นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ศึกเดียนเบียนฟู (4)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อการรบเปิดฉากขึ้น ด้วยกำลังของปืนใหญ่ที่มีเหนือกว่า ฝ่ายเวียดนามสามารถทำลายหัวใจของการส่งกำลังบำรุงข้าศึกลงได้ในเวลาไม่นาน นั่นคือทำให้ลู่วิ่งที่เตรียมไว้สำหรับการส่งกำลังบำรุงด้วยเครื่องบินใช้การได้ไม่เต็มที่ ลู่วิ่งเสียหายบางส่วน นอกจากนี้ ยังเอาเครื่องบินลงจอดเป็นเวลานานไม่ได้ เนื่องจากถูกถล่มด้วยปืนใหญ่จนเครื่องบินเสียหาย

ฉะนั้น การส่งกำลังบำรุงจึงต้องใช้การทิ้งร่มเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ทำได้ไม่สะดวกนัก เพราะต้องฝ่าปืนต่อสู้อากาศยานเข้าไปทิ้งยังเป้าหมาย โอกาสผิดพลาดมีสูง บางครั้งจึงเท่ากับไปส่งกำลังบำรุงให้ฝ่ายข้าศึกเสียเอง แม้แต่ที่ทิ้งลงผิดเป้าหมาย แต่อยู่ในวงล้อมของป้อมค่ายฝรั่งเศส ก็ไม่สามารถกู้คืนได้ เพราะถูก “หนูน้ำยุม” ชิงเอาไปหมด

เรื่อง “หนูน้ำยุม” นี้น่าสนใจดี เพราะสะท้อนจุดอ่อนด้านการทหารของจักรวรรดินิยมในยุคนั้น ประเทศในเอเชีย-แอฟริกาต่างต้องจำนนต่ออำนาจทางทหารของจักรวรรดินิยมตะวันตก แต่ที่จริงแล้ว การเกณฑ์กองทัพจากยุโรปหรือสหรัฐ มาทำสงครามในอาณานิคมซึ่งอยู่ไกลโพ้น เป็นสิ่งที่แพงมาก ทั้งแพงเงินจนไม่คุ้ม และแพงทางสังคมเสียจนประชาชนในเมืองแม่ไม่อาจสนับสนุนการล่าอาณานิคมได้ ดังนั้น กองทัพที่ค้ำจุนจักรวรรดิไว้ทั่วโลก คือกองทัพผสมที่ได้กำลังจากทหารที่เกณฑ์มาจากอาณานิคมนั้นเอง มาสมัครเป็นทหารให้นายฝรั่ง ก็เพราะทำให้มีรายได้ดีขึ้น ไม่ใช่เพราะจงรักภักดีต่อจักรวรรดิจริง

ในศึกเดียนเบียนฟู เมื่อฝ่ายเวียดนามปิดล้อมป้อมค่ายต่างๆ ของฝรั่งเศสได้กวดขันยิ่งขึ้น ความยากลำบากในค่ายฝรั่งเศสจึงทบทวี เวชภัณฑ์ไม่พอ อาหารไม่พอ อาวุธยุทธภัณฑ์ไม่พอ ทหารจากแอฟริกา และอาณานิคมอื่นๆ ของฝรั่งเศส (รวมชาวเวียดและไตด้วย) จึงหลบหนีออกจากค่ายเพื่อเอาตัวรอด แต่จะหนีไปหาเวียดนามก็ไม่กล้า เพราะไม่รู้ว่าจะถูกสังหารหรือไม่ ซ้ำสภาพความเป็นอยู่ในฐานะเชลยก็อาจเลวร้ายยิ่งกว่า ทหารหนีทัพเหล่านี้จึงชุมนุมกันริมฝั่งน้ำยุม ลักขโมยชาวบ้านกิน หรือปล้นสะดมช่วงชิงอาหารและอาวุธจากฝ่ายใดก็ตาม ที่ลงมาสู่น้ำยุมโดยไม่มีกำลังคุ้มกันเพียงพอ รวมทั้งทหารฝรั่งเศสเองด้วย

