พันธมิตรใหม่ AUKUS/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

พันธมิตรใหม่ AUKUS

 

พันธมิตรใหม่ AUKUS ย่อมาจาก Australia United Kingdom United State of America ต้องขออภัยด้วยครับ ผมกำลังค้นคว้าอยู่ จึงไม่ทราบว่า พันธมิตรใหม่ชื่อย่อภาษาอังกฤษต่อท้ายด้วยอะไร แม้ค้นในสำนักข่าวชั้นนำในต่างประเทศทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ชัด หากท่านผู้รู้ท่านใดทราบ ขอความรู้ด้วยความยินดี

ดังนั้น บทความนี้จึงเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้น

 

ชาติตะวันตก

“…เห็นกันแล้วว่า มีการคุกคามไต้หวัน และเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ในฮ่องกง การเพิ่มกำลังทหาร เรือรบ เครื่องบินรบเข้าไปปฏิบัติการในทะเลจีนใต้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว…”

“…เราได้ร่วมกันยืนในสิ่งที่จะผูกพันต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง ในอินโด-แปซิฟิก ที่ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อ 70 ปีก่อนนำความมั่งคั่งให้ทุกประเทศ รวมทั้งความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนด้วย…”

 

จีน

“…เป็นความไม่รับผิดชอบอย่างยิ่ง จิตใจคับแคบมาก

เป็นการแสดงถึงการทำลายสันติภาพในภูมิภาคอย่างแน่นอน แล้วนำไปสู่การขยายการแข่งขันทางด้านอาวุธ …เป็นพวกมีความเชื่อสงครามเย็น (Cold War mindset) ซึ่งหลงยุคล้าสมัย และขอเตือนสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย กำลังทำความเจ็บช้ำให้กับผลประโยชน์ของตัวเอง”

“…ตอนนี้ออสเตรเลียได้เปลี่ยนตัวเองเป็นศัตรูของจีนไปแล้ว…”

 

ความสำคัญของพันธมิตรใหม่

เราไม่ควรเสียเวลากับความคิดเห็น ปฏิกิริยา จากทั้งฝ่ายชาติตะวันตกผู้สถาปนา พันธมิตรใหม่ นี้ขึ้นมา เช่นเดียวกัน เราไม่ควรสนใจกับแถลงการณ์การตอบโต้จากทางการจีนเรื่องนี้ด้วย นับเป็นโวหารที่ประดิษฐ์ขึ้นเพียงสร้างความชอบธรรมในตรรกและเหตุผลของแต่ละฝ่าย อันเป็นแค่บ่นเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ฉาบฉวย ซุกซ่อนมูลฐานแท้จริงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งขออนุญาตวิเคราะห์ในลำดับต่อไป

ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจก่อนว่า พันธมิตรใหม่ คืออะไร? ตามที่ชาติมหาอำนาจสถาปนามันขึ้นมา หลังจากนั้นจะทดลองวิเคราะห์แก่น เนื้อแท้ และความเป็นไปได้ในอนาคต ตามที่คนนอกอย่างผมเข้าใจ

พันธมิตรใหม่ จะไม่สำคัญได้อย่างไรในเมื่อผู้นำโลกคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลียได้ประชุมร่วมกันทาง virtual conference เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แล้วผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้แถลงถึงที่มาและความสำคัญของพันธมิตรใหม่โดยไม่อ้อมค้อมคือ เพื่อคานอำนาจกับจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

มีการหยิบยกความสำคัญของระบบพันธมิตรว่า นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ 3 ประเทศคือ ผู้เป็นพันธมิตรที่คิดเหมือนกัน โดยพันธมิตรจะปกป้องคุณค่าร่วม สนับสนุนความมั่นคงและความมั่งคั่งในอินโด-แปซิฟิก

โดยเน้นย้ำว่า นี่เป็นพันธมิตรทางทหารเป็นครั้งสำคัญที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้ ความเป็นพันธมิตรในนาม AUKUS ออสเตรเลียจะเป็นชาติลำดับที่ 7 ของโลกที่ใช้เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือสำคัญอีกหลายประการได้แก่ ความร่วมมือด้านสมรรถนะทางไซเบอร์ ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีใต้ผืนน้ำ ทั้ง 3 ประเทศจะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการทหาร

ในส่วนของออสเตรเลียเอง ออสเตรเลียจะได้รับจรวจชนิด cruise TOMAHAWK มาใช้

รวมทั้งออสเตรเลียอนุญาตให้กองกำลังทหารสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่ในดินแดนออสเตรเลีย

สหรัฐอเมริกาจะแชร์เทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้ทำให้กับชาติใดมาก่อนในรอบ 60 ปี

ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่าสหรัฐอเมริกาสนับสนุนเทคโนโลยีเรือดำน้ำเพียงสหราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1958

นั่นหมายความว่า ต่อนี้ไปออสเตรเลียจะสามารถสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่รวดเร็วและเข้มแข็งในการปกป้องกองเรือรบแบบทั่วๆ ไป เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์นี้อยู่ใต้ผิวน้ำได้นานหลายเดือน และยิงขีปนาวุธระยะไกลได้ไกลกว่าเดิมอีกด้วย

ส่วนสาเหตุที่ผลักดันพันธมิตรใหม่ของ 3 ชาติมหาอำนาจนี้ ชาติมหาอำนาจเหล่านี้มีการกล่าวหาและวิจารณ์จีนว่า จีนเพิ่มความตึงเครียดในพื้นที่ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ตลอดมา

อาจกล่าวได้ว่า ช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็ใช้จ่ายทางทหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ สหรัฐอเมริกาเพิ่มความสามารถทางการทหาร ได้ลงทุนอย่างมากให้กับพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคคือ ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี

ทั้งหมดนี้คือ โวหารและประดิษฐกรรม แท้จริงเป็นเช่นไร

 

ทำไม พันธมิตรใหม่จึงเกิดขึ้นตอนนี้?

