‘บันไดการเมือง’ หนังสือสมัยไทยเป็น ‘ประชารัฐ’ ของหลวงสารานุประพันธ์/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘บันไดการเมือง’

หนังสือสมัยไทยเป็น ‘ประชารัฐ’

ของหลวงสารานุประพันธ์

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติไทย เป็นประชารัฐ…”(2482)

ประโยคแรกที่สุดของเพลงชาติไทยแต่งโดยหลวงสารานุประพันธ์

 

อาจไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใดในประวัติการเมืองไทย ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นมิใช่การเปลี่ยนแปลงราชวงศ์มาเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากเดิมที่เคยให้ความสำคัญกับอำนาจสูงสุดอยู่ที่เบื้องบน มาสู่การให้ความสำคัญที่รากฐานของสังคม กล่าวคือ การปฏิวัติ 2475 คือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นด้วยการหมุนเอาคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เคยอยู่เบื้องล่างที่สุดของสังคมให้หมุนขึ้นมาอยู่ในสถานะสูงเด่นอันเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย

ภายหลังการปฏิวัติ เตียง ศิริขันธ์ ครูหนุ่ม ต่อมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ สกลนคร ปฏิเสธความหมายของคำว่า พลเมืองดี แบบเดิมที่หมายถึง ผู้ที่รู้จักที่ต่ำที่สูง อันเป็นความหมายที่สืบทอดมาแต่ระบอบราชาธิปไตย ว่า

“ถ้าความหมายของคำว่าพลเมืองดีแคบเข้าๆ ความเป็นคนของพลเมืองก็จะน้อยลงทุกที จนในที่สุด ความเป็นคนแก่ตนเองไม่มีเหลือ กลายเป็นเครื่องจักรที่จะเดินได้ ก็ต่อเมื่อมีคนอื่นมาทำให้เดิน เพราะฉะนั้น เราชาวไทยที่ต้องการความเจริญ จึงควรสำนึกในเรื่องนี้ไว้ เราเป็นเสรีชน เราไม่ใช่เครื่องจักร และเราไม่ใช่สัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยง เรามีทั้งความเป็นคนและมีทั้งความเป็นพลเมือง”

สำหรับผู้เขียน “บันไดการเมือง” (2476) เล่มนี้ คือ นายพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) (2439-2497) เขาเป็นครูทั้งโรงเรียนสามัญและโรงเรียนนายร้อยทหารบก นักเขียน บรรณาธิการหนังสือ สารานุกูล เป็นผู้แต่งเพลงชาติไทย

เขาเริ่มศึกษาที่โรงเรียนบำรุงวิทยา โรงเรียนมัธยมวัดสุทัศนเทพวราราม สอบไล่ได้ที่ 1 ในวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษระดับมัธยมบริบูรณ์ทุกโรงเรียน เมื่ออายุ 13 ปีเข้าโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

เมื่อสอบวิชาครูได้ แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ สำนักวัดเทพศิรินทร์ สอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ แต่สละสิทธิ สมัครเป็นครู ป.ป. ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ด้วยความสามารถ

ต่อมาเขาถูกดึงตัวมารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนนายร้อย

นอกจากเป็นครูที่โรงเรียนนายร้อยแล้ว เขายังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของหนังสือเสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ จนกระทั่งนายพันโท พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ลาออกจากราชการแล้ว เขาจึงทำหน้าที่บรรณาธิการแทน จวบเขาลาออกจากราชการเมื่อ 2468 เพื่อดำเนินการนิตยสารสารานุกูล

ในฐานะนักเขียน เขาแต่งนิยายหลายเรื่องลงในนิตยสาร เช่น เรื่องหน้าผี แพรดำ ราสปูติน ทูตแห่งกาลี เขาเป็นผู้แปลนิยายเรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์ ของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ เป็นคนแรก

หนังสือราสปูนติน ทูตแห่งการลี นี้เล่าถึงราสปูติน นักบวช ผู้เป็นประหนึ่งทูตแห่งกาลี ที่พลิกชีวิตราชวงศ์โรมานอฟในแผ่นดินรัสเซียให้ล่มสลาย เป็นเรื่องราวที่สร้างจุดด่างพร้อยที่ลบไม่ออก เขามีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดินและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับบ้านเมือง ประชาชนอดอยากยากแค้นไปทั่ว บ้านเมืองแตกแยกแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า มีทั้งพวกรัสเซียขาวและรัสเซียแดง พรรคบอลเชวิกของเลนินก่อตัวขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง สอดคล้องกับสถานการณ์สร้างสงครามปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมา จนกระทั่งยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จเมื่อ 2460

เป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ของรัสเซีย

บันไดการเมือง สมัยประชาธิป

บันไดการเมือง การเข้าสู่อำนาจตามระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการปฏิวัติ เขาหันมาเขียนด้านการเมืองชื่อ “บันไดการเมือง” ขึ้น ชื่อเดิมคือ “การปกครองของสยามสมัยรัฐธรรมนูญ” ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เฉลิมรัฐธรรมนูญ ออกในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่สวนสราญรมย์เมื่อปลายปี 2475 ต่อมาถูกนำไปพิมพ์แจกในงานทอดกฐินของนายพลตรีพระยาประเสริฐสงคราม รัฐมนตรีกลาโหม 2 ครั้ง และต่อมา นายชื้น โรจนวิภาต มาขอพิมพ์ใหม่และขอตั้งชื่อใหม่เป็น บันไดการเมือง