“หนูน้ำยุม” จึงช่วยบ่อนทำลายกำลังของฝรั่งเศสลงไป

จักรวรรดิใช้สำนึกชาตินิยมของพลเมืองเพื่อล่าอาณานิคมมาเป็นประโยชน์แก่นายทุน แต่เพราะเป็นชาตินิยมจึงไม่อาจทำให้คนในอาณานิคมกระตือรือร้นได้ ซ้ำสำนึกนี้ยังแพร่ไปยังคนพื้นเมืองในอาณานิคม จนพากันลุกฮือขึ้นต่อต้านจักรวรรดิ จนจักรวรรดิเองก็ตั้งอยู่ไม่ได้

เมื่อฝ่ายเวียดนามทำให้การส่งกำลังบำรุงเป็นไปได้ยากมากเช่นนี้ ดูเหมือนจะเห็นได้ชัดแล้วว่าอย่างไรเสียฝรั่งเศสก็ไม่มีทางเอาชนะในศึกครั้งนี้ได้แน่ ทางรอดของฝรั่งเศสจึงมีอยู่สองทางคือถอนกำลังออก แต่นั่นคือความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง แม้อาจระบายกำลังออกด้วยเครื่องบินได้ส่วนหนึ่งก็ตาม หรือทางที่สองคือทุ่มกำลังเข้าเสริมอย่างเต็มที่

แต่ทางรอดทั้งสองทางนี้ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำด้วยเหตุผลทางการเมือง

ในขณะนั้น ฝรั่งเศสพยายามทุกวิถีทางที่จะขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากสหรัฐ ซึ่งค่อนข้างจะดูถูกฝีมือการรบของฝรั่งเศสอยู่แล้ว ดังนั้น การถอนกำลังจากที่มั่นเดียนเบียนฟู ซึ่งเคยคุยไว้ว่าจะช่วยหยุดการขยายตัวของคอมมิวนิสต์เข้าลาว และตัดกำลังฝ่ายเวียดมินห์ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงลง จึงเท่ากับบอกอเมริกันว่า ความช่วยเหลือทั้งหมดที่ให้มาแล้ว และจะให้ต่อไปนั้นไร้ประโยชน์

ส่วนการเสริมกำลังทหารเข้าไปนั้นทำแทบไม่ได้เอาเลย ขณะนั้นกำลังทหารของฝรั่งเศสในเวียดนามตึงตัวอย่างที่สุดอยู่แล้ว เพราะแม้ว่านายพลซ้าปถอนกำลังจากลุ่มน้ำแดงไปสองสามกองพล เพื่อเข้าสมรภูมิเมืองแถง แต่เวียดมินห์ก็ยังมีกำลังปฏิบัติการในลุ่มน้ำแดงต่อไป ผู้บัญชาการฝรั่งเศสประจำตังเกี๋ยจึงไม่อาจแบ่งกำลังไปช่วยสมรภูมิเมืองแถงได้มากกว่าที่ได้ทำไปแล้ว (อันที่จริงทั้งตัวเขาและลูกน้องใกล้ชิด ไม่เห็นด้วยกับการตั้งป้อมค่ายขนาดใหญ่ที่เดียนเบียนฟูมาแต่ต้นแล้ว)

วิธีเดียวที่ฝรั่งเศสจะเสริมกำลังได้ก็คือเกณฑ์ทหารใหม่จากยุโรปมาเสริม แต่นั่นเป็นไปไม่ได้ทางการเมืองเลยทีเดียว เพราะประชาชนชาวฝรั่งเศสเองเบื่อหน่ายสงครามในอินโดจีนเต็มทนแล้ว พวกเขาเรียกร้องรัฐบาลมาทุกชุดว่า หยุดรบในอินโดจีนแล้วเอาเงินมาสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ ดีกว่า

ทหารไทยและคนไทยอีกไม่น้อยอ่านเรื่องนี้แล้ว คงบอกว่า นั่นไง นั่นไง การเมืองโดยเฉพาะการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ชาติอ่อนแอทางการทหาร จนต้องแพ้สงคราม

