รัฐบาลทาลิบัน จะพาอัฟกานิสถานไปทางไหน?/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

 

รัฐบาลทาลิบัน

จะพาอัฟกานิสถานไปทางไหน?

 

ทาลิบันเริ่มต้นบริหารประเทศอย่างเป็นทางการหลังชักธงกลุ่มขึ้นเหนือทำเนียบประธานาธิบดี พร้อมกับรัฐบาลเฉพาะกาลโดยนายกรัฐมนตรีคือ โมฮัมหมัด ฮัสซาน อัคคุนด์ ส่วนรองนายกรัฐมนตรีคือ อับดุล การ์นี บาราดาร์ และอับดุล ซาลาม ฮานาฟี ส่วนประมุขรัฐก็คือผู้นำสูงสุดของกลุ่มทาลิบันอย่างฮิบาตุลลาห์ อัคคุนด์ซาดา

ถือว่าน่าสนใจที่กลุ่มติดอาวุธสุดโต่งได้กลายเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอีกครั้ง

ในตอนนี้รัฐบาลเฉพาะกาลของทาลิบันต้องเจอโจทย์ท้าทายใหญ่ นั่นคือกลไกบริหารที่ยังคงเป็นรูปแบบรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นลง เงินร่อยหรอจนต้องขอความช่วยเหลือ และสภาพเศรษฐกิจประเทศดิ่งเหวใกล้พัง

เพราะตลอด 20 ปี ก่อนที่จะกลับมาถูกยึดโดยทาลิบันอีกครั้ง อัฟกานิสถานรับความช่วยเหลือในลักษณะพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐและชาติพันธมิตร ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งการเงินและด้านมนุษยธรรม

แต่แล้วการช่วยเหลือได้สิ้นสุดลงหลังกองทัพทาลิบันเข้ายึดกรุงคาบูล ทำให้ทาลิบันต้องรีบสร้างใหม่ทั้งความชอบธรรมจากประชาคมระหว่างประเทศและเงินช่วยเหลือเพื่ออุ้มเศรษฐกิจอันเปราะบาง

 

ก่อนหน้านี้ Fitch Solutions บริษัทให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจประเมินว่า เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานในปีการเงิน 2021 นั้นอยู่ที่ 0.4% ถึง -9.7% และปีการเงิน 2022 จาก 0.9% ถึง -5.2% สะท้อนความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอย่างหนัก

เพราะต้องเข้าใจว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลอัฟกานิสถานนั้น 75% เป็นสัดส่วนที่ได้มาจากความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

เงินช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลทาลิบันเผชิญความยากลำบากในการหาแหล่งทุนในการบริหารประเทศ

ขณะเดียวกัน อันโตนิโอ กูแตร์เลส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนถึงภาวะวิกฤตทางมนุษยธรรมในอัฟกานิสถานที่จำเป็นต้องเข้าช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพราะทั้งเชื้อเพลิง อาหาร และเวชภัณฑ์ร่อยหรอหนัก และประชากรครึ่งหนึ่งอยู่อย่างยากจน

หลังการยึดกรุงคาบูลโดยทาลิบัน ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้ตัดเงินช่วยเหลือ

ขณะที่โลกกำลังตัดสินใจว่าจะรับรองทาลิบันเป็นรัฐบาลอันชอบธรรมหรือไม่

แต่ว่าไม่นาน ได้ปรากฏภาพที่ทาลิบันได้ฉายภาพซ้ำยุคการปกครองแบบสุดโต่งและป่าเถื่อน ทั้งการตัดสิทธิผู้หญิงและเด็กหญิงไม่ให้ทำงานหรือเรียนหนังสือ การลงโทษตามหลักกฎหมายชารีอะห์แบบทาลิบัน

และมีการปราบปรามการประท้วงเรียกร้องสิทธิของชาวอัฟกันด้วยความรุนแรง ที่เป็นข่าวมาตลอดในช่วงนี้

 

อันวิทา บาซู ผอ.ประเมินความเสี่ยงฝ่ายประเทศภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Fitch Solutions คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอัฟกานิสถานจะหดตัวเกือบ 10% ในปี 2021 และอีกกว่า 5% ในปี 2022 ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัญหาของอัฟกานิสถาน

นอกจากการตัดความช่วยเหลือ ธนาคารกลางสหรัฐยังได้แช่แข็งสินทรัพย์ของอัฟกานิสถานที่ฝากไว้ในสหรัฐ

การประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของทาลิบัน เป็นจังหวะโดยบังเอิญกับที่ยูเอ็นและกาตาร์ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบางส่วนให้กับอัฟกานิสถาน

