เมื่อเราไม่ด้อยค่ากัน (1)/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เมื่อเราไม่ด้อยค่ากัน (1)

 

ปลาตัวหนึ่งบอกกับปลาอีกตัวที่ว่ายอยู่ในสายน้ำเดียวกันว่า ‘ข้างบน’ นั้นมีโลกอีกแบบหนึ่งซึ่งหน้าตาแตกต่างไปจากโลกที่พวกเราอยู่

โลกใบนั้นมีท้องฟ้าและก้อนเมฆ มีต้นไม้ ดอกไม้ มีภูเขา และมีสรรพสัตว์หน้าตาแปลกประหลาดที่บรรดาปลาไม่เคยพบเคยเห็น

เจ้าปลาที่เป็นผู้ฟังส่ายหัวยิกแล้วบอกว่าอย่ามาโม้ ไม่มีโลกแบบที่ว่ามาหรอก โลกมันก็เป็นแบบที่เห็นนี่แหละ ตั้งแต่เกิดมาจนแก่ฉันก็เห็นว่าโลกมันก็หน้าตาแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้นี่แหละ

ปลาที่แหวกว่ายในสายน้ำย่อมเชื่อว่าโลกใต้น้ำคือ ‘ทั้งหมด’

บางคนจึงเปรียบเทียบว่า หากเราอยากจินตนาการถึง ‘โลกแบบอื่น’ ที่แตกต่างออกไป เราจำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจในการรวบรวมแรงพลังบวกจินตนาการในการ ‘กระโดด’ ออกจากแหล่งน้ำเดิม โผล่เหนือน้ำ ลอยตัวขึ้นกลางอากาศแล้วจึงเห็น ‘โลกแบบอื่น’ ที่ไม่เคยเชื่อว่ามีอยู่จริง

มนุษย์ก็เหมือนปลาในแหล่งน้ำ เราเติบโตมาในโลกแบบใดแบบหนึ่ง ใช้ชีวิตเนิ่นนานเสียจนหลงเชื่อไปว่านี่คือความจริงหนึ่งเดียว

และโลกก็เป็นเช่นนี้แล

เฟรเดริก ลาลู (Frederic Laloux) นักคิดและผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมชาวเบลเยียม รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการองค์กรของมนุษย์แล้วเล่าผ่านหนังสือ Reinventing Organizations ไว้อย่างน่าสนใจถึงวิวัฒนาการของระดับจิตสำนึกของสังคมมนุษย์อันนำไปสู่กระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันในการจัดการองค์กรในแต่ละยุคสมัย

โลกเปลี่ยน โครงสร้างสังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยนตาม จึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมที่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้านั้น

เขาไล่เรียงยุคสมัยตั้งแต่กระบวนทัศน์แบบอินฟราเรด (100,000-50,000 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นช่วงที่มนุษย์อยู่รวมกันในหมู่เครือญาติ มีสมาชิกไม่กี่สิบคน

หากสมาชิกมากกว่านั้นสังคมจะเริ่มพังทลาย ความเป็นตัวตนยังไม่สมบูรณ์ ผู้คนไม่ได้มองตัวเองแยกขาดจากคนอื่นหรือจากธรรมชาติ อัตราการฆาตกรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นมากมาย ไม่มีการแบ่งงานใดๆ ไม่มีโมเดลขององค์กร ไม่มีการแบ่งลำดับชั้นภายในกลุ่ม ไม่มีผู้นำหรือผู้อาวุโส

เป็นสังคมขั้นพื้นฐานมากๆ

กระบวนทัศน์สีม่วงแดง (ประมาณ 15,000 ปีก่อน) เริ่มรวมกันเป็นเผ่า สมาชิกหลักร้อย มนุษย์มองตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ไม่มีความคิดเชิงเหตุผลมากนัก จักรวาลเต็มไปด้วยสิ่งลึกลับและเวทมนตร์ สภาพอากาศที่เลวร้ายคือการลงโทษของภูตผีจากการที่ฉันทำตัวไม่ดี