ความขัดแย้งจีน-ออสเตรเลีย

ไวน์กับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์?

แน่นอน สหรัฐอเมริกาและจีนแข่งขัน ขัดแย้ง และต่างฝ่ายต่างประดิษฐ์ พันธมิตร ระเบียบระหว่างประเทศ ของตนเองทั้งสิ้น จนพันธมิตรและระเบียบระหว่างประเทศของตน ทับซ้อนจนสับสน

ส่วนสหราชอาณาจักรปะทะ ตอบโต้จีนในหลายประเด็น หลายวาระมาตลอด เพียงแต่ว่าเวลานี้และบ่อยขึ้นที่การแล่นเรือ (รบ) ธงนับเป็นการเผชิญหน้ากับจีนโดยตรงทั้งในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

ในเวลาเดียวกัน ความขัดแย้งและต่อกรทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน สหราชอาณาจักร-จีน นับว่าเกิดขึ้นควบคู่กันไป

เช่นกัน ในความเป็นจริง จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ในอดีตนั้นทั้งจีนและออสเตรเลียได้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นอย่างดี

แต่ในช่วงหลัง ทั้งสองประเทศเกิดการแตกหักระหว่างกัน

ออสเตรเลียกล่าวหาจีนว่า จีนเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของออสเตรเลีย

ออสเตรเลียกีดกันการลงทุนโดยตรงของจีน ห้ามบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ Hua Wei ที่ลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีโทรคมนาคมในออสเตรเลีย

ออสเตรเลียในช่วงหลังถึงกับตะโกนเรียกร้องให้ทางการสหรัฐอเมริกาตรวจสอบต้นกำเนิดของโคโรนาไวรัส หรือโควิด-19 อันเป็นข้อกล่าวหาบรรลือโลกซึ่งสร้างความเจ็บแค้นฝังลึกต่อจีนตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อออสเตรเลียทำจีนเจ็บกระดองใจ จีนก็ตอบโต้ไม่แพ้กัน จีนลงโทษด้านการค้าต่อออสเตรเลีย จีนระงับสินค้านำเข้าจากออสเตรเลียมากกว่า 12 ชนิด

จีนตบหน้าออสเตรเลียดังฉาดสนั่นเมือง ด้วยขึ้นภาษีนำเข้าไวน์ออสเตรเลียสูงเป็น 200%

ออสเตรเลียคาดหวังพันธมิตรใหม่จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจออสเตรเลียให้น้อยลง

นี่เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า สถาปนาพันธมิตรทางทหารครั้งสำคัญนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อลดทอนความรุนแรงจากสงครามการค้าประหลาด?

 

ออสเตรเลียกับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

ความไม่พอใจของรัฐบาลฝรั่งเศสที่เป็นเดือดเป็นแค้นที่ออสเตรเลียเข้าร่วมเป็นพันธมิตรใหม่กับสหรัฐอเมริกา แล้วออสเตรเลียก็ได้ยกเลิกสัญญาการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จากฝรั่งเศส 12 ลำมูลค่าถึง 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แน่นอน อาการโกรธของฝรั่งเศส หมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของฝรั่งเศส

แต่ข้อมูลแสดงให้เห็นอีกด้านหนึ่งคือ ออสเตรเลียวางแผนสร้างกองเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์อยู่ก่อนแล้ว

นั่นคือ ออสเตรเลียตกลงกับฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2016 แล้ว

 

ปุจฉา

แกนกลางของเรื่อง พันธมิตรใหม่ น่าจะเป็น ออสเตรเลีย ชาติที่ต้องการพันธมิตรทางทหารเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างตนกับจีน ออสเตรเลียคิดและเตรียมการไว้ก่อนแล้ว ยิ่งค้าขายกับจีน การไหลบ่าของการลงทุน เทคโนโลยี นักศึกษาจีนในออสเตรเลีย คนจีน แรงงานจีนย้ายถิ่น กำลังท้าทายอธิปไตย การเมืองภายใน โลกทัศน์ของคนออสซี่ จนต้องมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

ส่วนสหราชอาณาจักร ฝ่ายอนุรักษนิยมยังต้องต่อกรกับฝ่ายอิฐสีแดง ในรัฐสภาเรื่องงบฯ กลาโหมและคอมมิวนิสต์อยู่เลย

สหรัฐอเมริกา ได้พันธมิตรระบบใหม่ เงินทองไหลมาเทมา สบจ-สบายใจ นะโจ ไบเดน

จีน แทบจะไม่มี เขตไหน ดินแดน อำนาจแข็ง อำนาจอ่อน เรื่องเซ็งลี้ สาธารณสุข ที่ผู้คนไม่รัก/เกลียด กลัว ระแวงจีนในโลกนี้อีกแล้ว การแผ่ซ่านทุกอณู ระดับดีเอ็นเอ ประกอบสร้าง กระแสชังจีน อย่างชัดเจน

มีบางกระแสคิดบอกว่า โลก Over react ต่อ AUKUS เกินไป อาจจะจริง แต่เขาเปิดหน้าตัก ทิ้งไผ่ใบสุดท้ายกันแล้ว

พี่ไทยคิดอย่างไรครับ