วิช่วลคัลเจอร์/โมโนไทป์ : ตัวร้อนกับสงครามเย็น

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

โมโนไทป์ : ตัวร้อนกับสงครามเย็น (จบ)

โมโนไทป์เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของถนนและเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น ไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ และโทรทัศน์ สะท้อนภาวะที่การพิมพ์ก้าวขึ้นมาเป็นกลจักรสำคัญในผลักดันเศรษฐกิจและสังคม

ถ้าเทียบกับการเรียงด้วยมือ ระบบโมโนไทป์มีข้อดีมากมาย เช่น รวดเร็วและสวยงาม รวมทั้งส่งเสริมแบรนดิ้งหรือหน้าตาของบริษัท

แต่เหตุผลสำคัญคือ ทำให้มีการควบคุมลิขสิทธิ์ตัวพิมพ์ ตัวที่เกิดจากการร่วมมือกับฝรั่งและใช้อยู่ในโรงพิมพ์เดียว เป็นหลักประกันว่าคนจะเกรงใจหรือจะไม่ถูกก๊อบปี้ได้โดยง่าย และทั้งหมดนี้ ก็ยังเป็นทิศทางของตัวพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นยุคคอมพิวต์หรือดิจิตอลในปัจจุบัน

หลังจากที่หันมาใช้ระบบนี้ ไทยวัฒนาพานิช ได้สัมปทานการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ในเขตพระนคร-ธนบุรีขององค์การโทรศัพท์ฯ ส่วนหนึ่งเพราะมีระบบการเรียงพิมพ์ที่รวดเร็ว

ที่สำคัญ เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลอันได้แก่ชื่อและตัวเลข ซึ่งต้องการความรวดเร็ว สวยงาม และสะดวกในการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง

ในตะวันตก การเกิดขึ้นของโมโนไทป์ทำให้ช่างเรียงที่ทำงานด้วยมือตกงานเป็นจำนวนมาก

แต่ในประเทศไทย ผลเช่นนี้เกิดขึ้นกับช่างเรียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น

ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับทั่วประเทศอย่างฉับพลันทันที

ดังที่กล่าวมาแล้ว ตัวพิมพ์อย่างโมโนไทป์และคุรุสภาเกิดขึ้นได้เพราะถนนและการผลิตสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีลักษณะรวมศูนย์ ถนนทำให้หนังสือพิมพ์ นิตยสาร นิยาย และแบบเรียนที่พิมพ์ในกรุงเทพฯ ส่งออกไปขายในต่างจังหวัดได้ แต่ด้วยถนนนั่นเอง โรงพิมพ์เล็กก็เกิดขึ้นมามากมาย

โมโนไทป์เข้ามาในช่วงที่โรงพิมพ์เล็กในเมืองและต่างจังหวัดกำลังเติบโต ข้อมูลของ หลุยส์ ที. คูน (Reading Materials and Printing Facilities in Six Northern Changwats) บอกว่าในช่วง พ.ศ.2513 โรงพิมพ์ทั่วประเทศมีมากกว่าพันแห่ง

เขาพบว่า การพิมพ์ตำราเรียนรวมทั้งสิ่งพิมพ์แบบอื่นๆ มีลักษณะรวมศูนย์มากเกินไป คือ ต้องผลิตจากกรุงเทพฯ เช่น คุรุสภา เพียงแห่งเดียว ทั้งๆ ที่โรงพิมพ์ต่างจังหวัดมีความพร้อมทางการผลิตแล้ว

จังหวัดใหญ่ เช่น ขอนแก่น อุบลฯ อุดรฯ และโคราช มีโรงพิมพ์ใหญ่ในอำเภอเมือง และบางอำเภออาจจะมีถึงหกแห่ง ส่วนจังหวัดเล็กมีอย่างน้อยสองแห่ง บางแห่งสามารถพิมพ์หนังสือภาษาจีน ลาวและเวียดนามได้ และพิมพ์สอดสีและสวยงามไม่น้อยหน้าโรงพิมพ์ในกรุงเทพฯ

