คลื่นลูกที่สาม : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นับวันผมยิ่งไม่แน่ใจว่า โลกเรากำลังเผชิญกับคลื่นลูกที่สามอยู่หรือยัง

ทั้งนี้เพราะผมคิดว่า ที่จะนับเป็นคลื่นได้ต้องไม่ใช่วิธีและวิถีการผลิตอย่างเดียว แต่ต้องหมายถึงอาหารการกินและเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และต้องหมายถึงการจัดการแบ่งปันอาหารการกินและเครื่องใช้ไม้สอย

คลื่นลูกที่หนึ่งหรือการปฏิวัติการเกษตรในสมัยหิน ทำให้เราผลิตทั้งสองอย่างนี้ได้เพิ่มขึ้น แม้อาหารอาจเลวลงแต่เครื่องมือกลับดีขึ้น ทำให้เรามีอาหารเลี้ยงดูผู้คนจำนวนมากที่นำมากระจุกไว้ในระบบนิเวศน์ที่เล็กลงได้ ผิดจากเมื่อต้องเก็บของป่าล่าสัตว์ซึ่งต้องการระบบนิเวศน์ที่ใหญ่มากกว่ากันหลายเท่าตัว เพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนนิดเดียว จากนั้นก็กระทบถึงการแบ่งปันอาหารและเครื่องใช้ไม้สอย กลายเป็นระบบปกครอง, ระบบเศรษฐกิจ, ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ อีกอย่างหนึ่ง อันแตกต่างจากเมื่อก่อนจะเผชิญกับคลื่นลูกที่หนึ่งอย่างมาก

คลื่นลูกที่สอง หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ทำงานในทำนองเดียวกัน และอย่างที่รู้ทั่วกันอยู่แล้ว จนไม่จำเป็นต้องพูดอะไรอีก

ประเด็นที่ต้องย้ำก็คือ หากเป็น “คลื่น” จริง ต้องกระทบต่ออาหารและเครื่องใช้ไม้สอย รวมทั้งต้องกระทบต่อการแบ่งปันสองอย่างนี้ ผมคิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า เราจะกิน information หรือข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร และจะใช้ข้อมูลข่าวสารกันแดดกันฝนแทนร่มได้อย่างไร

ครับ ผมพูดให้พลาดจากวิธีการผลิต เพื่อให้เห็นประเด็นได้ชัดเท่านั้น ผมหมายความว่าเครื่องพิมพ์สามมิติไม่สามารถผลิตข้าวขึ้นจากอากาศธาตุได้ ไม่ว่าจะพิมพ์อะไรก็ต้องพิมพ์ขึ้นจาก “วัสดุ” ซึ่งโดยพื้นฐานคือแร่ธาตุ แม้เขาไม่ได้เอาเหล็กทั้งก้อนยัดลงไปในเครื่องพิมพ์เพื่อทำค้อน คงต้องแปรวัสดุเหล็กให้อยู่ในรูปอื่น ก่อนที่เครื่องพิมพ์สามมิติจะพิมพ์ค้อนออกมาได้ ยิ่งจะพิมพ์ข้าว คงยิ่งยากขึ้นหลายเท่า ความรู้อันจำกัดของผมทำให้นึกไม่ออกเอาเลย

ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องมีใครลงไปนำเอาเหล็กและวัสดุต่างๆ ขึ้นมาจากพื้นดิน หรือสังเคราะห์มันขึ้นมาด้วยวิธีต่างๆ นับตั้งแต่ความร้อนไปจนถึงเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของสิ่งนั้น เพื่อเอามาใช้ผลิตสิ่งของด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร แต่ประชากรของคลื่นลูกที่สามก็มักบอกว่า โฮ้ย อย่าห่วงเลย เรื่องนั้น เขาย่อมใช้หุ่นยนต์เปิดเหมือง ตลอดจนขุดแร่และหลอมจนเป็นเหล็กแท่งส่งขึ้นมาตามสายพานเสร็จเรียบร้อย มีรถซึ่งควบคุมด้วยหุ่นยนต์นำเอาไปส่งยังสถานที่ซึ่งต้องการใช้เหล็กแท่งนั้น

