เครื่องเสียง : ARCAM SA30 Intelligent Integrated Amp. (จบ) / พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท / [email protected]

 

 

ARCAM SA30

Intelligent Integrated Amp. (จบ)

 

เที่ยวก่อนจบลงตรงพูดถึงอัลบั้ม I’ve Got the Music in Me ที่ Thelma Houston ฟีเจอริ่งกับวง Pressure Cooker แล้ว ก็อยากเล่าบางเรื่องราวให้ฟังครับ เพราะฟังอัลบั้มนี้ทีไร, เป็นอดไม่ได้ต้องหวนชวนให้นึกถึงงาน Bangkok Hi-Fi Show ปีแรกทุกที

เป็นงานที่ผมมีส่วนร่วมกับพวกพ้องในนามนิตยสาร HI-FI STEREO ได้จัดขึ้นบริเวณชั้น 2 ของโรงแรมอิมพีเรียล ถนนวิทยุ เมื่อปี พ.ศ.2524 ครับ

ซึ่งเป็นงานโชว์เครื่องเสียงครั้งแรกของเมืองไทยที่จัดแบบเอาอย่างเมืองนอก โดยใช้ห้องพักและห้องจัดเลี้ยงเป็นห้องโชว์เสียง ซึ่งเป็นแบบอย่างให้อีกหลายๆ งานจัดตามมาจนทุกวันนี้

ด้วยงานหนแรกที่ว่านั้น, จำได้ว่าแทบไม่มีห้องไหนเลยที่จะไม่นำอัลบั้มชุดนี้มาเปิดโชว์ซิสเต็มของตน

และดูเหมือนจะมีแค่ห้องเดียวเท่านั้นเองที่ไม่ได้เปิดโชว์เสียงกับใครเขา

เพราะเป็นห้องที่เน้นโชว์แบบเอาเครื่องมาวางให้ชมกันแบบเดี่ยวๆ พร้อมมีป้ายบอกรายละเอียด อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Static Show นั่นแหละครับ แต่, แต่ละเครื่องที่ว่านำมาโชว์เดี่ยวแบบแยกชิ้นซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาประเภท รวมทั้งลำโพงด้วยนั้น ล้วนระดับคว้ารางวัล-น่าจะเป็น Hi-Fi Grand Prix–ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นค่ายเดียวหรือแบรนด์เดียวเท่านั้นเองที่ทำได้ในเวลานั้น

ห้องเดียวที่ว่าซึ่งโชว์อยู่ในห้องที่เป็น Function Room คือแบรนด์ Technics ที่นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเราโดย บจก.ซิวเนชั่นแนล โดยมีคุณนคร (ขออภัย, จำนามสกุลไม่ได้จริงๆ ครับ เพราะนานมากถึง 40 ปีแล้ว) เป็นหัวเรือใหญ่ทางด้านการตลาดของเครื่องเสียงแบรนด์นี้ มีวิสัยทัศน์ที่น่าชื่นชมมาก เพราะหลายๆ เครื่องที่นำมาโชว์นั้น ไม่มีแผนที่จะนำเข้ามาทำตลาดในบ้านเราแต่อย่างใด แต่ได้ทำเรื่องขอไปยังบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเพื่อนำมาตั้งแสดงให้คนเล่นเครื่องเสียงบ้านเราได้ชมกันเป็นการเฉพาะ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำให้รู้อยู่ในทีว่าแบรนด์นี้ก็เป็น ‘เต้ย’ ไม่น้อยหน้าใครอีกด้วย

กลับมาว่ากันถึง ARCAM SA30 ต่อครับ

 

จากหลากหลายอัลบั้มที่ได้ฟัง แอมป์เครื่องนี้ถ่ายทอดเสียงดนตรีหลายหลากรูปแบบออกมาได้ด้วยอรรถรสที่บ่งบอกให้รู้ ว่าเป็นเครื่องที่ ‘เข้าถึง’ ดนตรีอย่างแท้จริง

เพราะสามารถสื่อทุกเส้นเสียงของตัวโน้ตที่โลดแล่นไปตามท่วงทำนองที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาได้อย่างที่ควร ชนิดที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นแอมป์ที่ไม่เกี่ยงแนวดนตรีแต่อย่างใด

เพราะแต่ละอัลบั้มทั้งที่ได้บอกไป และที่ไม่ได้พูดถึงซึ่งได้นำมาเปิดลองฟังนั้น ล้วนถูกแอมป์เครื่องนี้แยกแยะทุกรายละเอียดออกมาได้อย่างหมดจด ชัดเจน

ทั้งยังมีความเป็นดนตรีในความหมายของ Musicality ตามแต่ละรูปแบบของดนตรีนั้นๆ อย่างน่าฟัง

อัลบั้มหนึ่งที่ยืนยันคำกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดีก็คือ Phantazia อัลบั้มดนตรีแจ๊ซที่มีกลิ่นอายแบบ Jazz-Funk ที่มีเครื่องสายอย่างไวโอลินจากการบรรเลงของ Noel Pointer เป็นเครื่องนำ โดยเฉพาะกับแทร็ก Fiddler on the Roof ที่โนเอลต้องประชันฝีไม้ลายมือทางด้านไวโอลินกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่มีทั้งอิเล็กทริกและอะคูสติก รวมทั้งไวโอลินที่ตัวใช้บรรเลงก็มีทั้งไวโอลินไฟฟ้าและไวโอลินอะคูสติกด้วยนั้น แอมป์เครื่องนี้ได้ถ่ายทอดแต่ละเส้นเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชิ้นดนตรีออกมาได้สมจริงมาก

