อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (27) หนังสือสัญจรของพี่หลวง (4)

 

In Books We Trust (27)

หนังสือสัญจรของพี่หลวง (4)

 

“เจ้าต้องเข้าใจว่าแม้การปีนป่ายขึ้นสู่ยอดเขาก็หาได้มีเพียงเส้นทางเดียว”

มิยาโมโตะ มุซาชิ

 

“การกลับมาขายของด้วยรถเข็นอีกครั้งแม้ว่าจะเป็นหนังสือ เป็นสิ่งที่เรารักและชอบ แต่มันก็ซ้ำรอยเดิมที่หลายปีก่อนพี่หลวงเคยขายโปสเตอร์รูปดารา พี่หลวงคิดไหมว่าร้านหนังสือริมทางที่ตรอกสาเกนี่คือการกลับมาที่เดิมของเรา? เราไม่ได้ไปไหนเลย?”

“พี่หลวงไม่ได้คิดแบบนั้น เรื่องการใช้ชีวิตพี่หลวงคิดว่ามันมีแค่สองทางเลือกเท่านั้นเอง คือจะอยู่หรือตาย ถ้าจะตายก็บอกลาทุกคนและก็ไปจากโลกนี้ แต่ถ้าเราจะสู้ คิดที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เราก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด”

“มาอยู่ที่ตรอกสาเก ขายหนังสือริมทาง ต่างจากสมัยที่วางแผงขายที่ท่าช้างมากไหม?”

“มากถึงมากที่สุด แถวนี้ว่าไปแล้วน่าจะรวมวิถีชีวิตที่ครบทุกอย่าง คนเร่ร่อน คนพิการ ผู้หญิงขายบริการ คนรับจ้างรายวัน คนติดยา สารพัด เอาเป็นว่าที่นี่พี่หลวงได้เห็นคนเดินเก็บแกงบูดจากถังขยะไปกินประทังชีวิต”

“มันน่าเศร้านะทั้งที่อยู่ใจกลางเมืองหลวงด้วยซ้ำไป”

 

“พี่หลวงเห็นชีวิตแบบนั้น อยากกลับมาเขียนถึงไหม อยากเขียนบทกวีหรืออะไรที่บอกเล่าเรื่องนี้ไหม?”

“คิดนะ จริงๆ พี่หลวงเขียนเป็นบันทึกด้วยใช้ชื่อว่า ‘ณ ร้านหนังสือริมทางเท้า’ เอาเรื่องที่เราพบเจอมาเขียน แต่พอเขียนไปสักพักมันก็วุ่นไม่มีเวลา ก็เลยไม่ได้เขียนจนจบเล่ม”

“มีเรื่องอะไรที่พี่หลวงรู้สึกกับมันจนอยากเขียน?”

“มีทั้งสองแบบ แบบแรกคือชีวิตคนทั่วไป พี่หลวงอยากเขียนถึงคนรับจ้างแถวนี้ คนที่ติดยาเสพติด ทำอะไรก็ได้ ค่าแรงวันละร้อยสองร้อยก็เอาแล้ว ขอเพียงให้ได้เงินไปเสพยา พวกนี้จะเดินหางานไปเรื่อย จากหัวตรอกยันท้ายตรอก แต่ทำไม่ทนนะ พอได้เงิน ได้เสพยา ก็ไม่ทำต่อ จนหมดเงินก็หาใหม่ประมาณนี้”

“กับชีวิตที่ข้องเกี่ยวกับหนังสือ มีสองเรื่องที่อยู่ในใจพี่หลวง เรื่องแรกนี่เป็นเรื่องของคนนั่งแท็กซี่จะเอาหนังสือมาขายเรา แต่พอเขามาถึงแผง ลงจากรถ ยังไม่ทันขนหนังสือเข้าร้านเลย แค่เอาหนังสือลงจากรถ เทศกิจก็มาจับแล้ว ต่อหน้าต่อตา ยึดหนังสือไปหมด หาว่าเราทำผิดกฎหมาย ขายของริมทางเท้า เราได้แต่มอง ทั้งสองคน นี่ก็เรื่องหนึ่ง”

“อีกเรื่องคือวันหนึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่นี่แหละ มีรถเก๋งมาจอด บอกว่าอยากให้ไปดูหนังสือที่บ้านหน่อยว่าพอจะขายได้ไหม เราก็ไป บ้านเขาอยู่แถวจรัญสนิทวงศ์ ทางเดินเข้าซอยบ้านนี่หญ้าสูงเท่าหัว เข้าไปถึงเป็นบ้านไม้สองชั้น ทั้งบ้านมีแต่หนังสือ”

“พี่หลวงเหมาหมดไหมครับ?”