มีคนคุมหุ่นยนต์ทำงานโดยไม้ต้องถือแซ่ไว้ในมือสัก 10-20 คน ก็พอแล้ว ดังนั้น การผลิตในคลื่นลูกที่สามจึงกระทบต่อการแบ่งปันอาหารการกินและเครื่องใช้ไม้สอยโดยตรง ซึ่งผมขอเก็บไปพูดถึงข้างหน้า

เรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลจะเพิ่ม “ทรัพย์” ให้แก่สังคมหรือไม่ คลื่นลูกที่หนึ่งและสองทำให้เกิดการขยายตัวของทรัพย์ในสังคมต่างๆ อย่างมโหฬาร ตลาดมีกำลังซื้อมากขึ้นจนกระทั่งการผลิตขยายตัว ยิ่งขยายตัวก็ยิ่งเพิ่มทรัพย์และคนที่จะครอบครองทรัพย์เหล่านั้น

พิกเคตตี้บอกว่า ในยุโรปตะวันตกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม GDP ของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นปีละ 0% สะท้อนให้เห็นในนิทานและนวนิยายของยุคนั้น ซึ่งตัวละครล้วนมีสถานภาพคงที่เสมอ เจ้าชายและยาจกย่อมเป็นเจ้าชายและยาจกตั้งแต่เกิดจนตาย วิธีเปลี่ยนสถานภาพทำได้อย่างเดียวคือผ่านการสมรสกับคู่สมรสที่มีสถานภาพสูงกว่า ซึ่งก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ยกเว้นแต่ได้รองเท้าแก้วมาจากเทพธิดาอุปถัมภ์

ในส่วน GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้น ในระยะยาวแล้วประเทศที่อยู่แนวหน้าสุดด้านเทคโนโลยี การเติบโตก็ลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 1-1.5% ต่อปี ทั้งนี้เพราะไม่มีเทคโนโลยีใหม่ในการเพิ่มผลผลิต ยกเว้นแต่ประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีทันสมัยเช่นจีนหรืออินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเท่านั้น ที่มีตัวเลข GDP สูงในระดับ 5-6% ได้

(Thomas Piketty, Capital in the Twenty-First Century)

หันไปดู GDP ของประเทศแนวหน้าด้านเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลในปัจจุบันเช่นสหรัฐ ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากดังเช่นเมื่อหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม (ร้ายไปกว่านั้น หากคิดถึงการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วของสหรัฐ การเพิ่มขึ้นของ GDP ส่วนหนึ่ง ย่อมมาจากจำนวนประชากร วัยรุ่นที่โหลดเพลงมาฟังเพิ่มขึ้น มาจากประชากรวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่เทคโนโลยีโหลดเพลงล้วนๆ)

เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลอาจกระทบต่อวิธีและวิถีการผลิต แต่เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลไม่ได้เพิ่มทรัพย์แก่สังคม และซ้ำร้ายอาจจะลดทรัพย์ลงด้วยก็ได้ หากไม่คิดเรื่องการแบ่งปันทรัพย์ให้ดี ผมขอยกตัวอย่างหุ่นยนต์

สมมติว่าบริษัทผลิตรถยนต์ T ผลิตรถได้ปีละ 1 ล้านคัน เมื่อเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน ซึ่งทำงานได้เร็วกว่า เนี้ยบกว่า และไม่มีวันนัดหยุดงานเลย ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น ซ้ำยังอาจผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงกว่าปัจจุบันด้วย เพราะไม่ต้องประหยัดค่าแรงด้วยการผลักภาระให้แก่ผู้บริโภค แล้วบริษัทจะผลิตรถยนต์เกิน 1 ล้านคันหรือไม่?