ทั้งยังให้บรรยากาศเสียง-โดยเฉพาะในช่วงที่ไวโอลินกำลังเดินเรื่องนั้น–ออกมาเสมือนว่าแทบจะเห็นโนเอลยืนสีไวโอลินอยู่บนหลังคาเลยทีเดียว

ต้องบอกว่าเยี่ยมมากจริงๆ ทั้งในแง่ความเป็นดนตรี ความลื่นไหลที่ต่อเนื่องของเสียง ความชัดเจนในความพลิ้วไหวของท่วงทำนองดนตรีซึ่งสื่อออกมาได้อย่างสมจริง ตลอดจนบรรยากาศเสียงโดยรวมที่อบอวลไปด้วยความเป็นดนตรีอย่างน่าฟัง ทั้งยังอุดมไปด้วยรายละเอียดที่มีความเปิดโปร่งมาก

ARCAM SA30 ถ่ายทอดเสียงออกมาด้วยความรวดเร็ว กระชับ เปี่ยมไปด้วยไดนามิก ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งกับงานดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีไม่มากชิ้นแบบวง Trio หรือ Quartet ขณะเดียวกันกับดนตรีวงใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Big Band หรือ Orchestra ก็สามารถนำเสนอออกมาได้อย่างโออ่า และยิ่งใหญ่ ให้เวทีเสียงที่มีความสมจริงสูงทั้งด้านกว้าง และด้านลึก รวมทั้งยังให้ไดนามิก เรนจ์ ที่กว้างอย่างน่าทึ่งอีกด้วย

ที่สำคัญคือเป็นน้ำเสียงที่มีความเป็นดนตรีสูงมาก

 

ผมเพลินไปกับการฟังแผ่นไวนีลจนแทบลืมไปเลย ว่า-นี้, มันคือแอมป์ที่ผนวกเทคโนโลยีอันทันสมัย ที่เอื้อให้การเข้าถึงเสียงเพลง เสียงดนตรี ของผู้ใช้งานเป็นไปอย่างสะดวกดาย เรียบง่าย และรวดเร็ว เข้าไว้ในตัวแบบร่วมสมัยอย่างที่เรียกกันว่า Streaming ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนี้อยู่ในทีด้วย

นั้นเอง, ที่ช่วงท้ายๆ ของการได้อยู่กับแอมป์เครื่องนี้จึงเป็นการลองเล่นด้วยการสตรีมเพลงเป็นหลัก

ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเอาเครื่องเข้ามาอยู่ในเครือข่ายไร้สายที่ใช้งานอยู่ จากนั้นก็ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Arcam Control เข้ามาไว้ในอุปกรณ์ควบคุมการใช้งาน ในที่นี้ผมเอามาเก็บไว้ในสมาร์ตโฟน จากนั้นก็เข้าสู่การใช้งานตามขั้นตอนที่มีบอกไว้ ซึ่งเป็นแบบฟอร์มพื้นฐาน ใช้งานง่ายแบบแตะสัมผัส สักครู่ชื่อของเครื่อง SA30 ก็ปรากฏขึ้นมาพร้อมๆ กับ IP Address ที่เครื่องถูกนำไปใช้งาน ก็แตะบอกให้รู้ว่าเราจะทำงานร่วมกันล่ะนะ

คือใช้สมาร์ตโฟนในการควบคุม สั่งการ และเลือกตั้งค่าต่างๆ ของแอมป์เครื่องนี้นั่นเอง

การตั้งค่าที่น่าสนใจคือมีฟังก์ชั่นให้เลือก DAC Filter ได้ อาทิ Brick Wall, Apodizing รวมทั้งให้ตั้งค่าของ Phase แบบต่างๆ อีกสามสี่ลักษณะ ซึ่งแต่ละแบบที่ให้มานั้นล้วนให้ผลต่อการใช้งานจริง แม้จะฟังได้ว่ามีความแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ก็เป็นความแตกต่างที่ละเอียดอ่อนและมีผลต่อคนฟัง ที่ล้วนมีความชอบในลักษณะเสียงที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี

ชอบใจเสียงกับค่าไหน ก็ให้เลือกตั้งเป็นค่าเริ่มต้น หรือ Default ได้เลย

 

ARCAM SA30 เป็นตัวอย่างของเครื่องที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ของการผสมผสานความโดดแด่นของเทคโนโลยีอะนาล็อกและดิจิตอลเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ทั้งผ่านทางการทำงานร่วมกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง และสามารถทำหน้าที่เป็นสตรีมเมอร์ที่ให้ใช้งานได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะผ่าน AirPlay, Chromecast ตลอดจนอุปกรณ์ UPnP : Universal Plug & Play ที่มีให้เลือกใช้ได้อย่างหลากหลาย

และด้วยความเป็นเครื่องที่พร้อมให้เชื่อมต่อได้อย่างหลายหลากกับนานาอุปกรณ์ มันจึงสามารถพาเราเข้าถึงสื่อหรือต้นฉบับดนตรีที่ชื่นชอบได้อย่างง่ายดาย นับเป็นเครื่องที่เปิดกว้างและให้การทำงานอย่างราบรื่น โดยพร้อมที่จะนำเสนอทุกรายละเอียดของเสียงดนตรีที่คุณต้องการฟังออกมาได้อย่างหมดจดยิ่ง

เป็นความหมดจดที่สวยงามของเสียงดนตรี ในแบบที่ผู้ชื่นชอบและหลงใหลในเสียงของตัวโน้ตที่โลดแล่นอยู่ระหว่างขั้นบันไดเสียง มิอาจปฏิเสธความหมดจดอันงดงามนี้ได้อย่างเด็ดขาด