Urban Vernacular : จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Urban Vernacular

: จิตวิญญาณใหม่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (จบ)

 

แม้หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจะชี้ให้เห็นว่า “จิตวิญญาณแห่งการท้าทายความคิดกระแสหลัก” ใน “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” เริ่มลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ

แต่ผมก็ยังมีความหวังอยู่บ้างกับงานวิจัยของนักศึกษารุ่นใหม่ที่อาจจะสนใจประเด็นนี้

ผมจึงลองสำรวจงานวิทยานิพนธ์ทางด้านนี้ในสถาบันการศึกษาของไทยย้อนไปสักราว 5 ปีที่ผ่านมาอย่างเร็วๆ ดู

ผลที่ได้ ก็ต้องยอมรับว่าน่าผิดหวัง เพราะแทบไม่มีงานวิจัยในประเด็นนี้เลย

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจ ทำให้ผมเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เน้นประเด็นการศึกษาเรื่องนี้โดยตรง

เป็นงานวิจัยที่ถือว่าเป็นงานชิ้นบุกเบิกทีเดียว (อย่างน้อยก็ในวงวิชาการไทย) ที่ก้าวข้ามพื้นที่ศึกษาจาก “พื้นถิ่นชนบท” มาสู่ “พื้นที่เมือง” ได้อย่างน่าสนใจ

งานชิ้นดังกล่าวคือ วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร ของคุณวศิน วิเศษศักดิ์ดี เรื่อง “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง กรณีศึกษา วัฒนธรรมย่อยคนคุ้ยขยะและรับซื้อของเก่า” ในปี พ.ศ.2561

ภาพลายเส้นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของกลุ่มคนคุ้ยขยะ จากวิทยานิพนธ์ของวศิน วิเศษศักดิ์ดี

งานชิ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวัฒนธรรมย่อยของคนคุ้ยขยะและรับซื้อของเก่าตามแหล่งชุมชน หมู่บ้านจัดสรร และกองขยะตามถนน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล สถานที่ทิ้งขยะของทางรัฐบาลหรือสถานที่ต่างๆ

คนกลุ่มนี้คือผู้ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระให้แก่เมือง ทำให้เมืองสะอาดและสวยงามอยู่ได้

อยากให้ลองจินตนาการดูว่า หากเมืองขาดคนกลุ่มนี้ไป สภาพของกรุงเทพฯ เมืองเทพสร้างที่เราชอบพูดโอ้อวดกันอยู่นั้นจะมีสภาพเป็นเช่นไร ลำพังเพียงแค่เจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียวจะสามารถจัดการกับปริมาณขยะมหาศาลในแต่ละวันได้จริงหรือ นี่คือสิ่งที่คนเมืองส่วนใหญ่ต่างมองข้าม

การศึกษาของคุณวศินชิ้นนี้จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นงานที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มคนคุ้ยขยะและรับซื้อของเก่าในพื้นที่เมือง

และยังนำเราไปรู้จักกับสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้พักอาศัยที่ก่อรูปขึ้นจากวัสดุที่หาได้ใกล้ตัวซึ่งแทบไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน

รวมถึงพาเราไปรู้จักพื้นที่ทำงานจัดแยกขยะผ่านการรังวัดสำรวจและเขียนแบบตามวิธีการศึกษาทางสถาปัตยกรรมออกมาอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย

ไปจนถึงการสัมภาษณ์กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพนี้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งทำให้คนอ่านเข้าใจวิถีชีวิตตลอดจนการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มของคนเหล่านี้ที่น่าสนใจ