ผมอยากเตือนว่า แพ้ชนะในสงครามนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับระบอบปกครอง เผด็จการทหารแพ้สงครามมาไม่รู้จะเท่าไรแล้ว คงจำสงครามฟอล์กแลนด์ของอาร์เจนตินาได้ นกกระจอกยังไม่ทันจะกินน้ำเลย เผด็จการทหารที่เก่งเฉพาะรบกับประชาชนของตนเอง ก็ประกาศยอมจำนน แม้ว่าสงครามมหาเอเชียบูรพาทำให้เผด็จการทหารญี่ปุ่นดูยิ่งใหญ่ แต่ในที่สุดก็ลงเอยที่ความพินาศย่อยยับของญี่ปุ่นเอง นายพลลอน นอล แห่งกัมพูชาทำสงครามกับเขมรแดงอยู่หลายปี ด้วยความช่วยเหลือมหาศาลจากสหรัฐ รวมทั้งส่งกำลังทางอากาศทิ้งระเบิดปูพรมดินแดนที่อยู่ภายใต้อำนาจของเขมรแดงด้วย แล้วในที่สุด ลอน นอล และสหรัฐก็พ่ายแพ้เขมรแดงอย่างหมดรูป

แม้แต่นโปเลียน นายทหารที่ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิก็ลงเอยที่ความปราชัยเหมือนกัน

ที่อยากเตือนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพลเรือนฝรั่งเศสเรียกร้องให้หยุดสงครามอินโดจีนเสีย เพื่อเอาเงินมาสร้างโรงเรียนให้เด็ก พลเรือนฝรั่งเศสมองเห็นสิ่งที่ทหารฝรั่งเศสมองไม่เห็น นั่นคือระบอบจักรวรรดินิยมแบบนั้นกำลังสลายตัวลง และระบอบจักรวรรดินิยมแบบใหม่กำลังเริ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องลงทุนกับโรงเรียน ไม่ใช่สงคราม

เมื่อทำความเสียหายแก่ช่องทางเดียวของการส่งกำลังบำรุงของฝรั่งเศสลงอย่างหนักแล้ว นายพลซ้าปก็บุกโจมตีค่ายฝรั่งเศสไปทีละค่าย

ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่า ที่มั่นหรือ “ศูนย์ต้านทาน” ของฝรั่งเศสแต่ละแห่งในเมืองแถงนั้น สร้างขึ้นอย่างแข็งแกร่งเหมือนปราการทีเดียว เกือบทุกที่มั่นล้วนตั้งอยู่บนเนิน ยกเว้นโคลดีนซึ่งเป็นกองบัญชาการใหญ่ ทำให้ทหารฝรั่งเศสได้เปรียบเพราะมองเห็นทุ่งราบได้กว้างไกล สามารถยิงสกัดกำลังฝ่ายเวียดนามได้สะดวก (แต่ในทางตรงกันข้าม หากเสียที่มั่นแก่ข้าศึก ก็ทำให้เวียดนามสามารถลากปืนใหญ่มาตั้งแล้วยิงที่มั่นอื่นซึ่งเหลืออยู่ได้สะดวกด้วย)

แต่ละป้อมมีการขุดสนามเพลาะ ลึกสักประมาณตัวคนไปตลอดแนว และบางทีมีหลายชั้นวกวนเข้าไปสู่หน่วยบัญชาการซึ่งมักขุดเป็นห้องใต้ดิน เพื่อเก็บยุทธภัณฑ์ให้ปลอดภัยจากระเบิด ถัดลงมาที่ปลายเนิน ยังมีรั้วลวดหนามกั้นอีกสองสามชั้นกว่าจะเข้าไปประชิดกับกองกำลังฝรั่งเศสในสนามเพลาะ ในเอกสารของฝรั่งเศสเองยังพูดถึงรังปืนกล ที่ตั้งในชัยภูมิอันเหมาะสำหรับป้องกันการโจมตีในแต่ละป้อมด้วย ซากของปืนกลอันหนึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำยุม ซึ่งทหารช่างฝรั่งเศสสร้างไว้ และเราได้เห็น

