ปฏิรูปตำรวจ…ทำไมช่างยากเย็น? กมธ.ตร. ‘ทวี สอดส่อง’ มีคำตอบ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ผู้ที่เคยอยู่ในวงการสีกากี มีมุมมองเรื่องการปฏิรูปตำรวจ

ตำรวจเป็นอาชีพเดียวที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนและประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และทุกวัน เป็นอาชีพเดียวที่มีลักษณะพิเศษ เพราะฉะนั้น เวลาจะพูดถึงการปฏิรูป ฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายเลย

เราเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศไทยที่ประสบปัญหานี้ เมื่อปีก่อนกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ก็ดังไปทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ประเทศเราพยายามเรียกร้องก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชนจริงๆ แต่การจะเป็นเช่นนั้นได้เราก็ยังห่างไกล เพราะว่าการจัดโครงสร้างของตำรวจ เราหนีไม่พ้นของเรื่องชั้นยศซึ่งเหมือนกับทหารและโครงสร้าง เหมือนกับกองทัพ โครงสร้างในลักษณะนี้เหลือน้อยในประเทศบนโลกนี้แล้ว แต่เรายังคงใช้อยู่

ผมอยากจะให้มองปัญหาว่าปัญหาที่เกาะกินวงการตำรวจมากปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องของการรวมศูนย์ เป็นระบบราชการ ลักษณะเหมือนทหาร แต่งานตำรวจมันต้องจบกันที่โรงพักทุกอย่าง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเรื่องที่ต้องเกิดและจบที่โรงพัก

แต่พอเรามาไล่ดูโครงสร้างตำรวจมันยาวไปหมด จะมีทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มี ผช.ผบ.ตร. ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้สัมผัสประชาชน

จึงทำให้หลายทศวรรษที่ผ่านมาตำรวจเราเหมือนเข้าไปอยู่ในวังวนของคำว่าทรงกับทรุดเท่านั้น น้อยครั้งที่จะดูดีขึ้นมาได้

สาเหตุที่บอกว่ามีทรงกับทรุด ประการสำคัญอันดับแรกคือ “ความเสื่อม” ที่นำมาสู่องค์กรคือการมีอิทธิพลของผู้มีอำนาจระดับประเทศ เข้ามาครอบงำวงการตำรวจ โดยเฉพาะการแต่งตั้ง

ดังนั้น การจะทำเพื่อให้ประชาชนทั้ง 66 ล้านคนรักยากเพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับผู้มีอำนาจเลย หากผู้มีอำนาจเห็นว่าบุคคลที่จะเข้ามาควบคุมนั้นไม่สามารถจะหาผลประโยชน์-รักษาอำนาจตัวเองได้

ประเด็นต่อมาคือ ความอ่อนแอของผู้นำตำรวจเกิดขึ้นเพราะ ตร.มีสถานะหลายสถานะ ทั้งการเป็นบุคคลในกระบวนการยุติธรรม เป็นบุคคลรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ต่างๆ มากมายเต็มไปหมด

อีกประการที่ทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นยากหนึ่งก็คือ เรามีกลุ่มคนที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากข้าราชการตำรวจในหลายๆ ระดับ ไปจนถึงระดับสูงๆ นี่ เป็นเรื่องของระบบที่เราต้องยอมรับ

อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะต้องยอมรับว่า กลุ่มข้าราชการตำรวจที่ทำงานหนักเสมือนกรรมกร และต้องไปดูแลประชาชน ก็คือสายตรวจที่เป็นกระดูกสันหลัง สายสืบสวน งานสอบสวน งานจราจร งานบริการประชาชน เราปล่อยให้เขาอยู่ตามยถากรรม เราไม่เคยไปดูแลเรื่องสวัสดิการความก้าวหน้าของพวกเขาเท่าที่ควรเลย