ที่ควรกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ งานชิ้นนี้ไม่พยายามที่จะขุดค้นและรีดเค้นหา “ความงาม” ของสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นออกมาเพื่อสร้างสูตรสำเร็จในการนำไปประยุกต์ต่อยอดในการสร้างงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตามจริตของสถาปนิกกระแสหลัก ซึ่งแตกต่างจากงานหลายชิ้นที่ผ่านมาที่มักสนใจสิ่งปลูกสร้างชายขอบเหล่านี้เพียงเพราะอยากได้แรงบันดาลใจแปลกใหม่ในการออกแบบเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้จึงทำหน้าที่ยืนอยู่ข้างๆ คนคุ้ยขยะและรับซื้อของเก่าซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ไร้ตัวตนและไร้เสียงอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เมือง ผ่านงานศึกษาทางสถาปัตยกรรม

 

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้น โดยภาพรวมแล้ว งานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันการศึกษาไทยในปัจจุบัน นอกจากงานวิจัยชิ้นข้างต้นแล้ว ก็แทบจะไม่มีงานศึกษาที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมืองอีกเลย ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

เพราะในทัศนะผม หากแวดวง “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” ไม่เร่งความสนใจในประเด็นนี้อย่างจริงจัง องค์ความรู้ทางด้านนี้จะมีลักษณะไม่ต่างกันเลยกับงานศึกษากระแสหลักทางด้านสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมไทย และผังเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ความรู้ที่ตอบสนองรัฐและนายทุนเท่านั้น

สาขาสถาปัตยกรรมหลัก การสร้างองค์ความรู้ส่วนใหญ่คือการผลิตสรรพวิชาต่างๆ ที่ทำงานตอบสนองจิตวิญญาณของระบบทุนนิยม ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการผลิตบัณฑิตในสาขานี้ที่มุ่งเน้นการสร้างสถาปนิกที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรมเน้นเฉพาะที่ตอบสนองกับกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปทั้งสิ้น

ความสนใจในเชิงทฤษฎีการออกแบบ วัสดุ และเทคโนโลยีของสาขาวิชานี้แทบไม่มีที่ทางให้กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชนชั้นล่างที่มีรายได้น้อยเลย

 

ในขณะที่สาขาสถาปัตยกรรมไทย การสร้างองค์ความรู้กระแสหลักก็มุ่งเน้นความสนใจไปที่วัฒนธรรมของชนชั้นสูงเป็นสำคัญ งานช่างก็ต้องเป็นงานฝีมือระดับสูงที่ใช้ทักษะมาก ประดิดประดอย ซับซ้อน อลังการ โดยแทบไม่สนใจงานช่างระดับชาวบ้านเลย

และไม่ต้องพูดถึงงานช่างของคนจนเมืองเลยนะครับ ถูกมองข้ามโดยสมบูรณ์

ยิ่งไปกว่านั้น องค์ความรู้ทางด้านนี้ยังถูกยึดโยงเข้ากับรัฐอย่างแนบแน่น โดยมีบทบาทหลักคือการจรรโลงนิยามว่าด้วย “ความเป็นไทย” ที่คับแคบ ไร้ชีวิต และมีสถานะเป็นเพียงเครื่องมือควบคุมทางวัฒนธรรมของรัฐไทยมากกว่าจะส่งเสริมพลวัตทางวัฒนธรรมของคนธรรมดาสามัญ

ส่วนในสาขาผังเมืองและการออกแบบพื้นที่ระดับเมืองทั้งหลาย การสร้างองค์ความรู้กระแสหลักคือการออกแบบพื้นที่เมืองเพื่อประโยชน์ของรัฐ นายทุน และชนชั้นกลางระดับบนเพียงเท่านั้นเช่นกัน คนเล็กคนน้อย คนจนและคนยากไร้

สำหรับนักผังเมืองโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงกลุ่มคนที่ต้องถูกขับไสออกจากพื้นที่เมือง เพราะมิได้สร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ แถมยังมีแต่จะสร้างปัญหาให้กับเมืองอีกด้วย

ดังนั้น โดยส่วนตัวจึงมอง “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” ในลักษณะที่ชื่นชมมาโดยตลอดและมีความหวังอยู่เสมอกับการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนี้ที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เกี่ยวกับคนเล็กคนน้อยที่ไร้เสียง ซึ่งศาสตร์สาขาอื่นทางสถาปัตยกรรมไม่เคยสนใจ

