E-DUANG : สถานะ “ทะลุแก๊ซ” ที่ดินแดง กับ แนวทาง การปราบปราม

หากดูจาก”แถลง”ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การปราบปรามต่อ การเคลื่อนไหวของ”กลุ่มทะลุแก๊ซ”ในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงประสบความสำเร็จอย่างงดงามยิ่ง

นั่นก็เห็นได้จากปฏิบัติการจับกุม”ผู้ต้องหา”จำนวนมากเป็นลำดับ นั่นก็เห็นได้จากการถอยร่นของ”กลุ่มทะลุแก๊ซ”

ใครก็ตามที่เติบโตมาในยุค”สงครามเย็น”รับรู้การปะทะระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับกองกำลังของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย(ทปท.)ก็ย่อมเห็นกระบวนการที่ละม้ายเหมือนได้

และก็เริ่มมองเห็นความไม่สมมาตรระหว่างถ้อยแถลงกับความ เป็นจริงที่ว่าทหาร”คอมมิวนิสต์”ถอยร่นเลือดหยดตลอดสองรายทาง แต่เหตุใดพื้นที่ปฏิบัติการจึงขยายตัวเติบใหญ่ไม่ขาดสาย

จากที่เคยปะทะเพียงจุดเดียวที่นาบัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2508 กลับกลายเป็นขยายไปยังภาคเหนือ ภาคใต้ กึกก้องด้วยเสียงปืน

ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายแม้กระทั่งภายในนักปราบ

เป็นคำถามที่เห็นจุดอ่อนของ”การปราบปราม”และเกิดความคิดในแบบ”ต่อสู้”เข้าไปแทนที่”ปราบปราม”

 

แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งอันปะทุขึ้นในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงตั้งแต่เดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนกันยายน เป็นเรื่องของการทหารหรือว่าเป็นเรื่องของการเมือง

จุดเริ่มต้นมาจากปัญหา”การทหาร” หรือว่าเป็นปัญหา”การเมือง” นี่คือปมที่จะต้องขบคิดและพิจารณา

การขยายความรุนแรงในปฏิบัติการที่เริ่มจาก”หน่วยควบคุมฝูง ชน”กระทั่งกลายเป็นการดึงเอา”หน่วยอรินทราช”เข้ามาสามารถตอบคำถามได้เป็นอย่างดี

นั่นก็คือ แนวทางที่ยึดกุมยังเป็นแนวทาง”ปราบปราม” เป็นวิธี การในทาง”การทหาร”

ยังมิใช่แนวทาง”ต่อสู้”อันเป็นวิธีการในทาง”การเมือง”

 

ผลก็คือ ปฏิบัติการมิได้จำกัดแต่เพียงบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง หน้ากรมทหารราบที่ 1 หรือหน่วยดุริยงคทหารบก หากแต่ได้ ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นที่แยกนางเลิ้ง ไม่ว่าจะเป็นที่แยกอุรุพงษ์

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งเป้าว่าทุกอย่างจะจบสิ้นภายใน เดือนกันยายนก็ขยายกลายเป็นเดือนตุลาคมเสียงปืนก็ยังไม่ยุติ

จึงถึงเวลาที่จะต้องมีการศึกษา ทบทวนในเรื่อง”แนวทาง”กัน