บันไดการเมือง ถูกพิมพ์ขายในช่วงเวลานั้น ด้วยราคาถูกเพียง 30 สตางค์เพื่อให้ประชาชนหาซื้อมาอ่านได้ โดยนายชื้น ผู้แทนตำบลวัดจางวางพ่วง (ปัจจุบันคือ วัดเทวีวรญาติ แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบฯ พระนคร) เพื่อสมทบทุนกองทุนป้องกันรัฐธรรมนูญ 2476

สำหรับที่มาของ พ.ร.บ.จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นภายหลังกบฏบวรเดช (2476) รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาผลักดันกฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องระบอบใหม่และตอบโต้กลุ่มอนุรักษนิยม

กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐกักบริเวณผู้ต้องสงสัยและกำหนดระวางโทษการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญไว้สามปีถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ 500 บาท จนถึง 5,000 บาท

ทั้งนี้ ในคำปรารภ บันไดการเมือง หลวงสาราฯ บรรยายว่า สยามแต่โบราณปกครองในระบอบที่เรียกว่า “แพทเตอรแนล กัฟวเมนท (Paternal Government)” จวบจนคณะราษฎรทำการเปี่ยนแปลงการปกครองจากราชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์มาเป็นประชาธิปไตย

โดยหนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหา 7 บท ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญและอำนาจอธิปไตย ลักษณะและชนิดของรัฐบาล สายสัมพันธ์ของหน่วยการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร การสร้างสยามรัฐธรรมนูญ คณะการเมือง การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร

เขาบรรยายระบอบเก่าที่สิ้นสุดไปว่า การปกครองราชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์ เป็นการปกครองแบบนายกับบ่าว นายเป็นผู้ปกครอง บ่าวเป็นผู้รับการปกครอง และแม้นในสมัยการปกครองแบบราชาธิปไตยฯ อาจมีสภาการแผ่นดินได้ แต่สภานั้นหาใช่สภาที่มาจากประชาชนเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ในหนังสือเปิดเผยถึงที่มาของรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาตั้งขึ้นอันประกอบด้วยนักกฎหมายฝ่ายอนุรักษนิยมเกือบทั้งหมด มีนายปรีดี พนมยงค์ คนเดียวที่มาจากคณะราษฎร ได้คัดเลือกและปรุงรัฐธรรมนูญไทยขึ้นจาก 22 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี สวีเดน นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส เบลเยียม บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย เดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ ฮังการี ยูโกสลาเวีย โรมาเนีย แอลเบเนีย ชิลี สเปน

ด้วยเหตุจากความหลากหลายของรัฐธรรมนูญต้นแบบที่ถูกนำมาปรุงเป็นรัฐธรรมนูญถาวรนั้น ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงวิจารณ์รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ไว้ว่า ”ข้าพเจ้าเพิ่งทราบจากหนังสือเล่มนี้เองว่า รัฐธรรมนูญของเราได้คัดเลือกมาจากรัฐธรรมนูญ 22 ประเทศ ซึ่งระบุชื่อไว้นั้น ข้าพเจ้าไม่ประหลาดใจเลย ตรงกันข้าม บัดนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ทำไมจึงไม่ชัดแจ้งเหมือนฉบับชั่วคราว และทำไมต้องจับโน่นผสมนี่ ทบนั้นทวนนี่ จึงจะเข้าใจรัฐธรรมนูญของเราได้” (วรรณไวทยากร, 2476)

นอกจากนี้ ในหนังสือเล่ม ปรากฏผังวงจรจุดกำเนิดของพลังงานทางการเมืองหรือความชอบธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หรือ “บันไดการเมือง” ที่ล้วนเริ่มต้นมาจากราษฎรสามัญธรรมดา โดยสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลล้วนมีที่มาจากประชาชน ทำงานเพื่อประชาชนและต้องรับผิดชอบต่อประชาชน อันเป็นไปตามหลักการทั่วไปตามที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตย

คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั่นเอง

เพลงชาติไทย อันเนื้อร้องฉบับ 2482 แต่งโดยหลวงสาราฯ

“ประเทศไทยรวมเลือเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ”

ประชาชน คือ ชาติ

การประกวดแต่งเพลงชาติไทย มีผู้ส่งบทเนื้อร้องเข้าประกวดจำนวนมาก คณะกรรมการเลือกเนื้อร้องของหลวงสาราฯ เสนอให้คณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 ธันวาคม 2482 รัฐบาลประกาศ “รัฐนิยมฉบับที่ 6” ให้ใช้ทำนองเพลงชาติของพระเจนดุริยางค์ ส่วนเนื้อร้องเพลงชาติให้ใช้บทเพลงของหลวงสาราฯ แต่งขึ้น มีข้อความว่า

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย”

มีเรื่องเล่าว่า เขามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในผลงานเพลงชาติ เขาสั่งเสียไว้ว่า หากเขาใกล้สิ้นใจให้เปิดแผ่นเสียงเพลงชาติที่เขาแต่งขึ้นให้ก่อนลาจากโลกนี้ไป

ดุจเดียวกับในข้อความปิดท้ายในหนังสือบันไดการเมืองว่า

“ประเทศสยามเวลานี้อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ท่านทุกคนมีส่วนในความเจริญและความเสื่อมของบ้านเมือง ฉะนั้น ถ้าท่านไม่ช่วยบ้านเมือง ก็เท่ากับท่านทิ้งบ้านเมืองของท่าน นั่นคือท่านขาดความรักตัวท่านเอง เพราะความล่มจมของบ้านเมืองนั้น คือความล่มจมของตัวท่านเองโดยตรง และความเจริญของบ้านเมือง ก็คือความเจริญของตัวท่านเองด้วยดุจกัน”