การศึกษา : เจาะเส้นทางขึ้น ‘บิ๊ก ศธ.’ จับตา ‘ตรีนุช’ จัดทัพแก้วิกฤต!!

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)

 

 

เจาะเส้นทางขึ้น ‘บิ๊ก ศธ.’

จับตา ‘ตรีนุช’ จัดทัพแก้วิกฤต!!

 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจับตามองว่า “ครูเหน่ง” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะจัดทัพ “ผู้บริหารระดับสูง” ออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายของ ศธ.ในปีนี้ มีตำแหน่งผู้บริหารระดับ (ซี) 11 ว่างเพียง 1 เก้าอี้ คือ “เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)” ซึ่งนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ สกศ.จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้

หลายฝ่ายคาดเดาว่า ‘ครูเหน่ง’ จะจัดทัพโดยหมุนเก้าอี้ซี 11 หรือไม่ โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)

เพราะมีข่าวแว่วมาตลอด ว่ามีข้าราชการระดับสูงรายหนึ่งใน ศธ.กลายเป็นเงาตามตัว “ครูเหน่ง” เพราะหวังจะขึ้นนั่งตำแหน่งสำคัญ

โดยเฉพาะนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ที่มีกระแสข่าวลือมาแรงแซงทุกโค้ง ว่าอาจรักษาเก้าอี้เอาไว้ “ไม่ได้” เพราะมีผู้พยายามวิ่งเต้น โดยลือถึงขนาดว่ามี “นายทุน” ซึ่งเป็นพ่อค้าขายครุภัณฑ์อาชีวะ “ลงขัน” มากถึง 50 ล้านบาท

เพื่อขยับนายสุเทพพ้นออกจากตำแหน่ง และให้บางคนได้เป็นเลขาธิการ กอศ.แทน

ร้อนถึง น.ส.ตรีนุชต้องออกมาปฏิเสธทันควัน ว่าน่าจะเป็นเพียงกระแสข่าวลือเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้มุ่งเน้นการทำงานที่ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้

ดังนั้น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย จะต้องไม่มีเรื่องการใช้จ่ายเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด!!

 

ฝั่งนายสุเทพที่ดูเหมือนไม่หนักใจกับกระแสข่าวนี้ โดยประกาศเสียงดังฟังชัดว่าพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และปฏิบัติงานตามที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.มอบหมายอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันก็ “เผื่อใจ” ว่าถ้างานนี้ “ไม่รอด” โดยได้ “เก็บของ” เผื่อคำสั่งโยกย้ายออกมา จะได้ไปเริ่ม “งานใหม่” ได้ทันที

แต่เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ.เรียกได้ว่า “พลิกโผ” หลายสำนัก เพราะเก้าอี้เลขาธิการ กอศ.ของนายสุเทพยังเหนียวแน่น

โดย ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 8 ราย ตามที่ ศธ.เสนอ ได้แก่ นายอรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการ กอศ. เป็นเลขาธิการ สกศ., นายวัลลพ สงวนนาม ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นรองเลขาธิการ กพฐ., นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นผู้ตรวจราชการ ศธ.

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นรองเลขาธิการ กพฐ., นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเลขาธิการ กศน., นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษาของ สกศ. เป็นรองเลขาธิการ สกศ.

ร.ท.สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา ช่างอุตสาหกรรม เป็นรองเลขาธิการ กอศ. และนายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการ สกศ. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)

 

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้ “เหตุผล” ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ ว่าการแต่งตั้ง “นายอรรถพล สังขวาสี” เป็นเลขาธิการ สกศ.เพราะ สกศ.มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องเร่งขับเคลื่อน เช่น จัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการจัดทำแผนการศึกษาชาติที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

ซึ่งแผนเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอาชีวศึกษา และให้ความสำคัญกับต่อพัฒนากำลังคนด้านอาชีวะ รวมถึงการรีสกิล อัพสกิล จึงเชื่อว่านายอรรถพลที่มีประสบการณ์ทำงานในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นเวลานาน เป็นผู้ที่มีความรู้และเหมาะสมในการช่วยขับเคลื่อนงานของ สกศ.ได้

อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า ที่นายอรรถพลขึ้นแท่นเลขาธิการ สกศ.เป็นการ “แต่งตัว” เพื่อรอขยับขึ้นเลขาธิการ กอศ.เพราะเป็น “ลูกหม้อ” อาชีวะมานาน และเคยเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหลายแห่ง ก่อนมาเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ.และรองเลขาธิการ กอศ.ตามลำดับ

เนื่องจาก สอศ.มีปมปัญหาตำใจ “คนใน” มานานเกือบ 10 ปี เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา มักจะได้ “คนนอก” โดยเฉพาะคนจาก สพฐ.ข้ามห้วยมานั่งคุมอาชีวะ โดยแทบไม่มีคนในอาชีวะจริงๆ ได้ขึ้นเลขาธิการ กอศ.เลย

แม้ขณะนี้นายสุเทพจะยังรักษาเก้าอี้เลขาธิการ กอศ.เอาไว้ได้ แต่ต้องจับตาดูในอนาคตอันใกล้ ว่าจะรักษาตำแหน่งเอาไว้ได้หรือไม่!!