ผมคิดว่าไม่ เพราะตัวเลข 1 ล้านคันไม่ได้มาจากกำลังการผลิต (ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นอีกก็ได้) แต่มาจากความต้องการของตลาดต่างหาก ดังนั้น กำไรที่เพิ่มขึ้นของการใช้หุ่นยนต์จึงไหลเข้ากระเป๋าของผู้ถือหุ้น แทนที่จะกระจายไปยังแรงงานนับหมื่นนับแสน เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลจึงไม่ได้ทำให้ทรัพย์ของสังคมเพิ่มขึ้น เพียงแต่ทำให้ทรัพย์ของเอกชนบางคนเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่นานวันเข้าจำนวนคนที่มีกำลังซื้อรถยนต์ใช้ย่อมลดลง บริษัทจึงต้องลดจำนวนการผลิตลงตามไปด้วย

หากทรัพย์ของสังคมไม่เพิ่มขึ้น จะทำให้คนจำนวนมากขึ้นเข้าถึงอาหารได้มั่นคงกว่าเดิม และด้วยการแบ่งปันซึ่งทั่วถึงกว่าเดิม ได้อย่างไร ความเปลี่ยนแปลงที่นำเอาทรัพย์ของสังคมเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของคนจำนวนน้อยเท่านั้น จะเป็นคลื่นลูกใหม่ได้อย่างไร

พวก Luddite ซึ่งก่อการกบฏต่อเครื่องจักรหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ผิดอะไรมากนักนะครับ เพราะในช่วงนั้น การปฏิวัติอุตสาหกรรมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในวิธีและวิถีการผลิตเท่านั้น ยังไม่ได้จัดการด้านการแบ่งปันให้คนหมู่มากเข้าถึงอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยได้ง่ายขึ้น และมั่นคงขึ้น (จะเลวลงกว่าการเป็นทาสติดที่ดินของเจ้านายเสียด้วยซ้ำ)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากไม่คิดถึงการแบ่งปัน คลื่นลูกใหม่ที่มีแต่เทคโนโลยีการผลิตอย่างเดียว เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะจะทำให้เกิดมิคสัญญีตามมาอย่างแน่นอน

ผมยังจำใบหน้ายิ้มละไมของนายทุนไทยซึ่งให้สัมภาษณ์ทีวีในวันที่เขาผลักดันเศรษฐกิจ 4.0 ได้ดี เมื่อตอบคำถามของผู้สื่อข่าวว่า เศรษฐกิจ 4.0 ย่อมทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นอีกมากใช่หรือไม่ ด้วยใบหน้าอย่างนั้นแหละครับที่เขายอมรับว่าใช่ แต่เขาก็เสริมว่าแรงงานต้องสร้างทักษะใหม่ เพื่อรองรับวิธีการผลิตที่เปลี่ยนไป โดยไม่ได้บอกว่าใครสร้าง, และใครรับผิดชอบ, ใครที่สร้างทักษะใหม่ไม่ได้หรือไม่ได้สร้างจะไปอยู่ที่ไหน

อันที่จริงถึงเวลามานานแล้วที่ต้องลงทุนกับการปรับปรุงวิธีและวิถีการผลิตของอุตสาหกรรมไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น และนายทุนไทยก็รู้ นโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ของคณะรัฐประหารส่งสัญญาณแก่พวกเขาว่า รัฐบาล (ด้วยทุนสาธารณะ) จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระการปรับเปลี่ยนวิธีและวิถีการผลิต และนั่นคือที่มาของรอยยิ้มละไมบนใบหน้าของเขา

แต่ทีวีไม่เคยฉายใบหน้าของคนที่จะตกงานอีกหลายแสนให้ชาวบ้านได้เห็น จึงมักทำให้ผู้ชมไทยไม่คิดถึงการแบ่งปัน ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งในคุณลักษณะของคลื่นลูกใหม่อยู่เสมอ