เริ่มมีผู้เฒ่า พ่อมด หมอผี ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน อาจมีอดีตบ้าง แต่ไม่สามารถวางแผนเพื่ออนาคต หากทำได้ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีการคิดเชิงนามธรรม แยกประเภท

ความตายไม่ถูกมองเป็นเรื่องจริงจังนัก

ความเป็นองค์กรยังไม่ปรากฏ

 

กระบวนทัศน์สีแดง (ประมาณ 10,000 ปีก่อน) จุดเริ่มอาณาจักร องค์กรรูปแบบแรกเกิดขึ้น ความเป็นตัวตนเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ผู้คนมองตัวเองแยกขาดจากคนอื่นและโลกอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่ตามมาคือความหวาดกลัว ความตายจึงกลายเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมาแล้ว

โลกถูกมองเป็นสถานที่อันตราย ฉันต้องแข็งแกร่ง สิ่งที่มีค่าคืออำนาจ ถ้ามีอำนาจก็สั่งคนอื่นให้ทำตามได้ ถ้าไม่มีก็ต้องยอมทำตามคนอื่นแลกกับความหวังว่าผู้มีอำนาจจะดูแลเรา มีการให้รางวัลคนที่ทำตามและลงโทษคนที่ฝ่าฝืน

เกิดแนวคิดขั้วตรงข้ามขึ้น ขาว/ดำ ถูก/ผิด ดี/ชั่ว กู/มึง เริ่มมีการแบ่งงาน มีพระราชา ทหาร พ่อค้า แรงงานทาส

สภาพแวดล้อมในสังคมแบบสีแดงเต็มไปด้วยอันตราย เป็นสนามรบ สงคราม คุก หรือพื้นที่รุนแรง

รูปแบบองค์กรที่เกิดขึ้นเหมือนฝูงหมาป่า ที่จ่าฝูงต้องคอยส่งเสียงขู่แสดงอำนาจตลอดเพื่อให้ตัวอื่นกลัวเกรง ห้อมล้อมด้วยสมาชิกในครอบครัวหรือคนที่ไว้ใจ หากได้อะไรมาก็แบ่งให้มิตรสหายเพื่อซื้อใจและสร้างสัมพันธ์ อำนาจเกิดจากผลประโยชน์

ผู้นำแบบสีแดงจึงใช้ความกลัวในการปกครอง

กระบวนทัศน์สีเหลืองอำพัน สังคมวิวัฒน์มาจนถึงการมีรัฐ เกิดสถาบันต่างๆ ระบบราชการ องค์กรศาสนา ฯลฯ เหล่านี้นำมาซึ่งกรอบกติกาเพื่ออยู่ร่วมกัน ราว 4,000 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมต่างๆ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เมโสโปเตเมียไล่เรียงเรื่อยมา

เมื่อองค์กรลักษณะนี้เกิดขึ้น มนุษย์เริ่มใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากแบบสีแดง (กูถูก-มึงผิด) มาเป็นการคิดแบบกลุ่ม ให้ความสำคัญกับกลุ่มก้อนของตัวเอง สมาทานตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น

เช่น กลุ่มความเชื่อ กลุ่มศาสนา กลุ่มประเทศชาติ กลุ่มเผ่าพันธุ์

ซึ่งถ้าคุณเชื่อแบบเดียวกับฉัน-เราพวกเดียวกัน แต่ถ้าแกเชื่อต่างจากฉันก็ต้องมีอันเป็นไป เพราะแกคือพวกนอกรีต ต่างชาติ ต่างด้าว ฯลฯ