 

ที่ถูกพูดถึงมากอีกรายคือ “นายวรัท พฤกษาทวีกุล” ที่ถูกโยกไปเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ.ก็เหมือนโดนเด้ง “เข้ากรุ” เพราะการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ กศน.อาจ “ไม่เข้าตา” น.ส.ตรีนุช ถึงขั้นที่นายวรัทได้รับโทรศัพท์เตือนจากผู้หวังดีล่วงหน้า 3 สัปดาห์ ว่าอาจ “หลุด” จากตำแหน่งเลขาธิการ กศน.

ประเด็นนี้ น.ส.ตรีนุชตอบชัดเจนว่าไม่ใช่การย้ายเข้ากรุ เพราะทุกตำแหน่งสำคัญ และการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ นั้น เน้นการจัดคนให้ทำงานอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ได้หารือกับนายวรัทว่าต้องการให้เข้ามาช่วยติดตามนโยบายจากส่วนกลาง เพราะบางครั้งที่ส่วนกลางกำหนดนโยบายลงไป แต่หน่วยปฏิบัติอาจเข้าใจนโยบายไม่มากพอ จึงต้องการให้นายวรัทช่วยกำกับติดตาม เพื่อให้นโยบายจากส่วนกลางลงสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

ขณะที่ “นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร” ที่ขยับนั่งเลขาธิการ กศน. เป็นลูกหม้อ สพฐ.มาก่อน เคยเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ก่อนจะมาเป็นที่ปรึกษาฯ สพฐ. โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่าอาจขึ้นรองเลขาธิการ กพฐ. แต่ท้ายสุดเจอปัญหาบางอย่าง เลยได้คุม กศน.แทน ซึ่งอาจเป็นการแต่งตัวรอกลับบ้านในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็เป็นได้

แต่ที่ไม่พลิกโผ คือตำแหน่งรองเลขาธิการ กพฐ.ทั้ง 2 ราย คือ นายวัลลพ สงวนนาม และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช ซึ่งเป็นลูกหม้อ สพฐ.ตั้งแต่ต้น

โดยเฉพาะนางเกศทิพย์ที่ไต่เต้าจากครูน้อย ก่อนจะก้าวกระโดดมาเป็นผู้ช่วยปลัด ศธ.และผู้ตรวจราชการ ศธ. ก่อนคว้าเก้าอี้รองเลขาธิการ กพฐ.ในขณะที่อายุไม่ถึง 50 ปี…

ต้องดูกันต่อไปว่า นางเกศทิพย์จะได้ขยับขึ้นตำแหน่งเลขาธิการ กพฐ.ที่อายุน้อยที่สุดได้หรือไม่!!

 

ส่วนนายพีรศักดิ์ รัตนะ ลูกหม้อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ถูกโยกกลับมารับตำแหน่งเลขาธิการ กช.แทนนายอรรถพล ตรึกตรอง ที่เกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้

โดย น.ส.ตรีนุชระบุว่า นายพีรศักดิ์จะสานต่องานได้ทันที เพราะได้กลับมาทำงานที่คุ้นเคย

ซึ่งปัญหาหนักที่รอเลขาธิการ กช.คนใหม่แก้ไข คือความ “คาดหวัง” ของ “โรงเรียนเอกชน” ว่าจะช่วยเรื่องสภาพคล่องที่โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 จนต้องเลิกจ้างครูกว่า 20,000 คน

และจ่อปิดตัวเกือบ 1,000 แห่ง!!

 

การแต่งตั้งโยกย้ายใน ศธ.ครั้งนี้ เรียกว่า “ครูเหน่ง” ยังไม่ถึงขั้น “เปลี่ยนม้ากลางศึก” ทำให้นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. และนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการ กอศ. ยังคงรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ แม้จะถูกเขย่าขาเก้าอี้มาตลอด

เพราะหากสลับตำแหน่งซี 11 ก็อาจส่งผลกระทบกับการทำงาน โดยทุกองค์กรหลักต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ในขณะที่ ศธ.กำลังเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ทั้งผลกระทบจากโรคโควิด-19 การเรียนออนไลน์ที่ยังไร้ประสิทธิภาพ ม็อบนักเรียน ฯลฯ ล้วนส่งผบกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น

จากนี้ไป คงต้องจับตาดูว่าการ “จัดทัพ” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ครั้งนี้ จะตอบโจทย์ และรับมือกับวิกฤตการศึกษา ได้หรือไม่!!