Well-being washing : ออฟฟิศยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

Portrait from back of tired students stretching after long work. Indoor photo of office workers fooling around during meeting in conference hall with big windows.

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Well-being washing

: ออฟฟิศยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว

 

คําว่า washing ที่ไม่ได้ใช้เพื่อสื่อถึงความหมายของการซักล้างทำความสะอาดโดยตรงที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ น่าจะมีอยู่สองคำ สองสี คือ Whitewashing กับ Greenwashing

Whitewashing หมายถึงการปกปิดหรือใช้ข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิดมากลบทับพฤติกรรมแย่ๆ ในขณะที่ Greenwashing ก็เป็นการเล่นคำต่อมาจาก Whitewashing อีกที คือแทนที่จะเป็นสีขาว ก็เปลี่ยนให้เป็นสีเขียว และใช้เพื่อสื่อถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบหลอกลวงและฉาบฉวย

Greenwashing เป็นศัพท์ที่ใช้พูดถึงนโยบายการตลาดหรือประชาสัมพันธ์ที่บริษัทต่างๆ ใช้เพื่อหลอกให้สาธารณชนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าความเป็นจริง

อย่างเช่น การบอกว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองทำมาจากวัสดุรีไซเคิลหรือมีความสามารถในการช่วยประหยัดพลังงาน โดยที่เบื้องหลังคำกล่าวอ้างนั้นอาจจะเป็นจริงเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น

แต่วัตถุประสงค์คือตั้งใจให้ผู้บริโภคเชื่อแบบเต็มๆ และซื้อของของตัวเองได้อย่างสนิทใจมากขึ้น

ถึงแม้ greenwashing จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทจำนวนมากจึงมองเห็นลู่ทางทำกินว่าถ้าหากสามารถทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งชนะใจผู้บริโภคได้มากขึ้นเท่านั้น

ก็เลยมีการกระทำที่เข้าข่าย greenwashing เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

สาเหตุที่หยิบยกสองคำนี้ขึ้นมาเกริ่นก็เพื่อปูพื้นให้เข้าใจความหมายของการใช้คำว่า washing ซึ่งในตอนนี้ก็มีคำศัพท์ใหม่อีกคำที่งอกเงยขึ้นมาจากคำนี้ และเป็นสิ่งที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ คำนั้นก็คือ well-being washing ค่ะ

หากพูดถึงคำว่า well-being washing ในแบบที่ยังไม่ขยายความใดๆ คุณผู้อ่านก็อาจจะพอนึกภาพออกว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างภาพบางอย่างเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นอยู่หรือสวัสดิภาพในรูปแบบที่แตกต่างจากความเป็นจริง

และน่าจะเป็นไปในแนวทางที่ความเป็นอยู่ไม่ดีแต่ถูกกลบเกลื่อนให้รู้สึกว่าดีอะไรทำนองนั้น

ซึ่งหากเดามาทางนี้ก็จะถูกต้องตรงเป๊ะเลยล่ะค่ะ

คนยุคใหม่ถูกทำให้เข้าใจว่าบริษัทที่ดีจะต้องมาพร้อมกับออฟฟิศเท่ๆ ที่มีสวัสดิการแปลกใหม่ที่บริษัทรุ่นเก่าไม่มี

อย่างเช่น การที่ออฟฟิศตกแต่งด้วยสีสันที่แสนสนุก มีสไลเดอร์ โต๊ะสนุ๊ก โต๊ะฟูสบอล ห้องเล่นเกม ห้องโยคะ ฟิตเนส บีนแบ็ก อาหารเช้า เที่ยง เย็น ฟรี ขนมขบเคี้ยวที่เดินไปหยิบเมื่อไหร่ก็ได้ กาแฟหรือสมูธตี้ให้เติมพลังยามสายและยามบ่าย โต๊ะปรับระดับได้ ไปจนถึงห้องคาราโอเกะหรือห้องงีบ

โดยที่ผู้นำเทรนด์ก็น่าจะเป็นบริษัทในแวดวงเทคโนโลยีที่ริเริ่มไอเดียการทำออฟฟิศสมัยใหม่อันเต็มไปด้วยสิ่งดึงดูดให้พนักงานรู้สึกว่าเส้นแบ่งระหว่างบ้านและที่ทำงานจางลงเรื่อยๆ

จนกลายเป็นเทรนด์ระดับโลกที่บริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็หันมาเลียนแบบบ้าง

แนวคิดการทำออฟฟิศให้ “สนุก” และ “ครบพร้อม” แบบนี้ฮอตฮิตมากในช่วงแรกๆ และอันที่จริงก็ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับหลายๆ คนในการที่จะเลือกบริษัทที่อยากจะเข้าทำงานด้วยเลยทีเดียว

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผนวกกับการมาถึงของไวรัสระบาดก็ทำให้หลายๆ คนเริ่มมองเห็นภาพว่ากิมมิคแสนสนุกที่ได้รับจากออฟฟิศแบบนี้ หากไม่ได้มาพร้อมกับเงื่อนไขการทำงานที่ยุติธรรมและมีสมดุล