โลกทัศน์แบบสีเหลืองมีลักษณะแน่นิ่งตายตัว มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ทำผิดต้องโดนขับออกจากกลุ่ม สิ่งที่ต่างมาคือมีการแบ่งชนชั้นทางอำนาจตามระเบียบที่แน่นอน เพราะโลกทัศน์แบบนี้เชื่อว่าเสถียรภาพเกิดจากระบบระเบียบที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม จึงเกิดวรรณะที่คอยกำหนดว่าแต่ละคนควรคิด แต่งกาย กินอะไร รวมถึงแต่งงานกับใคร โลกแบบสีเหลืองย่อมกระทบกับคนที่มีอำนาจด้อยกว่าเช่นคนจน ผู้หญิง เพศหลากหลาย คนวรรณะล่าง หรือนักคิดที่เป็นขบถ แน่นอนว่ายูนิฟอร์มหรือเครื่องแบบต่างๆ ย่อมมาพร้อมโลกทัศน์แบบนี้ เพื่อให้มองเห็นแต่ไกลว่าใครใหญ่ใครเล็ก ใครมีบทบาทหน้าที่แบบไหน

องค์กรแบบสีเหลืองบริหารแบบ Top-down จากยอดพีระมิดสู่ฐานพีระมิด ให้รางวัลคนทำถูกใจ ลงโทษคนขัดใจ

โดยมองว่าผู้คนในองค์กรหรือสังคมส่วนใหญ่ขี้เกียจ ไม่ซื่อสัตย์ จึงต้องถูกกำกับควบคุม

มองผู้คนเป็นทรัพยากร ความสามารถของปัจเจกไม่ได้รับความสนใจให้พัฒนามากนัก

ผู้คนที่ฐานล่างพีระมิดจึงต้องทำงานซ้ำๆ

เฟรเดริก ลาลู บอกว่า ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้เราต้องยอมแลกความปรารถนาที่แท้จริงของเราเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับของสังคม ตัวตนที่ผู้คนเห็นจึงเป็นตัวตนในแบบที่สังคมคาดหวัง

เรายอมเสียความต้องการส่วนตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เพื่ออยู่รอดและเติบโต พนักงานต้องเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

ประชาชนต้องเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติ

ชีวิตคาดหวังกับการถูกจ้างงานตลอดชีพ อาจมั่นคงในชีวิตแต่ก็เจ็บปวดทุกข์ทนจากระบบที่ตนไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย

 

กระบวนทัศน์สีส้ม โลกไม่ได้ตายตัวอีกต่อไป ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ คุณค่าไม่ได้ยึดโยงกับศีลธรรมมากเท่าประสิทธิผล เป้าหมายหลักคือผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ชีวิตคือการพัฒนาไปสู่จุดที่นำหน้าคนอื่น ประสบความสำเร็จ สร้างกำไรสูงสุด

สังคมมนุษย์ก้าวมาถึงจุด ‘วัยรุ่น’ ที่ตั้งคำถามกับระบบเก่า กฎระเบียบต่างๆ จินตนาการถึงโลกที่ต่างจากเดิม ด้วยวิธีคิดว่า “มันต้องแบบนั้นเท่านั้นหรือ” และ “มันเป็นแบบอื่นได้ไหม” นี่คือยุคแห่งเหตุผลและการปฏิวัติ

ผู้มีอำนาจถูกตั้งคำถาม สถานะโดยกำเนิดเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายาม สิ่งเหล่านี้มีมาตลอดประวัติศาสตร์ ชัดเจนขึ้นในสมัยเรอเนสซองส์ ต่อมาถึงยุคเรืองปัญญา ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ปฏิวัติอุตสาหกรรม การคิดแบบสีส้มนี้เกิดขึ้นพร้อมกับชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองจากจนกลายเป็นรวยได้ นำมาซึ่งความคิดทำนองว่า ‘ความสำเร็จขึ้นอยู่กับตัวเรา’

แล้วทุกสิ่งอย่างก็ถาโถมมาพร้อมกัน การให้ความสำคัญกับตัวเอง ปัจเจกนิยม ไล่ล่าความสำเร็จ พัฒนาตัวเอง self-help ทำกำไรสูงสุด บริโภควัตถุสิ่งของเพื่อยืนยันความสำเร็จ รถหรู บ้านสวย นาฬิกาแพง โอมากาเสะ ศัลยกรรมให้สวยหล่อที่สุด ออกกำลังกายให้ดูดีมีซิกซ์แพ็ก เน้นสิ่งที่จับต้องได้ที่สามารถฉายภาพ

