‘กมธ.’ ยอมถอย เพื่อให้การแก้ไข ‘รธน.’ ไปต่อ ตัด ‘4 ปม’ เกิน ‘หลักการ’ แต่สุดท้ายต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘กมธ.’ ยอมถอย

เพื่อให้การแก้ไข ‘รธน.’ ไปต่อ

ตัด ‘4 ปม’ เกิน ‘หลักการ’

แต่สุดท้ายต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ?

 

ถึงคิวการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา โดยเฉพาะการดีไซน์กติกาเลือกตั้งใหม่ 3 พรรคใหญ่ ผลักดันโมเดลตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หวังกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ในสูตร ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคเล็ก แสดงจุดยืนคัดค้านไม่เอาด้วย โดยเฉพาะการลุยแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเกินหลักการ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ตลอดการทำงานของ กมธ.ชุดนี้เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น และเกิดความขัดแย้งระหว่าง กมธ.เสียงข้างมาก และ กมธ.เสียงข้างน้อยอย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มองว่ามีการตัดทอนและแก้ไขร่างเกินหลักการที่กำหนดไว้ เพราะตอนที่เสนอเข้ามา คือต้องการแก้ไขเพียง 2 มาตรา คือมาตรา 83 และมาตรา 91 แต่เมื่อพิจารณาไปพิจารณามา ก็จับมาตราอื่นมาโยงแก้ด้วย โดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 124 ที่ให้สามารถปรับปรุงเนื้อหาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับญัตติที่รับหลักการได้ แต่ก็จบกันไม่ได้ว่าเกินหรือไม่เกินหลักการ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าของวันที่ 24 สิงหาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะ กมธ. ได้ส่งข้อความส่วนตัวเรียกประชุม กมธ.ทั้งหมด แบบด่วนจี๋ เพื่อหารือและทบทวนเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบกระชั้นชิด ทั้งที่ได้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับมติของ กมธ.ให้ประธานรัฐสภาไปแล้ว

ก่อนจะสรุปตัดตอนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นเท่านั้น คือ มาตรา 83, มาตรา 86 มาตรา 91 และพ่วงบทเฉพาะกาล ว่าด้วยข้อกำหนดไม่ให้ใช้บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ กับการเลือกตั้งที่ไม่ใช่การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป

 

ประเด็นที่ กมธ.ยอมถอยและตัดออกไป 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 85, มาตรา 92, มาตราที่ให้ยกเลิกมาตรา 94, มาตราที่ให้ยกเลิกวรรคสามของมาตรา 105 และบทเฉพาะกาล มาตราว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 120 วัน และหากไม่สามารถทำให้เสร็จได้ทันการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป กำหนดอำนาจ กกต. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปพลางก่อน

การยอมถอย ถอดเครื่องประดับบางส่วนออกนั้น เนื่องจากมีการประเมินอาการของพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ไม่เอาด้วยอย่างชัดเจน

รวมถึง ส.ว.บางส่วนที่มีความกังวลว่า มีการตีความเกินหลักการที่มีมติเห็นชอบไว้ อาจจะหนักถึงขั้นต้องยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย จะได้แก้รัฐธรรมนูญได้ระบบเลือกตั้งใหม่ หรือต้องจำใจใช้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ต่อไป

ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอญัตติด่วน ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. … เสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. เหตุที่ กมธ.มีการแปรญัตติ ตัดทอน แก้ไขเพิ่มเติมเกินเลยไปจากที่รับหลักการเอาไว้ และมีมติเพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย โดยย้ำว่า หากตีความข้อบังคับเข้าข้างตัวเอง ต่อไปฝ่ายนิติบัญญัติไม่ต้องมีขั้นตอนพิจารณาวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 เพื่อกลั่นกรอง หรือผ่านกฎหมายกันแล้ว ใครมีอำนาจ หรือเสียงมาก อยากทำอะไรก็ทำเลย

อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่า กมธ.ไม่ได้แก้ไขเกินขอบเขตหลักการ หรือเพิ่มมาตราแก้ไขรัฐธรรมนูญจนผิดหลักนิติบัญญัติตามที่พรรค ก.ก.กล่าวอ้าง จึงลงมติคว่ำญัตติด่วนของนายธีรัจชัยดังกล่าว

 