แม้ฝ่ายเวียดนามใช้ปืนใหญ่ถล่มป้อมเหล่านั้นอย่างหนักก่อนเข้าโจมตี แต่เมื่อยกทหารเข้าโจมตี ก็ต้องสูญเสียทหารไปมากทีเดียว แต่ไม่มีสถิติบอกชัดเจนเพราะฝ่ายเวียดนามไม่ยอมเปิดเผย ทหารฝรั่งเศสซึ่งให้การในภายหลังกล่าวว่า ทหารเวียดนามบุกเข้าประชิดแนวกำแพงลวดหนาม ครั้นโดนยิงล้มลงก็พุ่งมาล้มทับลวดหนามไว้ เพื่อให้เพื่อนเหยียบศพตนข้ามลวดหนามไป

ทั้งปืนใหญ่, ระเบิด, ปืนกล และกำลังพลที่ห้าวหาญเช่นนี้ ในที่สุดฝรั่งเศสก็เสียป้อมไปทีละป้อม ทหารที่หนีได้ทันก็พากันมารวมในป้อมที่ยังไม่เสียแก่ข้าศึก ทำให้สภาพความเป็นอยู่แออัดมากขึ้น สภาพความเป็นอยู่ของทหารในป้อมสุดท้ายก่อนยอมจำนนคือป้อมโคลดีนอันเป็นกองบัญชาการใหญ่ เสื่อมโทรมลงอย่างมาก คนเจ็บมีจำนวนมากที่ไม่มียาและเวชภัณฑ์จะดูแลได้ทั่วถึง แม้แต่จะเก็บศพออกไปก็ยังทำแทบไม่ทัน

สภาพอันเลวร้ายนี้บ่อนทำลายขวัญของฝ่ายฝรั่งเศสอย่างมาก

ในพิพิธภัณฑ์การรบที่เราเข้าชม มีภาพถ่ายทหารฝรั่งเศสขึ้นมาจากแนวสนามเพลาะที่ขุดไว้ ต่างยกมือยอมจำนน มีทหารเวียดนามนุ่งขาสั้น ถือปืนควบคุมอยู่ เข้าใจว่าเป็นการตีป้อมแอนน์มารีและอูแก๊ตแตก เพราะยังเห็นเครื่องบินและสนามบินอยู่หลังฉาก แสดงว่าต้องเป็นป้อมที่อยู่ใกล้สนามบินทางเหนือ

แต่ภาพที่ลือชื่อสำหรับเวียดนาม คือภาพที่ทหารเวียดนามสามารถบุกยึดป้อมโคลดีนอันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการใหญ่ และเป็นป้อมสุดท้ายที่เหลืออยู่ได้ ในเย็นวันที่ 7 พฤษภาคม กองทหารฝรั่งเศสได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้หยุดยิงเวลา 17.30 น. เพื่อรักษาชีวิตทหารบาดเจ็บจำนวนมากที่อยู่ในที่มั่น ทหารเวียดนามข้ามสะพานเหล็กเข้ามายึดที่มั่นศูนย์กลาง ทหารคนหนึ่งกระโดดขึ้นไปบนหลังคาหุ้มเหล็กของที่มั่น แล้วโบกธงเวียดนามเหนือหลังคานั้น ภาพถ่ายนี้คือที่สุดของการรบที่เดียนเบียนฟูสำหรับเวียดนาม

ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 8 พฤษภาคม 1954 ก็ถึงกำหนดที่ประชุมเจนีวาจะเริ่มเจรจากันเกี่ยวกับอินโดจีน โดยฝรั่งเศสแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเหลืออยู่เลย อำนาจต่อรองไปอยู่ที่สหรัฐ ซึ่งทำให้จีนและรัสเซียตัดสินใจสนับสนุนการแบ่งประเทศเวียดนาม เพราะปลอดภัยกว่าที่จะดึงให้อเมริกันเข้ามาทำสงครามในเวียดนามแทนฝรั่งเศส

