัวขับเสียงทั้งสองถูกติดตั้งแบบผนึกเข้ากับแผงหน้าตู้โดยตรง ซึ่งแตกต่างไปจาก Legend L200 ที่ไดรเวอร์ได้ถูกติดตั้งลงบนแผงเฉพาะซึ่งเป็นอีกแผ่นแยกต่างหาก ก่อนจะนำทั้งแผ่นมาผนึกเข้ากับแผงหน้าตู้ในขั้นตอนสุดท้าย

ความแคบของแผงหน้าตู้ที่บอกนั้นมีขนาดเท่ากับ Mid/Bass Driver พอดี ส่วนที่แผงหลังของตู้ตอนบนเป็นท่ออากาศแบบ X-Port ที่มีแกนทรงกลมลักษณะคล้าย Phase Plug ยื่นออกมา แกนที่ว่านี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ภายในแกนมีระบบการทำงานเพื่อขจัดเสียงรบกวนไม่พึงประสงค์ หรือ Noise ที่มีประสิทธิภาพสูง และช่วยเสริมให้คลื่นอากาศไหลผ่านออกมาด้วยความเร็วสูง

ชุดขั้วต่อสายลำโพงซึ่งติดตั้งอยู่ด้านล่างใต้ท่ออากาศนั้น เป็นแบบ Binding-Post 5-Way ขนาดมาตรฐาน แลดูมั่นคงแข็งแรง เป็นขั้วต่อที่มีคุณภาพสูงในการนำสัญญาณด้วยการเคลือบผิวแบบ Nickel-Plated มีให้เพียงชุดเดียวสำหรับต่อใช้งานแบบ Single Wired ตามปกติ

ที่มุมใต้ตู้ทั้งสี่ด้าน มีขารองยางแบบกันลื่นผนึกติดมาให้เรียบร้อย เพื่อช่วยให้วางบนแป้นรองขาตั้งได้อย่างมั่นคง

แผงหน้ากากปิดหน้าตู้ลำโพงเป็นแบบกรอบพลาสติกขึงทับด้วยผ้ายืดโปร่ง บาง ที่คลื่นเสียงสามารถผ่านออกมาได้แบบเปิดโปร่ง ยึดติดกับแผงหน้าตู้ด้วยหมุดแม่เหล็กหกจุดที่มีพลังดูดตรึงได้แน่นหนามาก

 

สําหรับคุณสมบัติทางด้านเทคนิคนั้น Polk Reserve R200 ได้รับการระบุเอาไว้ดังนี้

ทวีตเตอร์แบบ Pinnacle Ring Radiator ขนาด 1 นิ้ว วูฟเฟอร์ขนาด 6-1/2 นิ้ว แบบ Turbine Cone ให้การทำงานตอบสนองความถี่โดยรวม (Overall) 39Hz – 50kHz และให้การตอบสนองความถี่แบบจำกัด (-3dB Limit) ในช่วง 51Hz – 38kHz ออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 3,000Hz กำหนดให้ใช้กับแอมปลิไฟเออร์กำลังขับ 30-200W (4/ 6/ 8-Ohm) อิมพีแดนซ์ (Minimum) 3.8-Ohm วัดค่าความไว (Sensitivity) ได้ 86dB (2.83V/1m)

ลำโพงทั้งคู่ (ซ้าย/ขวา) บรรจุรวมมาในกล่องเดียวด้วยน้ำหนักรวมบรรจุภัณฑ์ (Shipping Weight) 19.7 กิโลกรัม ขณะที่ชิปปิง เวจท์ ของ Legend L200 มากกว่ายี่สิบกิโลกรัมเล็กน้อย

ออกจะต่างไปจากคราว Legend L200 มาถึงมือผมที่เหมือนให้มา ‘เปิดซิง’ เอาเอง แต่หนนี้มาด้วยสภาพที่เหมือนถูกนำออกจากกล่องมาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อดึงแผ่นโฟมกันกระแทกชิ้นแรกออก พบว่าเหมือนถูกแกะกล่องแต่ไม่เคยถูกดึงออกมาแต่อย่างใด

ทั้งเมื่อดึงตัวลำโพงออกมาแล้วก็เห็นได้ชัดว่าแต่ละตู้มีวัสดุสังเคราะห์ห่อหุ้มเอาไว้สองชั้นแบบเรียบร้อยดี ไม่มีลักษณะถูกแกะออกมาก่อนให้รู้สึกได้

จึงไม่แน่ใจว่าลำโพงคู่นี้จะผ่านการยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลาย และปลดปล่อยตัวเองในความหมายของ Burn-In มาแล้วหรือยัง

 

เลยเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ว่านั้นของลำโพงอนุกรมนี้ ก็ไม่พบว่าใน Owner’s Manual ที่รวมเกี่ยวกับลำโพงทุกรุ่นไว้ในเล่มเดียวนั้น จะได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้แต่อย่างใด ซึ่งนั่นก็เหมือนกับที่เคยพบเจอในคู่มือการใช้งานของ Legend Series มาแล้ว

ผมก็เลยเริ่มต้นด้วยวัตรปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกัน คือ หยิบเอาแผ่น XLO : Test & Burn-In CD มาเปิดสลับกับแผ่น Ayre Acoustics IBE Enhancement CD ซึ่งแผ่นหลังนั้นหากระบุให้ชัดๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นแผ่นเกี่ยวกับ System-Enhancing Burn-In and Test CD นั่นล่ะ

และก็เหมือนเดิมคือเปิดให้ลำโพงได้ทำงานแบบเรื่อยเปื่อย สลับกับเปิดแผ่นสำมัญประจำห้องฟังเพื่อสังเกตอาการควบคู่กันไปด้วย

กระทั่งเห็นว่าน่าจะได้ความ เพราะสุ้มเสียงฟังดูออกจะเข้าที่เข้าทางแล้ว เหลือบดูประดิทินนับจากวันที่ลำโพงมาถึงหน้าห้อง พบว่าได้เปิดให้ทำงานเพื่อการที่ว่านั้นไปได้ใกล้ๆ จะหนึ่งเดือนเต็มแล้ว ก็เลยเริ่มต้นฟังอย่างจริงจังในความหมายของการทำงานทันที โดยใช้แอมป์เครื่องเดียวกับตอนที่ใช้ลอง Legend L200 นั่นล่ะ

ด้วยเห็นว่าคุณสมบัติสำคัญบางประการที่เกี่ยวพันกันของแอมป์กับลำโพงที่ต้องทำงานร่วมกัน อาทิ ค่าความไว (Sensitivity) กับอิมพีแดนซ์ ของลำโพงทั้งคู่ (L200 & R200) ใกล้เคียงกัน โดยแอมป์ที่นำใช้นั้นมีกำลังขับ 150Wrms ทำงานแบบ Class-D

ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว, อุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ก็เหมือนคราวที่ใช้ลองฟังกับ Legend L200 นั่นแหละครับ เพียงแค่สลับลำโพงมาเป็น Reserve R200 เท่านั้นเอง