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงอันกว้างใหญ่ไพศาลที่กำลังเกิดขึ้นในโลกจะเป็นคลื่นลูกที่สามหรือไม่ก็ตาม แต่โลกเปลี่ยนแน่ และเปลี่ยนไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก และลึกลงไปถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั้งโลกด้วย ความรู้ของผมสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ เพราะผมนึกไม่ออกว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ดังนั้น จึงไม่รู้ด้วยว่าจะต้องเตรียมตัวกันอย่างไรเพื่อไปมีชีวิตอย่างนั้น

ทุกครั้งที่ผมได้ฟัง-อ่านคนอย่าง คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พูดหรือเขียนอะไรแล้ว ผมรู้สึกทุกครั้งว่า ผมไม่มีส่วนอยู่ในปัจจุบันและอนาคตของโลกนี้อีกแล้ว ไม่ใช่เพียงเพราะผมแก่ระดับหง่อมเท่านั้นนะครับ แต่วิธีคิดของผมซึ่งคงจะแก่ระดับเดียวกัน ไม่อาจทำให้ผมหยั่งลงไปในความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่ตามมาได้

จนผมตั้งเกณฑ์ส่วนตัวขึ้นว่า คนอายุเกิน 50 เป็นเจ้าของโลกปัจจุบันนิดเดียว และไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกอนาคตเลย แม้แต่ความคิด

คงเป็นเพราะความล้าสมัยในวิธีคิดนั่นแหละที่ทำให้ผมไม่อาจมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทะลุปรุโปร่งเหมือนคนรุ่นใหม่ เมื่อวิเคราะห์หาความล้าสมัยดังกล่าวว่าอยู่ที่ไหน ผมพบว่ามีอยู่แยะมาก แต่ทั้งหมดมันผูกอยู่กับเรื่องเดียวคือมาตรฐาน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของผมยังเป็นของคลื่นลูกที่หนึ่งและสองอยู่

ผมคิดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” คือแก่นของคำสอนในทุกศาสนา ที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการกำกับพฤติกรรมของชาวพุทธ ก็เพราะไม่ผูกคำสอนให้เชื่อมโยงกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (การฆ่าคนบาปหนัก เพราะทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง จึงเป็นบาปที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับการทรมาน, การกักขังหน่วงเหนี่ยวตามใจชอบ, การข่มขู่คุกคาม, การห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ฯลฯ ซึ่งองค์กรพุทธที่เป็นทางการสมยอมโดยพฤตินัยเสมอมา)

ในโลกอนาคตที่คนส่วนใหญ่ไม่มีบทบาทอะไรเหลืออยู่อีกเลย เพราะนายทุนใหญ่ซึ่งรวบรวม “ปัญญา” ธรรมชาติและประดิษฐ์ไว้ในมือตนแต่ผู้เดียว สามารถผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ก่อนที่มนุษย์จะรู้สึกต้องการเสียอีก หากทุกคนเป็นเพียงลูกเต๋าที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถปั่นให้ออกเลขอะไรก็ได้ จะเหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตรงไหน

แม้อาจมีคนเล็กๆ จำนวนน้อยที่สั่งสมความสามารถเฉพาะตน เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่นายทุนใหญ่ทำไม่ได้ (เพราะใช้ฝีมือและความรู้สึกของมนุษย์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ไม่มี) เช่น ทำน้ำเต้าหู้ที่อร่อยที่สุดขาย, ทอดปาท่องโก๋ที่กินแล้วแทบจะกำซาบไปทั้งตัว, สีไวโอลินได้เท่ากับปะกานินี ฯลฯ แต่นั่นก็เป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น ซ้ำชีวิตส่วนอื่นของเขาก็ยังถูกกำกับด้วยผลิตภัณฑ์ของนายทุนใหญ่อยู่นั่นเอง เช่น ต้องฝากข้อมูลสำคัญของตนไว้บน “เมฆ” ของนายทุน เพราะมั่นคงปลอดภัยกว่าเก็บไว้ที่ไหนทั้งสิ้น