ด้วยเครื่องแบบและไม้เท้าคู่มือ ผู้บัญชาการคือ นายพลเดอ กัสตรีส์ เดินขึ้นมายอมจำนนอย่างเป็นทางการ อันที่จริงเขาไม่ได้ถูกหมายตัวให้เป็นผู้บัญชาการที่สมรภูมินี้ แต่นายพลซึ่งถูกหมายไว้และเป็นผู้อำนวยการยึดลู่วิ่งสนามบินพร้อมพลร่ม ขอไม่รับตำแหน่ง เนื่องจากการรบแบบตั้งรับไม่เหมาะกับเขา เดอ กัสตรีส์ ซึ่งถูกเลือกมาแทนนั้นเป็นเพียงพันเอกทหารม้า ผ่านการรบมาโชกโชนจนขาพิการข้างหนึ่ง เขาเองก็ไม่อยากรับตำแหน่งเหมือนกัน เพราะในฐานะนายทหารม้า เขาถนัดการรบแบบรุกมากกว่าตั้งรับ แต่ทั้งผู้บังคับบัญชาเขา และ อังรี นาวาร์ ยืนยันจะเอาเขาให้ได้ เขาเพิ่งได้เลื่อนยศเป็นนายพลเมื่อที่มั่นเดียนเบียนฟูใกล้จะแตกแล้ว และกลายเป็นเชลยฝรั่งเศสยศสูงสุดที่เวียดมินห์เคยจับได้

สมรภูมิเมืองแถงเป็นเรื่องราววีรกรรมของทหารทั้งสองฝ่าย แต่ทางฝ่ายเวียดนาม นอกจากวีรกรรมของทหารแล้ว ยังมีวีรกรรมของประชาชนอาสาสมัครจำนวนมาก ที่เข้าร่วมสนับสนุนกำลังของฝ่ายตนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการส่งกำลังบำรุง กลายเป็นเรื่องเล่าขานกันสืบมาอีกนาน

อันที่จริง ที่เวียดนามสามารถล้มยักษ์ได้อีกสองตนในเวลาต่อมา คือสหรัฐและจีน ก็มีเรื่องราววีรกรรมของประชาชนที่ช่วยอุดหนุนกองทัพด้วยประการต่างๆ ปราศจากการสนับสนุนของประชาชน กองทัพเวียดนามไม่มีทางจะเอาชนะสหรัฐหรือจีนได้อย่างแน่นอน

ศึกเดียนเบียนฟูสอนให้เราเห็นอย่างน้อยสองอย่างว่า เมื่อกองทัพเข้าสู่สงคราม การนำต้องเป็นของคนที่สามารถมองความขัดแย้งได้หลากหลายมิติมากกว่าการรบ โดยเฉพาะประเทศขนาดกลางอย่างเวียดนาม ผู้นำในสงครามต้องหลักแหลมพอจะดึงเอาพลังทุกอย่างที่ประเทศตนเข้าถึงได้ ทั้งในและต่างประเทศออกมาเป็นประโยชน์ในสงคราม ผู้นำประเภทนี้มักเป็นพลเรือน ไม่ใช่เพราะพลเรือนเก่งกว่าทหาร แต่เพราะพลเรือนจะสามารถนำได้ ก็โดยการประสานกำลังของหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน ในขณะที่การนำของทหารคืออำนาจเด็ดขาดตามสายบังคับบัญชา โดยไม่ต้องมองซ้ายมองขวา การนำแบบนี้ใช้ในการรบได้ แต่ใช้ในการทำสงครามไม่ได้ เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่าสงครามรวมเอามิติต่างๆ ของการต่อสู้ในความขัดแย้งมากกว่าการรบ

ฉะนั้น การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลุงโฮในการต่อสู้กับฝรั่งเศส จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผมเล่าทั้งหมดเป็นแต่เล่าถึงการรบของนายพลซ้าปเท่านั้น

อย่างที่สองซึ่งอาจเห็นได้จากศึกเดียนเบียนฟูก็คือ การสนับสนุนของประชาชนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้กองทัพเอาชนะสงครามได้ ประชาชนเวียดนามสนับสนุนกองทัพทั้งในครั้งที่ทำสงครามกับฝรั่งเศสและสหรัฐ หลายต่อหลายคนเอาชีวิตเข้าแลกด้วยซ้ำ

กองทัพที่กดขี่ประชาชน จึงไม่มีศักยภาพจะรบกับอริราชศัตรูที่ไหนได้ นอกจากประชาชนของตนเอง ด้วยประการฉะนี้