พรรคการเมืองอย่างพรรค พปชร.และพรรค พท.ที่โอเคกับร่างที่ถูกปรับแต่งปรับแก้นั้น ต้องการอยากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ให้ทันใช้บังคับก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้า หรือก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง

ขณะที่พรรค ก.ก.ออกมาประกาศจุดยืนของตัวเองว่าไม่มีปัญหากับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่หากจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องใช้ระบบการคำนวณคะแนนแบบสัดส่วนผสม หรือ MMP ที่ทางพรรคยืนยันว่าสามารถสะท้อนเสียงของประชาชน ไม่ทำให้คะแนนตกน้ำ และไม่ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่กลายเป็นเผด็จการรัฐสภาเหมือนในอดีต

จากหลักคิดและเป้าหมายที่ไม่ตรงกันนี้ ทำให้ กมธ.สัดส่วนพรรค ก.ก.ต้องใช้กำลังกายและกำลังสมองในการสู้รบปรบมือกับ กมธ.ฝ่ายตรงข้าม ถึงขั้นที่นายไพบูลย์ขึ้นเสียงลั่นห้องประชุม สั่งปิดปากให้พรรค ก.ก.หยุดพูด ห้ามเถียง เพราะต้องการจะดันและแปลงร่าง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปแบบที่ตัวเองต้องการ

ส่วนพรรค ภท.ก็ยึดเจตนารมณ์เดิมคือบัตรเลือกตั้งใบเดียวเท่านั้น โดยประกาศว่าในวาระ 2 ส.ส.ของพรรคจะทำ 2 งด คือ งดใช้เสียงในการอภิปราย และงดออกเสียงในทุกมาตรา เพราะยืนยันตั้งแต่แรกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก การแก้ไขกติกาการเลือกตั้งต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการยกร่างของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ก็มองออกว่า ท่าทีเมินเฉยเย็นชา มันชัดว่า ชอบกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะมีแนวโน้มทำให้พรรคได้ที่นั่งในสภา มากกว่าระบบอื่น

ขณะที่เจ้าภาพอย่างพรรค ปชป. เจ้าของร่างที่ถูกกล่าวหาว่า จัดทำร่างไม่สมบูรณ์นั้นก็ยืนยันว่า ร่างออกแบบเป็นไปตามหลักการ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ได้นำคำของฝ่ายกฎหมายรัฐสภาและกฤษฎีกามายันให้เกิดความหนักแน่นว่าร่างของพรรค ปชป.ที่ทำขึ้นมาสามารถไปต่อได้

 

แม้ทุกพรรคการเมืองมองประเด็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งอย่างเป็นเอกเทศ เพราะภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเองเข้ามาในสภานั้น กติกาการเลือกตั้งเป็นตัวชี้ขาดว่า ส.ส.คนไหน พรรคการเมืองใด จะได้เป็นรัฐบาล รัฐบาลจะเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวหรือรัฐบาลผสม ต่างก็มาจากระบบเลือกตั้งที่ออกแบบขึ้น

พรรค พปชร.ออกตัวต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และระบบเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นระบบที่ทำให้ตัวเองได้เข้ามาเป็นพรรคตั้งรัฐบาลได้ ก็หมายความชัดในตัวว่า การเป็นรัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่ คือการมีพรรคเล็กพรรคน้อย ติดสอยห้อยตามร่วมรัฐบาลรวมกว่า 20 พรรค ไม่ได้สร้างความมั่นคง หรือทำให้การทำงานในฐานะที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาราบรื่นเพียงพอ ต้องคอยแจกกล้วยยามลิงอาละวาดเอาแต่ใจ เพราะไม่มีจุดยืนและอุดมการณ์ ได้เข้าสภาเพราะระบบปัดเศษ

ยิ่งสองพรรคใหญ่จากฝั่งรัฐบาลกับหนึ่งพรรคพี่ใหญ่ฝ่ายค้าน สมประโยชน์กับระบบการเลือกตั้งที่จะขอแก้ไขให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ภายใต้ระบบการโหวตที่ใช้เสียงข้างมากตัดสิน จึงเดาได้ไม่ยากว่าสุดท้ายแล้วมีแววว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านไปได้

ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ ต้องลุ้นกันต่อว่าเมื่อผ่านวาระที่ 3 ไปแล้ว จะมีสมาชิกรัฐสภาท่านใดจับมือกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะได้ไปต่อหรือจอดป้าย