ในประเทศ : “ปู” ระทึก ตัดสินจำนำข้าว จับตา 4 คดีการเมือง เดือนสิงหาคม ร้อนฉ่า!

“ดิฉันอยากจะสะท้อนถึงความพยายามต่างๆ ในการกระทำที่เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อชี้นำคดี ก่อนที่จะมีผลตัดสินของศาลฎีกาฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว

แต่ในที่สุดรัฐบาลก็เลือกที่จะทำเพราะคิดว่าตนมีอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ รวมทั้งไม่รอคำสั่งศาลปกครองที่ดิฉันได้ขอให้ทุเลาการบังคับคดีไว้

แม้วันนี้ ดิฉันจะถูกอายัดบัญชีธนาคาร และกำลังจะถูกยึดทรัพย์สินทั้งหมด จนต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลา คงได้แต่บอกว่าดิฉันยังเข้มแข็ง และพร้อมยืนหยัดต่อสู้ในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด” ผ่านการแถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลอย่างหมดใจ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ค่ะ ซึ่งดิฉันก็จะทำอย่างดีที่สุด

ดิฉันขอเปลี่ยนกำลังใจจากแฟนเพจและพี่น้องประชาชน มาเป็นพลังให้ดิฉันได้มีความเข้มแข็งและอดทนค่ะ”

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรก หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิพากษา “คดีจำนำข้าว” วันที่ 25 สิงหาคม

วันเดียวกับนัดพิพากษาคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และพวก ตกเป็นจำเลยรวม 28 ราย

การนัดตัดสิน 2 คดีในวันเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงหลักฐานเสนอในคดีเชื่อมโยงกัน องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 2 สำนวน มีผู้พิพากษา 5 คน ที่ร่วมในองค์คณะพิจารณาทั้ง 2 สำนวน

 

เดือนสิงหาคม 2560 ได้รับการจับตาว่าเป็นเดือนแห่งความร้อนแรง ลุ้นระทึก

เนื่องจากมีคดีความทางการเมืองสำคัญ เข้าสู่ขั้นตอนการพิพากษาของศาลพร้อมกัน 4 คดี จำเลยแต่ละคดี หลายคนเป็นอดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรค

นอกจากคดีจำนำข้าวของ “ยิ่งลักษณ์” คดีจีทูจีของ “บุญทรง”

ยังมีอีก 2 คดี ได้แก่ คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551

มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4

ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งประทับรับฟ้องเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ไต่สวนพยานนัดแรกวันที่ 8 เมษายนปีเดียวกัน ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน 2560

หลังไต่สวนพยานนัดสุดท้าย นายสมชาย ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร และแถลงปิดคดีด้วยวาจา ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีวันที่ 2 สิงหาคม

คดีนี้ถึงจะไม่มีผลสะเทือนทางการเมืองในวงกว้างเหมือนคดีจำนำข้าว แต่ก็มีผลกับอนาคตพรรคเพื่อไทยโดยตรง

เนื่องจากนายสมชาย จำเลยสำคัญในคดี เป็น 1 ในตัวเต็งที่ได้รับการวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไป ตีคู่มากับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ผลคดีจึงเป็น 1 ในปัจจัยชี้ขาด

การมีชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ร่วมเป็นจำเลย ยังมีส่วนให้คดีมีความน่าสนใจว่า ผลคดีจะออกมารูปแบบใด

ผิดหมด รอดหมด หรือเฉพาะบางคน

 

ส่วนคดีเกี่ยวพันกับนักการเมืองคดีที่ 4 ในทำเนียบตัดสินของศาลเดือนสิงหาคม

กรณี ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนาม “สนามกอล์ฟอัลไพน์” จ.ปทุมธานี โดยมิชอบ

ล่าสุดศาลอาญา ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเสร็จสิ้น มีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 สิงหาคมนี้เช่นกัน

ผลคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ด้านหนึ่งจะสะท้อนให้เห็นวิบากกรรมต่อเนื่องของเหล่าบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ต้องเผชิญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ไม่ว่าในนามพรรคไทยรักไทยยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ในนามพรรคพลังประชาชนยุค “สมัคร สุนทรเวช”

อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 4 คดี ที่กระบวนการตัดสินชี้ชะตามาบรรจบกันในเดือนสิงหาคม 2560

คดีจำนำข้าวของ “ยิ่งลักษณ์” ได้รับการจับตามากที่สุด ว่าเป็นคดีที่มีผลสะเทือนสูงมากกว่าคดีใดๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในรอบ 10 ปีกว่าที่ผ่านมา

