อนาคตไทยกับโจทย์สุดหิน บนดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลจากนี้…สลัดอย่างไรให้หลุดพ้น/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

อนาคตไทยกับโจทย์สุดหิน

บนดักรายได้ปานกลาง

รัฐบาลจากนี้…สลัดอย่างไรให้หลุดพ้น

 

แม้ในปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่หายไปจากประเทศไทย

แต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมานี้ ทางสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือทีเอ็มเอ ได้เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2564 พบว่าไทยมีอันดับที่ดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2563 มาอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ

สะท้อนให้เห็นว่าขีดความสามารถของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับรัฐบาลที่ประเมินว่าเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนกับไทย กว่า 1.6 ล้านล้านบาท

ซึ่งเกือบทะลุเป้าหมาย ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตั้งไว้ในระยะ 5 ปี หรือระหว่างปี 2561-2565 อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

นอกจากเรื่องการลงทุนแล้วในส่วนของภาครัฐโดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ก็ได้เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ.2565-2570 ซึ่งเป็นแผนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

โดยเบื้องต้นได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ขึ้นมา 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย

1. ขับเคลื่อนการค้าและเทคโนโลยี คือ การผลักดันให้เกิดการสร้างการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงสุด

2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการค้าเข้มแข็ง คือ พัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า

3. ส่งเสริมการค้าสู่ตลาดโลก คือ สร้างโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า

4. ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ คือ การขยายตลาดและช่องทางการค้าภายในประเทศ

และ 5. พัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทุนมนุษย์ คือ การพัฒนากำลังแรงงงานเพื่อรองรับ

 

จากแนวทางดังกล่าวของภาครัฐ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าการปรับโครงสร้าง หรือการเพิ่มขีดความสามารถของไทย และในการพัฒนาพัฒนาแรงงานกลุ่มต่างๆ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องผลักดันและเป็นหนึ่งในแผนของประเทศที่ต้องผลักดันอยู่แล้ว

แต่แม้ไทยจะเริ่มปรับตัวแล้วแต่ก็ยังสลัดการเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยไม่ได้ รวมถึงเรื่องการเพิ่มมูลค่า เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตลาดใหม่ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังเป็นปัญหาหลักของไทย

ดังนั้น การปรับโครงสร้างและการพัฒนาจึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปกับการพัฒนาแรงงานคนให้มีทักษะที่สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต

ซึ่งแนวทางในการพัฒนาขอรัฐที่เริ่มหันมาเน้นเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้นถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้ไทยไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นล้วนแต่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง

ย้ำว่าไทยจะต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้ครบเครื่องในทุกด้านไปพร้อมกับการพัฒนาระดับประเทศเพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ต่อไป

 

ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ความเห็นว่า ก่อนจะไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์การค้าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบันควรแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมให้ชัดเจนก่อน

เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มแล้วจะพบว่ากลุ่มที่ได้เม็ดเงินทั้งจากการลงทุนในประเทศและการลงทุนของต่างประเทศ คือ ภาคการส่งออกเป็นหลัก

ส่วนเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ต้องยอมรับว่าเม็ดเงินนั้นไม่กระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ส่วนใหญ่เม็ดเงินจะไปอยู่ที่แผนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้สร้างเม็ดเงินต่อระบบเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร

ดังนั้น ในช่วงนี้ไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ได้ก่อนโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในประเทศ หรือการสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ต้องเติมบริการเข้าไปด้วยเพื่อต้องการที่จะให้รายได้กระจายไปสู่ภาคธุรกิจรายย่อยด้วย เพราะถ้าผลักดันภาคท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวกลุ่มที่จะเติบโตคงมีแต่ ธุรกิจแอร์ไลน์ และโรงแรม เพียงเท่านั้น

ยกตัวอย่างโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ได้รับเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ว่า เป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรม แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้เลย จึงอยากให้ดูเรื่องนี้เป็นบทเรียนเพื่อให้กระจายรายได้ไปในส่วนอื่นๆ ต่อไป

ไม่เช่นนั้นธุรกิจรายเล็กตายหมด

อดคล้องกับความเห็นของภาคท่องเที่ยวและบริการอย่างนายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ในส่วนของการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวและบริการ ไทยไม่ได้กลัวที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เลยเพราะในเรื่องของการบริการ และทรัพยากรต่างๆ ในประเทศไทย ตอบโจทย์หมดทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่แล้ว วัดได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือในปี 2562 มีจำนวนประมาณ 40 ล้านคน

นอกจากนั้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อมองภาพรวมแล้ว ผู้ประกอบการยังกังวลเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้ได้ โดยปัจจัยหลักเป็นเรื่องของการเร่งฉีดวัคซีนให้เยอะและเร็วที่สุด

ส่วนเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและบริการมีความพร้อมอยู่แล้ว เหลือแค่รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจเพื่อให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ซึ่งมองว่าก่อนที่ไทยจะไปแข่งขั้นกับประเทศอื่นๆ ต้องเร่งสร้างความแข็งแรงภายในประเทศให้ได้เสียก่อน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะเป็นการสร้างรากฐานให้กับภาคท่องเที่ยวและบริการในช่วง 1-2 ปีนี้ คือรัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศก่อน เพราะถ้าการท่องเที่ยวในประเทศเกิดขึ้นได้ นอกจากจะเป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนแล้ว เชื่อว่าถ้าการท่องเที่ยวไทยแข็งแรงจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กับเข้ามาเที่ยวไทยอีกครั้งได้อย่างแน่นอน

เห็นได้ว่าสิ่งที่ภาคเอกชนกังวลยังเป็นปัญหาฝังราก และยากที่จะสลัดออกได้ในเร็ววันนี้ คงต้องติดตามต่อไปว่า แนวทางและคัมภีร์เล่มใหม่ที่รัฐร่างขึ้นมานี้จะดันไทยให้หลุดจากปัญหากับดักรายได้ปานกลางได้หรือไม่ต่อไป