โดยเป็นกาตาร์เองที่ช่วยเหลือกลุ่มทาลิบันทำการเปิดสนามบินนานาชาติในกรุงคาบูลอีกครั้ง ซึ่งถูกปิดหลังกองทัพสหรัฐถอนทัพออกจากประเทศไปแล้ว

นอกจากกาตาร์ ตุรกีก็เป็นอีกชาติที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการสนามบิน ซึ่งตุรกีเองก็มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกับสหรัฐ

สิ่งที่รัฐบาลทาลิบันต้องการอย่างมากคือการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศว่าเป็นรัฐบาลอันชอบธรรม (จากการใช้กำลังเข้ายึดครองประเทศ) ซึ่งในตอนนี้มีกาตาร์ ตุรกี และปากีสถานที่ก้าวเข้ามาถึงขั้นส่งคณะผู้แทนมายังอัฟกานิสถานเป็นชาติแรก

ส่วนชาติมหาอำนาจที่มีจุดยืนสนับสนุนทาลิบันตอนนี้คือรัสเซียและจีน โดยเฉพาะจีนที่จะออกตัวอย่างโจ่งแจ้งกับกลุ่มทาลิบัน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดจากภาพคู่ระหว่างบาราดาร์และหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนที่เทียนจินเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา

การที่จีนเข้ามาให้ความสนใจกับอัฟกานิสถานนั้นก็เพราะทรัพยากรที่มีอยู่ในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะแร่หายากที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้จีนกลายเป็นชาติยักษ์ใหญ่ที่จะเป็นแหล่งทุนต่างชาติโดยตรงให้กับอัฟกานิสถาน

ส่วนอิหร่านนั้น สถานทูตที่ตั้งอยู่ทั้งในเฮรัตและคาบูล ยังคงเปิดทำการแม้ยังต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทำให้ตอนนี้รัฐบาลทาลิบันมีประเทศที่รับรองความชอบธรรมคือ ตุรกี กาตาร์ อิหร่าน ปากีสถาน รัสเซีย และจีน ซึ่งทั้งหมดได้แสดงจุดยืนจะร่วมงานกับรัฐบาลทาลิบันหลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

 

อีกความท้าทายหนึ่งคือ การค้ายาเสพติด

เนื่องด้วยอัฟกานิสถานเป็นแหล่งเพาะปลูกฝิ่นซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมากลุ่มทาลิบันเป็นผู้คุมรายใหญ่ในการค้ายาเสพติดจากฝิ่น

และเอาผลกำไรจากค้ายาเสพติดมาใช้เป็นทุนในการสู้รบ

แม้รัฐบาลทาลิบันจะให้คำมั่นจะห้ามการผลิตและซื้อขายยาเสพติด แต่สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ปฏิเสธยากถึงผลประโยชน์จากการค้าฝิ่น

หรือทาลิบันอาจใช้เรื่องยุติปลูกฝิ่นเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อขอการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับประชาคมระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อัฟกานิสถานจะกลับมาเป็นศูนย์กลางของการก่อการร้ายระดับโลกและภาวะรัฐล้มเหลวยังคงมีสูง

แม้รัฐบาลทาลิบันจะออกมาให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้อัฟกานิสถานกลายเป็นสวรรค์ของกลุ่มก่อการร้าย แต่การปรากฏตัวของกลุ่มไอเอส-เค หรือกองกำลังรัฐอิสลามเขตคอราซาน และรายงานพบความเคลื่อนไหวบริเวณทางเหนือของอัฟกานิสถาน อย่างขบวนการอิสลามแห่งอุซเบกิสถานและกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามิกเตอร์กิสถานตะวันออกที่ถูกบางชาติมองเป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงหรือกลุ่มก่อการร้าย ก็ทำให้ตัดความเสี่ยงนี้ออกไปได้ยาก

แม้ไม่นานหลังการยึดครองอัฟกานิสถาน จะเห็นการยื่นมือช่วยเหลือรัฐบาลใหม่นี้มากมาย

แต่การช่วยเหลือก็ไม่ได้อยู่นานนัก ตราบที่อัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลทาลิบันยังคงเจอปัญหา ซึ่งบางส่วนเป็นปัญหาจากตัวกลุ่มทาลิบันเอง ที่เป็นนักรบที่สู้รบโดยอ้างหลักศาสนา แต่เมื่อถึงคราวต้องบริหารประเทศ ก็กลายเป็นคนละเรื่อง

คำสั่งต่างๆ หรือกลไกที่ตั้งอยู่บนหลักใช้กำลัง ถูกนำมาใช้กับประชาชนแม้จะอ้างถึงจุดมุ่งหมายทางศีลธรรม แต่ก็กลับส่งผลให้การพัฒนาประเทศต้องถดถอยลงด้วย

อนาคตสำหรับชาวอัฟกันกำลังริบหรี่ลงแล้ว