ขอแสดงความนับถือ ฉบับประจำวันที่ 27 ส.ค.- 2 ก.ย. 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ มีเรื่องเกี่ยวพันคนในแวดวงวรรณกรรมอยู่สอง-สามเหตุ

เหตุหนึ่ง คือการเฝ้าคอย

งาน “ชิ้นโบดำ” ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ที่จะปลด “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” พ้นจากศิลปินแห่งชาติ

โดยกำลังรอว่า “เหตุผล” ที่ปลดนั้น

จะน่า “เวทนา” อย่างไร

หรือจะเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ ดังที่คอลัมน์การศึกษา ใน “มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้” ตั้งคำถาม

(อ่าน คำถามที่ไร้คำตอบ…/ถอดถอนศิลปินแห่งชาติ ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ กับบรรทัดฐาน พฤติกรรมเสื่อมเสีย?? หน้า 26)

 

เรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรมที่สอง

หากย้อนกลับไปเมื่อ 26 สิงหาคม 2533

สังคมไทยได้สูญเสีย “จ่าง แซ่ตั้ง”

เป็นจ่าง แซ่ตั้ง ที่แม้จะมีชีวิตอยู่มาถึงปัจจุบันก็คงไม่มีคำว่าศิลปินแห่งชาติ ห้อยท้าย

และคิดว่า ภายใต้ “กรอบ” อันคับแคบของรัฐ ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

งานกวีและศิลปะรูปธรรม ของ “จ่าง แซ่ตั้ง”

ย่อมใหญ่เกินกว่า “กรอบ” ของผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นจะแลเห็น หรือสัมผัสได้

หรือถึงสัมผัสได้ ก็อาจติดอยู่เพียงแค่เปลือก เข้าถึงเนื้อในไม่ได้

 

ทั้งนี้ ด้วยบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง เคยถูกดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็น “กวีติดอ่าง”

หรือเป็นเพียงแค่ “เจ๊กหัดเขียนหนังสือ”

ใช่ จ่างผ่านระบบการศึกษาไทยสั้นและน้อยมากอย่างยิ่ง

แต่เขาก็สามารถสร้างผลงานโดยผ่านโลกทัศน์ของตนเองและความรู้สึกภายในของเขาได้อย่างลึกซึ้ง

ตัวอย่างเช่น ในบทกวีชิ้นหนึ่งซึ่งแสดงออกถึงความขุ่นมัวของคนจำนวนมากที่รอรถเมล์อย่างไร้จุดหมายในกรุงเทพมหานคร

“คน คน คน คน คน…” ในบทกวีชิ้นดังกล่าว เขาใช้การซ้ำคำเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเบื่อหน่ายและเน้นถึงบางสิ่งบางอย่าง ผ่านคำแล้วคำเล่า

ซึ่งนี้เองที่ถูกดูแคลนว่า “กวีติดอ่าง”

ทั้งที่รูปแบบนั้น หากมองทะลุเข้าไป ย่อมเป็นดังภาษิตจีนของหวังเว่ย (ค.ศ.761)

ที่ว่า “บทกวีคือจิตรกรรม และจิตรกรรมคือบทกวี”

ซึ่งในสายตาของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ หากได้พิจารณา อาจจะไม่เข้าใจ

และสมัยหลัง เมื่อมีคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” จ่าง แซ่ตั้ง ก็คงอยู่ห่างไกลจากตำแหน่งนี้ลิบลับ

 

ในวาระ 3 ทศวรรษแห่งการจากไปของจ่าง แซ่ตั้ง ดังกล่าว

“เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์” ซึ่งได้เขียนรายงานพิเศษ เพื่อรำลึกถึงจ่าง แซ่ตั้ง (หน้า 70) ให้เราอ่านต่อเนื่องมา 3 ฉบับ และจะจบลงในฉบับนี้

ได้แจ้งข่าวดี สำนักพิมพ์ลูก-หลาน จ่าง แซ่ตั้ง

กำลังจะมีหนังสือ ระลึก 30 ปี มตะกาล จ่าง แซ่ตั้ง พ.ศ.2533-2563 รวม 6 เล่ม มาให้คนไทยได้อ่าน

อยากจะรู้ว่า จ่าง แซ่ตั้ง มีผลงานยิ่งใหญ่เพียงใด

ต้องติดตาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่จะได้สัมผัสงานดีๆ

จะได้ไม่ต้องอยู่ใน “แผ่นดินของเรา” ในหนังสือของอ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี

ที่ผู้อ่านดูจะจำคำพูดที่ว่า “โมสาร์ทได้ถูกฆ่าไปเสียแล้ว” (Mozart assassin?) ในหน้าสุดท้ายของหนังสือดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ซึ่งมันคงเศร้าหากโมสาร์ทถูกฆ่า และคนที่ฆ่าคือ คนภาครัฐที่ดูแลด้านวัฒนธรรม

อ่านบทความพิเศษ ของวัลยา วิวัฒน์ศร เรื่อง แซ็งเต็กซูเปรีรำลึก หน้า 71