ความตกลง ‘ออคุส’ เมื่อ ‘ฝรั่งเศส’ ถูกแทงข้างหลัง/บทความต่างประเทศ

Australia's Prime Minister Scott Morrison, center, appears on stage with video links to Britain's Prime Minister Boris Johnson, left, and U.S. President Joe Biden at a joint press conference at Parliament House in Canberra, Thursday, Sept. 16, 2021. The leaders are announcing a security alliance that will allow for greater sharing of defense capabilities — including helping equip Australia with nuclear-powered submarines. (Mick Tsikas/AAP Image via AP)

บทความต่างประเทศ

 

ความตกลง ‘ออคุส’

เมื่อ ‘ฝรั่งเศส’ ถูกแทงข้างหลัง

 

กําลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในกลุ่มประเทศชาติตะวันตก หลังจากที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ออกมาประกาศจับมือกันตั้งกลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงใหม่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เรียกว่า ความตกลง “ออคุส” (AUKUS)

เป้าหมายก็เพื่อการคานอำนาจอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้

โดยภายใต้ความตกลงนี้ จะทำให้ออสเตรเลียได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากสหรัฐอเมริกา

ทำให้ออสเตรเลียจะกลายเป็นชาติที่ 7 ในโลก ที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

 

หากแต่เรื่องดังกล่าว ดูจะสร้างความไม่พอใจให้กับ “ฝรั่งเศส” เป็นอย่างมาก

เป็นเพราะออสเตรเลียเพิ่งจะทำสัญญาว่าจ้างฝรั่งเศสในการพัฒนากองเรือดำน้ำ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

แต่เมื่อออสเตรเลียหันไปร่วมทำข้อตกลงออคุส ทำให้ออสเตรเลียประกาศยกเลิกสัญญาว่าจ้างดังกล่าวกับฝรั่งเศส แล้วหันไปสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เอง 8 ลำ โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแทน

เรื่องดังกล่าวทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างมาก ถึงกับประกาศเรียกตัวเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย กลับประเทศในทันที

โดยนายฌอง-อีฟส์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส แถลงว่า ข้อตกลงออคุสเป็นการ “แทงข้างหลัง” และการเรียกตัวทูตฝรั่งเศสจากทั้งสองประเทศกลับ ก็เป็นไปตามคำร้องขอของประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศส

และว่า ข้อตกลงดังกล่าว ประกอบขึ้นด้วยพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้ระหว่างพันธมิตรกับหุ้นส่วน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อมุมมองของฝรั่งเศสที่มีต่อพันธมิตรและหุ้นส่วน รวมถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สำหรับยุโรป

นายเลอ ดริยอง ยังได้กล่าวหาสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ว่า ตีสองหน้าและหลอกลวง เกี่ยวกับความตกลงออคุส ละเมิดความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นการกระทำที่ทำให้รู้สึกรังเกียจอย่างมาก

และว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับฝรั่งเศสมีปัญหาถึงขั้นเรียกเอกอัครราชทูตกลับประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตระหว่างสองประเทศ

พร้อมระบุว่า เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสจากทั้งสองประเทศถูกเรียกตัวกลับมา “เพื่อประเมินสถานการณ์ใหม่” แต่ตอนนี้ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกตัวเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศอังกฤษกลับ แม้ว่าอังกฤษจะเป็นประเทศที่คิดแต่จะ “ฉวยโอกาส” อยู่ร่ำไป

นั่นคือความรู้สึกของฝรั่งเศส ที่เหมือนกับถูกพันธมิตรแทงข้างหลังอย่างจัง!!

 

ฝ่ายออสเตรเลียก็ออกมาปกป้องการตัดสินใจของตนเองในการยกเลิกข้อตกลงกับฝรั่งเศส แล้วหันไปร่วมกับความตกลงออคุส โดยนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ยอมรับว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่นายกฯ ออสเตรเลียก็ยืนยันว่า ได้บอกกับประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศสไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนแล้วว่า ออสเตรเลียมีความกังวลเกี่ยวกับข้อตกลงกับฝรั่งเศสและอาจจะยกเลิกข้อตกลงสั่งซื้อเรือดำน้ำที่ทำไว้กับฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2016

มอร์ริสันบอกด้วยว่า เขาได้บอกกับมาครงแล้วว่า ออสเตรเลียเองมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมที่อาจจะมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่กับยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่

และว่า ออสเตรเลียจะต้องตัดสินใจโดยอิงกับผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

 

ในแง่ของฝรั่งเศสแล้ว คือการถูกหักหลังจากพันธมิตรที่ใกล้ชิด ในขณะที่ความตกลงออคุสยังสร้างความขุ่นเคืองให้กับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีเหนือ ที่มองว่า การที่จะทำให้ออสเตรเลียมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ อาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความสงบสุขของภูมิภาคได้

อย่างจีน ได้ออกมาระบุว่า ความตกลงดังกล่าว ถือเป็นบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียแถลงว่า อินโดนีเซียเองคำนึงถึงการตัดสินใจเรื่องเรือดำน้ำของออสเตรเลียด้วยความระวัง แต่อินโดนีเซียก็มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการแข่งขันด้านอาวุธอย่างต่อเนื่อง และการแสดงอำนาจอิทธิพลในภูมิภาคนี้ และขอเรียกร้องให้ออสเตรเลียยึดมั่นต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และเคารพซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศ

ด้านสำนักข่าวกลางเกาหลี (เคซีเอ็นเอ) ของเกาหลีเหนือ อ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือ ระบุว่า “นี่เป็นการกระทำที่ไม่พึงปรารถนาและเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะส่งผลต่อดุลอำนาจทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และจุดชนวนให้เกิดห่วงโซ่แห่งการแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นตามมา”

และว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐเป็นตัวการใหญ่ในการล้มระบบการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ

แต่ไม่ว่าจะมีเสียงสะท้อนออกมาอย่างไร ดูเหมือนความตกลงออคุสก็จะยังต้องเดินหน้าต่อไป เพียงจะหาทางสานต่อแผลใจระหว่างกันต่อไปอย่างไร ก็เท่านั้น

เครดิตภาพ AP