สิ่งสุดท้ายที่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือการบริหารงานตำรวจ ขาดวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ที่ชัดเจน บางคนคิดเพียงแค่ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองได้ก้าวหน้า แต่เป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ที่ว่านี้คือ ถ้าตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ก็ต้องมี “ความเป็นธรรม” หรือถ้าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสงบ ก็ต้องทำอย่างไรให้รู้สึกว่ามีหน้าที่ “บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน”

นี่คือภาพรวมของตำรวจ ที่อยากให้เห็น

 

สําหรับการปฏิรูปตำรวจ พ.ต.อ.ทวีบอกว่า ผมอยากจะบอกรัฐบาลประกาศเป็นวาระว่าจะมีการปฏิรูปให้เสร็จภายใน 1 ปีหลังจากมีรัฐธรรมนูญ วันนี้เองก็เลยมา 4 ปีกว่าแล้ว ยังไม่ไปไหน คือตำรวจเป็นอะไรที่โชคร้าย เวลาจะมีการปฏิรูปก็จะเอาคนที่เข้าใจว่าเป็น “คนดี” เอามานั่งคิดนั่งทางใน ใช้จินตนาการของตัวเอง แล้วมากำหนดว่าตำรวจควรจะต้องเป็นอย่างไร

แล้วส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ก็เป็นนักนิติศาสตร์ แต่ว่างานของตำรวจมันมีหลายส่วนมาก มันมีทั้งอาชญาวิทยา มีทั้งงานสังคมสงเคราะห์ เป็นทั้งผู้บําบัดทุกข์บํารุงสุขให้พี่น้องประชาชน การที่เอานักนิติศาสตร์ไปเป็นนักอาชญา หรืองานตำรวจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ เอาคนนิติศาสตร์มานั่งคิดเรื่องวิทยาศาสตร์ ในที่นี้เหมือนโซ่ตรวนมัดมือมัดเท้าองค์กรตำรวจ

ตอนนี้การปฏิรูปในที่ประชุม กมธ.ตร.ก็คุยกันถึงหมวดที่ 3 เรื่องของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ในอดีตมี 2 คณะ แต่ในครั้งนี้จะเอามารวมกัน ในฉบับปัจจุบัน คณะกรรมาธิการปัจจุบันทราบดีว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเสียงเรียกร้องของประชาชน เราก็อยากให้ตำรวจได้รับระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่ดี ก็ต้องปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดจากตำรวจ นี่เป็นโจทย์สำคัญ เราก็พยายามเอาผลประโยชน์ของประชาชนเข้ามาเป็นตัวตั้ง

ภาพตำรวจจะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนของโครงสร้าง กับส่วนที่เป็นสภาพแวดล้อม คือเราจะทำอย่างไรให้ตำรวจเป็นของประชาชน อย่างน้อยที่สุด ในบรรดาคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของตำรวจก็คือการเป็นผู้นำ การเป็นผู้กำกับ ทำอย่างไรจะให้คนเหล่านี้ไม่ห่างจากประชาชน ให้ประชาชนได้มีโอกาสติดตามประเมินผล

และทำอย่างไรจะต้องเอาปัญหาชุมชนท้องถิ่นมาพูดคุย หรือการกระจายอำนาจ

ทุกวันนี้ไม่มีประโยชน์หรอกที่จะทำให้อำนาจมาอยู่ที่ส่วนกลาง บางส่วนไม่เคยสัมผัสประชาชน ซึ่งโครงสร้างตำรวจในระยะหลังๆ ก็แย่มาก ไปให้มีสำนักงานเต็มไปหมด แล้วก็ไปสร้างกองบัญชาการขึ้นมามากมาย มาอยู่ใต้โครงสร้างนี้

 