“มันไม่ง่ายน่ะสิ คือพอเราเข้าไปถึงรู้ว่านี่เป็นบ้านของลูกค้าเก่าคนหนึ่ง แกจะเป็นคุณลุงอายุมากแล้ว มานั่งเลือกหนังสือที่ร้านพี่หลวงบ่อยๆ มาทีละนานๆ ค่อยๆ พลิกอ่านทีละเล่ม พี่หลวงมารู้ตอนนั้นเองว่าแกเสียไปแล้ว คนมาตามให้ไปซื้อหนังสือคือลูกชายแก ทีนี้ลูกเขาเล่าว่าพ่อเป็นคนที่ชอบเอาธนบัตรสอดไว้ในหนังสือเวลาอ่าน เขาเลยจะขอค้นหนังสือทีละเล่ม เขาให้เราไปรอข้างล่าง เล่มไหนเขาค้นเสร็จแล้วเขาจะโยนลงมาให้เรา เราก็คอยรับหนังสือ สันปกหักบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็รับหมด ได้หนังสือเป็นกระสอบข้าวสารราวร้อยกระสอบเลยทีเดียว แต่นั่นหมายถึงเราต้องนัดวันไปเอาหนังสือกับเขา ไปหลายครั้งมาก”

“หนังสือพวกนี้น่าจะเอามาขายได้อีกพักเลยไหมครับ?”

“ไม่เลย เรื่องมันหักมุม หนังสือเป็นร้อยกระสอบ พี่หลวงไม่มีที่เก็บ ต้องไปเช่าห้องแถวห้องหนึ่ง จ้างเด็กเฝ้าอีก ปรากฏว่าพี่หลวงกลับไปดูหนังสือตอนหลัง เด็กที่เฝ้าเขาติดยา เขาเอาหนังสือทั้งหมดชั่งกิโลขาย ไม่เหลือแม้แต่เล่มเดียว นี่เป็นอีกเรื่องที่สะเทือนใจพี่หลวงมากๆ ในการขายหนังสือ”

“ได้ไปตามไหม?”

“ไป แต่ไม่เหลือ ร้านขายของเก่าเขาส่งไปโรงงานย่อยกระดาษหมดแล้ว”

 

“ตอนกลับมาขายหนังสือบนรถเข็นริมทางนี่พี่หลวงขายทุกวันไหม?”

“ขายทุกวัน คือเขาก็ห้ามนะวันจันทร์ แต่เราก็อดไม่ได้ มานั่งที่ร้าน นั่งเล่นมือถือ โพสต์ขายหนังสือใน facebook ไป คือชีวิตเราอยู่กับหนังสือแทบจะ 365 วันต่อปี คนนั้น คนนี้ คิดว่าวันหยุดจะไปเที่ยวไหนดี ชีวิตพี่หลวงไม่มีวันหยุด ตื่นเช้ามาก็นั่งรถมาจากบ้านแถวพุทธมณฑลสายสี่และก็อยู่ที่ร้านจนค่ำ จะไปไหนก็แค่ไปซื้อหนังสือตามบ้านที่เขาติดต่อมา ไม่มีเรื่องอื่นเลย”

“ใช้ชีวิตแบบนี้ไหม พี่หลวงถึงแต่งตัวเหมือนกันทุกวัน เสื้อแขนยาวผ้าป่าน กางเกงเลหรือกางเกงขาก๊วย ไม่เคยเปลี่ยนเลย”