 

อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจดีว่าธรรมชาติของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนั้น แต่ละคนย่อมมีประเด็นความสนใจที่ไม่เหมือนกัน มีความถนัดในหัวข้อหรือมีความสามารถในการลงภาคสนามในพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ตลอดจนมีความชอบในการมองสถาปัตยกรรมที่ต่างกัน

ดังนั้น การนำเสนอประเด็น “พื้นถิ่นเมือง” หรือ Urban Vernacular ในบทความนี้จึงมิใช่การเรียกร้องให้นักวิชาการที่ไม่ถนัดการศึกษาพื้นที่เมืองต้องหันมาทำงานในแนวนี้

เป้าหมายของบทความ เป็นเพียงข้อเสนอที่อยากให้เกิดการผลักดันในเชิงทางเลือกให้แก่นักวิชาการรุ่นใหม่ให้ลองเริ่มพิจารณา “พื้นถิ่นเมือง” เป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นในการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเท่านั้น

การเรียกร้องให้ “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษา” หันมาสนใจ “พื้นถิ่นเมือง” จะมีประโยชน์อะไร? เป็นอีกคำถามที่หลายคนอาจสงสัย

ซึ่งคำตอบก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าสาขาวิชาทางด้านนี้ควรแสดงบทบาทต่อสังคมอย่างไรบ้าง

 

ในกรณีของผม (ซึ่งยืนยันย้ำหลายครั้งในสามบทความที่ผ่านมา) เห็นว่า นอกจากบทบาททางความรู้และวิชาการที่สาขาวิชานี้ให้แก่สังคมมาโดยตลอดอยู่แล้วนั้น หากเรามองย้อนกลับไปที่งานด้านนี้ในรุ่นบุกเบิกเราจะพบ “จิตวิญญาณแห่งการท้าทายความคิดกระแสหลัก” ที่นำมาซึ่งการยืนเคียงข้างความคิดชายขอบหรือกลุ่มวัฒนธรรมที่ถูกกดทับทางสังคม ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มลดน้อยลงหรือแม้กระทั่งขาดหายไปจากงานศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในรุ่นหลัง อันเนื่องมาจากการที่ความคิดทางด้านนี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมไทยไปแล้ว

ผมจึงมีความเห็นว่า การรื้อฟื้นจิตวิญญาณดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ และแนวทางที่จะรื้อฟื้นได้ก็คือการขยายนิยามของสิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นออกไปให้ครอบคลุมสิ่งที่บทความนี้เรียกว่าสถาปัตยกรรม “พื้นถิ่นเมือง” ที่ปัจจุบันมีสถานะไม่ต่างจากสถาปัตยกรรม “พื้นถิ่นชนบท” เมื่อ 50 ปีก่อนที่ถูกมองว่าไร้ค่า

การเข้ามาศึกษาในพื้นที่ใหม่นี้จะเป็นการช่วยให้สังคมมองเห็นวิถีชีวิต ความคิด ค่านิยม ความฝัน แรงปรารถนา ตลอดจนการต่อสู้ของกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อให้สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมเมืองผ่านการสร้างหรือปรับแต่งพื้นที่และงานสถาปัตยกรรมต่างๆ

และยังเป็นการเข้ามาศึกษาเพื่อเผยให้เห็นสุนทรียภาพของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมืองในแบบที่ตัวของพวกเขาเป็น มิใช่ตามมาตรฐานแบบสถาปนิกหรือคนชั้นกลางทั่วไป

หรือในที่สุดแม้ว่าการศึกษาเหล่านี้จะไม่นำไปสู่การสร้างคุณค่าอะไรใหม่ให้เกิดขึ้น อย่างน้อยการศึกษาก็จะนำมาซึ่งความเข้าใจ “คนอื่น” ที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างจากเรามากขึ้น