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่มีความสำคัญกับประชาชน แม้จะรักจะเกลียดจะไม่ชอบ แต่เมื่อมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งที่ท่านจะคิดถึงเป็นคนแรก ก็คือตำรวจ วันนี้คณะกรรมาธิการพยายามอย่างมากที่อยากจะส่งคืนตำรวจไปให้กับประชาชน โดยเขียนเป็นกฎหมายล็อกเอาไว้ ว่าเสียงประชาชนคือ เสียงสวรรค์ที่สำคัญที่สุด

ที่สำคัญตำรวจไม่ควรมีดุลพินิจเยอะจนเกินไป ดุลพินิจสำคัญของตำรวจก็คือกฎหมาย แต่ปัญหาของประเทศเราก็คือกฎหมายบางช่วงถูกออกมาโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจ จึงไม่อยากเห็นตำรวจเอากฎหมายเล็กมาใหญ่กว่า “รัฐธรรมนูญ”

อย่างเช่น สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธโดยสงบต้องทำได้ เพราะเสียงเหล่านี้คือเสียงที่ทรงพลัง กว่าที่คนจะเดินทางก็มาเรียกร้องในสิ่งที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ในสิ่งที่ต้องการให้ประเทศดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น

แต่พอเห็นภาพของตำรวจไปดำเนินการกับประชาชนในลักษณะรุนแรง ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจ เสมือนเป็นผู้รับใช้ผู้มีอำนาจจนเกินไป ก็ผิดหลักของตำรวจ

 

ส่วนมุมมองต่อคดีอดีตผู้กำกับโจ้ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ถ้าในทางปฏิบัติ ผมคิดว่ากรณีนี้ตำรวจจะต้องไม่สอบสวนเอง ต้องโยนไปให้ DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวน แม้ว่าจะมีคนไว้ใจหรือไม่ไว้ใจ แต่มันเป็นอีกองค์กรหนึ่ง ไม่ควรที่จะสอบสวนเองเพราะการสอบสวนเอง มองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนได้

ถึงแม้ผู้บัญชาการตำรวจทุกคนจะพูดตัวผมเองก็รักวงการ แล้วไม่อยากเห็นความเสื่อมศรัทธามากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เราเกิดการยอมรับได้มีความเชื่อมั่นได้จะต้องส่ง เรื่องให้หน่วยนอกและต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีข้อมูลข่าวสาร มีหลักฐาน โดยเข้าไปคุ้มครองเขาเพราะคนที่ออกมาให้ข้อมูลเขาก็กลัวตายก็อยากให้มีการคุ้มครองพยาน แล้วก็ใช้กรณีนี้เป็นบทเรียนอย่าให้มันเกิดซ้ำขึ้นอีก ซึ่งพวกเราก็พูดกันมาตลอดแต่มันก็ยังมีเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ก็อยากให้กำลังใจตำรวจ ผมก็เชื่อว่าส่วนที่ดีที่ยังมีอยู่มาก ผมคิดว่าส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้

ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ควรจะสอบสวนเรื่องนี้เอง ยิ่งการที่ไปแสดงอะไรมากว่าจะให้ความเป็นธรรม กับเรื่องนี้มากจนเกินไป อาจจะเป็น 2 มาตรฐาน ว่าทำไมคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไม ผบ.ตร.ไม่มานั่งแสดง ไม่สนใจส่วนนั้นบ้าง

ผมคิดว่ายังไม่สายไปที่จะส่งให้กระทรวงยุติธรรมไปดำเนินการตรงนี้

ผมยังเชื่อว่าองค์กรตำรวจดูดีขึ้นได้ ทำอย่างไรให้ตำรวจทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ทำอย่างไรให้ตำรวจเป็นวิชาชีพ ซึ่งคำว่าวิชาชีพต่างกับอาชีพ เพราะอาชีพไปเกี่ยวข้องกับคำว่ากำไร-ขาดทุน แต่วิชาชีพจะต้องมีศีลธรรมจรรยา ก็ต้องทำไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

เพื่อสังคมได้รับความเป็นธรรม

ชมคลิปสัมภาษณ์