“แต่งแบบนี้ทุกวันนับแต่มาเปิดร้านขายหนังสือที่ท่าช้างแบบเต็มตัว ตอนแรกที่ออกจากงานประจำก็ยังคิดนะว่าเราควรมีชุดเป็นสีสัน ชุดนั่นนี่ แต่พอขายหนังสือไป พี่หลวงก็พบว่าเราไม่มีชีวิตด้านอื่น ไม่ต้องไปงาน ไม่ต้องพบเจอใคร ก็ไปโบ๊เบ๊เลย ซื้อกางเกงขาก๊วยมายกกอง เสื้อยกกอง แต่งเหมือนกันทุกวัน พี่หลวงมองว่าเสื้อผ้ามันเป็นเรื่องภายนอก เราแค่แต่งตัวให้สะอาด เรียบร้อย ให้เกียรติคนอื่น แต่ไม่ต้องหรูหรา ไม่ต้องมีราคาแพงอะไร แต่งแบบนี้ก็ดี ทำให้เราไม่ค่อยอยากไปไหน อย่างงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ก็แทบไม่ได้ไป เว้นแต่ต้องเอาหนังสือไปส่ง”

“คือเราเหมือนคนซอมซ่อ คนอื่นมาเจอเรานอกร้านมันอาจจะไม่ดี แต่ถ้าอยู่ที่ร้าน มันเป็นตัวเรา ไม่ได้ปรุง ได้แต่งอะไร เราถือว่าเราให้ความจริงใจที่มีต่อคนอื่นเป็นเครื่องตัดสินเราดีกว่าอาศัยอะไรภายนอก”

 

“พี่หลวงขายหนังสือริมทางที่ตรอกสาเกกี่ปี?”

“สี่ปี”

“แล้วทำไมถึงย้ายมาขึ้นตึก?”

“มันเป็นช่วงประจวบเหมาะ ปีนั้นทาง กทม.เขาต้องเตรียมจัดงานพระบรมศพ เขาบอกว่าจะจัดภูมิทัศน์ขอความร่วมมือให้ย้ายหาบเร่แผงลอย พอบอกขอความร่วมมือเราก็รู้แล้วว่าคงต้องย้ายอีก แต่ครานี้คิดละว่าไม่เอาละชีวิตร่อนเร่ ใช้มามากพอแล้ว ย้ายไปนั่นนี่ ไม่เป็นที่เป็นทาง ก็เลยตัดสินใจออกเดินหาตึกว่างแถวนี้ เดินดูไปทีละซอย จนมาเจอตึกปัจจุบันที่อยู่ตอนนี้บนถนนบุญศิริ เขาเอาค่าเช่าพอสมควร ล่วงหน้าสองเดือน ซึ่งก็ทำให้พี่หลวงต้องเร่งหาเงิน โชคดีว่าตอนนั้นมีลูกค้าประจำคนหนึ่ง นิสัยดีมากๆ ชื่อคุณธีรวุฒิ แกมาซื้อหนังสือที่ร้านประจำ ทีละพันสองพัน พอบอกว่าเราจะย้าย กำลังหาเงินไปเช่าตึก แกก็ช่วยซื้อหนังสือใหญ่เลย ครานี้ซื้อทีละหกพัน เจ็ดพัน มาซื้อตลอดจนพี่หลวงมีเงินไปจ่ายเจ้าของตึก พี่หลวงก็ยังนึกถึงบุญคุณแกเสมอ”

“ย้ายครานี้ ไม่เหนื่อยแล้ว เพราะมันรู้ว่าจะไปไหนใช่ไหม ไม่เคว้งคว้างแบบแต่ก่อน?”

“ใช่ครับ เราแค่เอาหนังสือใส่รถเข็น ทยอยเข็นมาที่ตึกใหม่ทีละวัน ทีละวัน ทำอยู่คนเดียว แต่ก็ภูมิใจ ตอนนี้เรามีสื่อในมือด้วย ไม่เหมือนย้ายครั้งก่อน พี่หลวงย้ายที่ก็โพสต์ลง facebook บอกคนอ่านที่ตามเรา บอกลูกค้าเรา เรารู้สึกว่าชีวิตรถเข็นจบเสียที มันมีรถเข็นเล็กๆ ด้วยนะที่เอาไว้ขนของไม่หนักมาก พี่หลวงก็มอบให้คนแถวนั้น แถวตรอกสาเก บอกเอาไปใช้นะ ผมไม่ได้ใช้แล้ว พี่หลวงยกให้เขาหมด”

“ให้มันเป็นสัญลักษณ์ของการยุติวิถีชีวิตค้าขายริมถนนของพี่หลวง”