ในทางการเมือง เป็นที่รับรู้กันว่า “คดีจำนำข้าว” คือการวางเดิมพันครั้งใหญ่ของ คสช. ทั้งยังจะมีผลต่ออนาคตหากต้องการ “สานต่อ” อำนาจ รวมถึงอาจมีผลต่อการเลือกตั้งปลายปี 2561 อีกด้วย

หากเป้าหมายรัฐประหาร 2549 อยู่ที่ “ทักษิณ” ก็กล่าวได้ว่าเป้าหมายการทำรัฐประหาร 2557 อยู่ที่ “ยิ่งลักษณ์” โดยมีคดีจำนำข้าวเป็นเครื่องนำพาไปสู่จุดนั้น

จุดที่ว่าการรัฐประหาร 2557 ต้อง “ไม่เสียของ” ซ้ำรอยปี 2549 ที่ถูกเย้ยหยันว่ารัฐประหาร “หน่อมแน้ม” ไม่สามารถขุดรากถอนโคน “ทักษิณ” ได้ดั่งใจ

บารมี “ทักษิณ” ยังเหลือล้นเผื่อแผ่มาถึง “ยิ่งลักษณ์” ผู้เป็นน้องสาว ที่เปลี่ยนสถานะจากหญิงสาวนักธุรกิจธรรมดา ผงาดขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรก ภายในระยะเวลาแค่ 49 วัน

 

แน่นอนว่าการตัดสินวันที่ 25 สิงหาคม

ย่อมนำความระทึกขวัญมาสู่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกเดียวกัน จะไม่เกิดขึ้นกับรัฐบาล คสช.

โดยเฉพาะในเรื่องของ “มวลชน” สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ปรากฏทั้งในส่วนของฐานคะแนนการเลือกตั้งกว่า 10 ล้านเสียง และในส่วนแฟนเพจเฟซบุ๊กกว่า 6 ล้านไลก์

ส่วนหนึ่งมีกระแสข่าวพร้อมเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันพิพากษาคดี 25 สิงหาคม รวมทั้งการแถลงปิดคดีก่อนหน้าวันที่ 1 สิงหาคม หรือที่เรียกว่า “วันซ้อมใหญ่”

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินในช่วงเวลา 20 กว่าวันก่อนถึงวันตัดสินของศาล น่าจะเป็นช่วงของการ “คุมเชิง” กันระหว่างมวลชนผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย กับฝ่ายทหาร-ตำรวจและฝ่ายปกครอง

ผู้นำ คสช. ส่งสัญญาณทั้งขู่ ทั้งปลอบ ไม่ต้องการให้มวลชนรวมตัวเคลื่อนไหวในช่วงระหว่างรอคำตัดสินของศาล

เพราะอาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ผิดกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ รวมถึงขัดคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฯลฯ

“ผมเป็นห่วงประชาชนที่ไปร่วมในวันพิจารณาคดี ต้องระวังด้วย ถ้าไปร่วมแล้วเดือดร้อนขึ้นมา ผมก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะมันผิดกฎหมาย รัฐบาลคงไม่ไปสกัดประชาชนที่จะเข้ามา แต่คิดว่าทุกคนต้องสกัดใจตัวเองมากกว่า ว่าเราจะไปทำไม จะได้ประโยชน์อะไรตรงไหน ไม่ว่าจะไปมากหรือน้อย หรือจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ตาม มันไม่มีผลต่อการตัดสินคดี” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าว

ขณะที่อีกทางหนึ่งก็พยายามเบรกกระแสความร้อนแรง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้ตรงกันว่า หลังอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีจำนำข้าววันที่ 25 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญใหม่

หรือหากถูกตัดสินให้จำคุก ก็ยังมีสิทธิ์ยื่นขอประกันตัวได้ทันที โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

แต่สิ่งที่เหมือน “จุดชนวน” ยกระดับความตึงเครียดขึ้นมาอีก คือการที่กระทรวงการคลังและกรมบังคับคดี เริ่มขยับเดินหน้ากระบวนการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อชดใช้ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ตามคำสั่งทางปกครอง ที่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล คสช.

ตรงนี้เอง ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ เป็นการสะท้อนความพยายามในการกระทำที่เสมือนสร้างเป็นเงื่อนไขเพื่อ “ชี้นำคดี” ก่อนที่จะมีผลตัดสินของศาลฎีกาฯ

เป็นการ “ชี้นำ” เพื่อชนะเดิมพันการทำรัฐประหาร 2557 หรือไม่ อย่างไร

ติดตามกันด้วยใจระทึกทั้งสองฝ่าย