มันก็คือ well-being washing ดีๆ นี่เอง

 

เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด พนักงานทั่วโลกจำเป็นต้องหยุดการเข้ามาทำงานออฟฟิศและเริ่มทำงานจากที่บ้าน

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพนักงานค่อยๆ ตระหนักว่าความต้องการในการทำงานทั้งหมดถูกลดลงเหลือสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากที่สุด ซึ่งก็อาจจะมีแค่คอมพิวเตอร์สักเครื่องที่มาพร้อมกับโปรแกรมที่ตัวเองต้องใช้ทำงานแค่นั้นเอง ไม่มีอีกแล้วที่จะต้องเสียเวลาตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสองไปกับการกินอาหารฟรีแล้วต่อด้วยการแทงสนุ้กกับเพื่อนร่วมงาน หรือการเข้าคลาสโยคะตอนเย็นๆ กับเพื่อนจากอีกแผนก

สิ่งที่พื้นฐานที่สุดที่พนักงานต้องการจึงกลับมาเด่นชัดอีกครั้ง นั่นก็คือจำนวนชั่วโมงการทำงานที่สมเหตุสมผลและสวัสดิการที่ดีนั่นแหละ

ในสมัยที่ยังต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน การได้คุยโม้ว่าที่ออฟฟิศมีอะไรเท่ๆ บ้างก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจไม่หยอก

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ทุกคนกลับมาตั้งต้นเท่ากันก็คือการจะทำงานอยู่ที่บ้านอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สิ่งที่เคยสำคัญในอดีตก็ดูเหมือนจะด้อยค่าลงไปโดยสิ้นเชิง

ยังไม่นับรวมถึงความกดดันของการต้องทำตัวเองให้กระตือรือร้นในการเข้าสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติของบริษัทในแนวสตาร์ตอัพที่จำเป็นต้องพรีเซนต์ภาพลักษณ์ของการเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นมิตร กระฉับกระเฉง ชอบปาร์ตี้ เคลื่อนไหวคล่องแคล่วตลอดเวลา และที่สำคัญจะต้องทำงานหนักด้วย

AFP บอกว่า อดีตพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเล่าให้ฟังถึงแรงกดดันที่มาพร้อมกับการทำงานก็คือจะต้องทำตัวเองให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบริษัทให้ได้ อย่างเช่น ต้องทำตัวเท่ให้สมกับได้ทำงานที่บริษัทแห่งนี้ ต้องปาร์ตี้หนักหน่วงและต้องทำแม้กระทั่งเสพยาเสพติด

แต่เบื้องหลังฉากหน้าของการเป็นบริษัทที่แสนเท่ ก็คือด้านมืดของการทำงานหนักชนิดที่แทบไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน

การสำรวจในฝรั่งเศสระบุว่าพนักงานเกือบครึ่งยอมรับว่าตัวเองรู้สึกเครียดจากการทำงานอย่างหนักแม้ว่าบริษัทที่ทำงานด้วยจะมีภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทที่แสนจะคูลและมีบรรยากาศดีๆ ในออฟฟิศ

ซึ่งความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ชีวิตดีๆ ที่บริษัทพยายามโปรโมตกับชีวิตจริงที่พนักงานทำงานหลังแทบหักนี่แหละที่เข้าข่ายศัพท์คำใหม่ well-being washing

 

หลังเกิดเหตุการณ์โรคระบาดขึ้นมา คนรุ่นใหม่ก็เริ่มจะค่อยๆ ได้เบิกเนตรและมองเห็นความเป็นจริงว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราทุกคนต้องการไม่ใช่ขนมขบเคี้ยวที่หยิบเมื่อไหร่ก็ได้ วันหยุดสำหรับคนอกหัก หรือของขวัญวันเกิดจากซีอีโอ และจะไม่ยอมทนทุกข์ทรมานจากการทำงานหนักแบบเงียบๆ อีกต่อไป

แต่สิ่งที่เคยถูกมองว่าเชยแสนเชยไปแล้วอย่าง work-life balance หรือความสมดุลของชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวนี่แหละที่จะกลับมาเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในที่ทำงานที่ลึกซึ้งมากกว่าการได้แทงสนุ้กด้วยกันแป๊บๆ

ดังนั้น บริษัทไหนก็ตามที่กำลังวางแผนจะทำออฟฟิศที่เต็มไปด้วยกิมมิคแบบนี้อาจจะต้องหยุดนิดหนึ่งเพื่อประเมินใหม่ว่าสถานการณ์ในตอนนี้เปลี่ยนไปจากเดิมแค่ไหน

กิมมิกที่อยากได้นั้นมาพร้อมกับชั่วโมงการทำงานที่สมดุลด้วยหรือไม่ และอะไรกันแน่ที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับพนักงานของตัวเอง

แล้วนำงบประมาณที่จำเป็นไปลงตรงนั้นแทน