ความสำเร็จของบุคคลหนึ่งให้โลกรับรู้นำไปสู่วิธีคิดแบบวัตถุนิยม และวิธีคิดแบบ ‘ยิ่งเยอะยิ่งดี’ ใช้ชีวิตอยู่กับอนาคตตลอดเวลา

โดยเชื่อว่า พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้, เป้าหมายมีไว้พุ่งชน, ดีกว่าเป็นอุปสรรคของดีที่สุด, จงเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง, ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น, ฯลฯ อีกมากมาย

โลกทัศน์เช่นนี้พาเราไปที่ไหน?

ธรรมชาติถูกย่ำยี มนุษย์สูบกินสิ่งแวดล้อมจนพิกลพิการ เกิดความเครียด โดดเดี่ยว เหงา ซึมเศร้า วิตกกังวล แต่ละคนค่อยๆ ค้นพบว่าความสำเร็จและตัวเลขในบัญชีที่มากล้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุข กลับรู้สึกว่างเปล่าเหมือนคนปีนป่ายขึ้นสู่ยอดเขาแล้วตอบตัวเองไม่ได้ว่าขึ้นมาทำไม

แถมเส้นทางที่พาบริษัทต่างๆ ไปสู่เป้าหมายก็แลกมาด้วยการวิ่งเต้นกับรัฐบาลให้ออกนโยบายที่ตนได้ประโยชน์ คอร์รัปชั่น หนีภาษี เอาเปรียบคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน

และโลกใบนี้ โลกแบบสีส้มเหมือนเดินมาเจอทางตัน

 

กระบวนทัศน์สีเขียว เมื่อรู้แล้วว่าการมุ่งเน้นความสำเร็จไม่ได้ผล แถมยังมีผลร้ายตามมาจากด้านมืดของมัน กระบวนทัศน์ที่วิวัฒน์ต่อมาจึงสนใจเรื่องความรู้สึกของผู้คน มุ่งเน้นความสัมพันธ์ เคารพความแตกต่าง ให้คุณค่ากับความเท่าเทียม ซึ่งจะว่าไปก็เป็นคุณค่าที่มีมาเนิ่นนานและวิ่งคู่ขนานมากับกระบวนทัศน์แบบอื่น นั่นคือแนวคิดที่สนับสนุนการเลิกทาส ให้อิสระและสิทธิกับเพศหญิง อิสระในการนับถือศาสนา และความเป็นประชาธิปไตย

มันค่อยๆ ปรากฏขึ้นในองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในหมู่คนทำงานเพื่อสังคมที่เน้นความสัมพันธ์มากกว่าผลลัพธ์ วิธีนี้อาจต้องใช้กระบวนการยาวนานกว่าจะได้ผลลัพธ์ เพราะต้องรับฟังเสียงที่หลากหลาย ให้ความสำคัญเท่าๆ กัน

นี่คือวิธีคิดแบบพหุนิยม (ตรงข้ามกับปัจเจกนิยม) ผู้นำจึงกลายมาเป็นผู้รับใช้และดำเนินให้กระบวนการเป็นไปโดยดี ไม่ใช่สั่งการลงมาจากความคิดของตัวเองแบบเดิม การทำงานก็มองภาพกว้าง เห็นถึงผลกระทบที่มีต่อคนอื่นและสิ่งอื่น เช่น สิ่งที่บริษัทจะทำออกมาจะกระทบสังคมยังไงบ้าง มีความใส่ใจต่อเพื่อนร่วมงาน พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนท้องถิ่น สังคม และสิ่งแวดล้อม

ตัดสินใจโดยต้องการให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และเติบโตไปด้วยกัน