และเพียงเท่านี้ก็ต้องมีเครื่องใช้ไม้สอย และใช้ชีวิตส่วนหนึ่งที่ใหญ่พอสมควรภายใต้การกำกับของนายทุนเจ้าของปัญญาธรรมชาติและประดิษฐ์ไปแล้ว

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่าคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้ทำงานหรือทำงานน้อยมาก จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ชีวิตดังกล่าว เพราะสมมติว่ารัฐสามารถจัดสวัสดิการได้ทั่วถึง และทุกคนดำรงชีวิตในมาตรฐานหนึ่งซึ่งไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการดำรงชีพตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วันๆ ไม่มีอะไรทำ ได้แต่วิ่งเล่นหยอกล้อกับกระรอกในสวนสาธารณะ เหมือนได้กลับไปอยู่ในสวนอีเดนใหม่

ปัญหามาอยู่ที่ว่าชีวิตในสวนอีเดน เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

ประหลาดนะครับ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักปราชญ์ในยุโรปตะวันตก (ซึ่งเป็นปาจารย์หรืออาจารย์ของอาจารย์ผมอีกทีหนึ่ง) พากันวิตกห่วงใยว่า โลกในอนาคตจะเป็นโลกแห่งเวลาว่างมากเกินไป เพราะพัฒนาการของเครื่องจักรทำให้มนุษย์ทำงานแค่วันละ 4 ชั่วโมงก็พอแล้ว ดังนั้น ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า มนุษย์จะใช้เวลาว่างที่เหลือทำอะไร

ในทัศนะของท่านเหล่านั้น เวลาว่างที่ใช้ไม่เป็นนี้อันตรายอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่อาจทำลายอารยธรรมของมนุษย์ลงโดยสิ้นเชิงก็ได้ ดังนั้น หนึ่งในเป้าหมายการศึกษาที่ท่านเหล่านั้นเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเตรียมตัวรับอนาคตแห่งเวลาว่างที่ล้นเกินคือวิชาที่ปัจจุบันเรียกว่ามนุษยศาสตร์ครับ คนควรมีความสามารถจะรื่นรมย์กับงานของเช็กสเปียร์, ร่วมถกเถียงอภิปรายประเด็นทางปรัชญาและการเมืองไปกับเพลโตและอริสโตเติลได้, ดูหนังดูละครที่ไม่จบลงที่เพลงสรรเสริญพระบารมี แต่ติดอยู่ในหัวและใจสืบมาอีกนาน, ฟังเพลงที่ซับซ้อนทั้งเทคนิคและเนื้อหาเป็น ฯลฯ

ผมฟังดูเหมือนกับว่า เมื่องานไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งช่วงชั้นของคนได้ เพราะทุกคนทำเพียงนิดเดียวในชีวิตประจำวัน ซ้ำรัฐยังประกันรายได้ขั้นต่ำให้อีก จึงเหลือแต่เวลาว่างเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ว่าใครสูงใครต่ำ

อย่างไรก็ตาม ผมสงสัยว่ารากฐานความคิดของท่านเหล่านั้นก็คือ โลกอนาคตคือโลกที่เครื่องจักรสามารถผลิตอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยได้เหลือเฟือ จึงไม่จำเป็นต้องคิดถึงการแบ่งปันมากนัก อย่างไรเสียทุกคนก็จะมีกินมีใช้

แต่นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันบอกว่า ชนเผ่าที่ยังเลี้ยงชีพด้วยการเร่ร่อนหาอาหารในป่า ล้วนมีเวลาว่างมากกว่าผู้คนส่วนใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์หลายเท่าตัว ผมอยากจะเสริมด้วยว่า ซ้ำยังมีคนหิวน้อยกว่า หรืออาจไม่มีเลยด้วย เรื่องของการแบ่งปันจึงมีความสำคัญในคลื่นลูกใหม่ไม่น้อยไปกว่าการผลิต