เกมเสี่ยง ‘บิ๊กตู่’ เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค. ปรับวิถีอยู่ร่วมโควิด-เปิดประเทศ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เกมเสี่ยง ‘บิ๊กตู่’

เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค.

ปรับวิถีอยู่ร่วมโควิด-เปิดประเทศ

 

14 กันยายน 2564 คือวันดีเดย์มาตรการคลายล็อกดาวน์ เฟสสอง ครบวงรอบการประเมิน 14 วัน เศรษฐกิจ-ธุรกิจ อาจกลับมาคึกคัก หลังจากซมพิษโควิด-19 ระลอกที่ 4 ไม่ต่ำกว่า 5 เดือน

1 ตุลาคม 2564 เป็นที่แน่นอนแล้วว่า 99.99% รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเดินหน้าปรับธงใช้ชีวิตร่วมกันมหาวิกฤตโควิด-19 ด้วยคาถากันภัยพิบัติจากโรคระบาด 10 ข้อบัญญัติป้องกันขั้นสูงสุด (Universal Prevention) หลังผู้ติดเชื้อโควิดกราฟปักหัวลง ตามโรดแม็ปเปิดประเทศ

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ยืดอก-ยกไหล่ เปล่งวาจา 120 วันเปิดประเทศ กลายเป็นสัจวาจา “ไฟต์บังคับ” และเป็น “เกมเสี่ยง”

 

เสี่ยงแรก “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยาสามัญประจำบ้าน-โอสถทิพย์ ที่ขยาย-ต่ออายุมาแล้วไม่น้อยกว่า 13 ครั้ง นับตั้งแต่มีผลบังคับใช้ 26 มีนาคม 2563

ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ครั้งที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563

ครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564

ครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

ครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 และครั้งที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 จนถึง 30 กันยายน 2564

 

เสี่ยงที่สอง ผลพวงจากการยกเลิก “กฎหมายฉุกเฉิน” คือ การยุบศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์สวมหมวกผู้อำนวยการ ศบค. – ถือแก้วสารพัดนึก อำนาจตามกฎหมาย 40 ฉบับ

รวมถึงระบบ “ซิงเกิล คอมมานด์” ซึ่งเป็นศูนย์รวมอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับ ที่มีอำนาจล้นฟ้า ทั้งโลกมนุษย์ ทางน้ำ-บนบก-อากาศ โลกไซเบอร์ และโลกธุรกิจกลางวัน-กลางคืน

กฎหมาย 31 ฉบับที่ พล.อ.ประยุทธ์รวบตึงไว้ป้อง-ปราบ-ปรามโควิด-19 ในสามโลก เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561

พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560

พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509

 

เสี่ยงที่สาม การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เพื่อคลายล็อกดาวน์ธุรกิจกลางคืน กิจการ-กิจกรรมสีแดง เช่น สถานบันเทิง ผับ-บาร์ คาราโอเกะ และธุรกิจสีดำ-สีเทา และปลดล็อกการเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม

จุดตรวจ-จุดกัด และชุดสายตรวจลาดตระเวน ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต จำนวน 88 จุด ปริมณฑล 20 จุด และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 39 จุด

รวมทั้งสิ้น 187 จุด ต้องอันตรธานหายไป

 

เสี่ยงที่สี่ แม้กระดานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลงต่ำกว่า 2 หมื่นคน ทรงตัว-แตะระดับ 15,000 คนต่อวัน แต่คำเตือนจาก “หมอทวีศิลป์” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่ออกมากระตุกแรงๆ ว่า ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนตุลาคมอาจจะทะลุ 3 หมื่นคนต่อวัน

“หมอทวีศิลป์” ฉายฉากทัศน์ เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กับตัวเลขคาดการณ์จากมาตรการล็อกดาวน์ภาพรวมของประเทศ ปรากฏว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าการคาดการณ์

เป็นการ “กินบุญเก่า” จากการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นย้อนหลังไป 14 วันที่ผ่านมา

“วันนี้เรามีการปรับมาตรการ ภาษาของทางสื่อคือการผ่อนคลายแล้ว เลยเห็นบรรยากาศของคนที่เข้าห้าง อยากไปซื้อข้าวของ รวมทั้งออกไปทำธุรกิจต่างๆ เยอะแยะมากมาย ตรงนี้ก็ขอให้ท่านดูแลตัวเองให้เป็นอย่างดี ซึ่งตามคาดการณ์เขาบอกว่ามันจะมีแรงเฉื่อยได้ถึงปลายเดือนกันยายนนี้ และเมื่อไปถึงต้นเดือนตุลาคม เส้นเหล่านี้จะพุ่งขึ้น หมายความว่าจะมีคนไข้ที่ป่วยมากขึ้นกว่านี้อีก ถ้าคุมไม่ดีจะไปแตะที่ 3 หมื่นราย/วันได้เหมือนกัน”

จนถึงขณะนี้ยังคงมีเสียงเตือนจาก “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ถึงแนวโน้มการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 5 จนทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ไปจนถึง 4-5 เท่าตัวของการระบาดระลอกที่ 4

“เรื่องของเราคงอยู่ตรงที่ว่า เวฟ 5 จะมาเมื่อไหร่? ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้ชัดเจน อย่างเร็วคงเป็นตุลาคม และอย่างช้าก็คงเป็นปลายปี คงต้องเตรียมตัวกันให้ดีทั้งระบบ รวมทั้งพวกเราที่ธรรมศาสตร์ด้วย เรารับรองว่า เราจะใช้เวลาที่มีอยู่นี้ ช่วยกันเตรียมคน เตรียมยา และเวชภัณฑ์ ตลอดจนเตรียมวอร์ดต่างๆ ให้พร้อมมากกว่าที่ทำมาก่อนหน้านี้”

“เพราะพวกเราที่นี่ เชื่อจริงๆ ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับเวฟ 5 อย่างหนีไม่พ้นแน่นอน”

 

การยกเลิก หรือผ่อนเกม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์” เรียกใช้บริการมาแล้วกว่า 13 ครั้ง และการผ่อนผันเคอร์ฟิว 29 จังหวัดสีแดง ภายใต้การนัดชุมนุมทะลุฟ้า-คืนละไม่น้อยกว่า 2 จุด

และข้อทักท้วงของที่ปรึกษาระดับนายแพทย์ใหญ่ประจำตึกไทยคู่ฟ้า ยกดาต้าการระบาดระลอก 5 มาดักหน้า อีกทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมโรคก็ยังไม่ได้ประกาศใช้สมบูรณ์

จะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจคราวนี้

การขยับแปลงร่าง ศบค. เพื่อโยกอำนาจทั้งมวลไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นการคะเนที่ฝ่ายการเมืองให้น้ำหนัก แต่ฝ่ายความมั่นคงและทีมกุนซือหมอ ยังก้ำกึ่งที่จะชงให้ “ประยุทธ์” ตัดสินใจ

เพราะครั้งนี้ มีเดิมพันสูงมิใช่น้อยเช่นเดียวกัน