นอกจากหนังสือ ผลงานแบบอื่นมีมากมาย เช่น คู่มือครู รายงานของราชการ นิตยสารท้องถิ่น ใบปลิวของหอการค้าหรือกาชาดจังหวัด รวมทั้งถุงและกล่องกระดาษ ประกาศแจ้งความและโฆษณา ใบกฐิน การ์ดงานศพและแต่งงาน ฯลฯ

คูนระบุดัวยว่าโรงพิมพ์เหล่านี้ใช้แท่นพิมพ์ทั้งที่มีขนาดเล็กและใหญ่ ทั้งที่มาจากไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนมากมักจะเป็นแบบป้อนกระดาษด้วยมือ

นอกจากนั้น เขายังบอกว่าบล๊อกสำหรับพิมพ์รูปหรือพาดหัวนั้น ทำในกรุงเทพฯ ยกเว้นที่ขอนแก่นและอุดรธานี ซึ่งทำบล๊อกได้เองแล้ว

ที่สำคัญ หลังจากเป็นที่รู้จักกันไม่นาน แบบตัวพิมพ์ได้ถูกลอกเลียนแบบและทำเป็นตัวตะกั่วที่สามารถเรียงด้วยมือ

ซึ่งหมายความว่าถูกผลิตซ้ำได้โดยโรงหล่อตัวพิมพ์ธรรมดาและหาซื้อได้ทั่วไป

ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของไทยวัฒนาพานิชจึงหลุดลอยไป

โมโนไทป์ไม่ได้มีใช้กันเฉพาะในกลุ่มโรงพิมพ์ใหญ่และโรงพิมพ์ราชการเท่านั้น แต่ถูกนำไปใช้ในโรงพิมพ์ทั่วประเทศ

การสื่อสารครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ตัวพิมพ์สองแบบนี้จึงถูกใช้ ทั้งโดยองค์การต่างๆ ทั้งของรัฐบาลไทยและสหรัฐ ซึ่งนำแนวทางการพัฒนาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาชน รวมทั้งโดยสำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศของจีน (ในการพิมพ์ “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง”) ซึ่งเป็นตำราเชิงอุดมการณ์ของฝ่ายตรงข้ามด้วย

อย่างไรก็ตาม โมโนไทป์ทั้งที่เกิดจากการเรียงแบบอัตโนมัติและเรียงด้วยมือ ทรงอิทธิพลอยู่ได้ราวยี่สิบปีก็ล้าสมัยไปในที่สุด เพราะความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การพิมพ์ทั่วโลกกำลังก้าวไปใช้ระบบลิโธออฟเซ็ต ส่วนตัวพิมพ์ก็กำลังเปลี่ยนเป็นระบบเรียงด้วยแสงหรือตัวพิมพ์แบบ “เย็น”

ระบบลิโธออฟเซ็ต หมายถึงการพิมพ์ที่ไม่ใช้แรงกดระหว่างแท่นพิมพ์ ตัวพิมพ์ กับกระดาษ แต่ใช้แสงและคุณสมบัติทางเคมีของหมึกและน้ำมาทำให้เกิดภาพและตัวอักษรบนกระดาษ และมีความเหนือกว่าระบบเก่าทั้งในด้านคุณภาพและความเร็ว

ระบบนี้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวตะกั่ว เพราะต้องการเพียงถ่ายทอดตัวอักษรลงบนแบบหรืออาร์ตเวิร์ก แล้วนำไปถ่ายลงบนแม่พิมพ์ซึ่งเป็นเพลตสังกะสีบางๆ ตัวพิมพ์ “ร้อน” และการพิมพ์ระบบเล็ตเตอร์เพรสซึ่งสิ้นเปลืองแรงงานในการเรียง หล่อพิมพ์ และเก็บรักษา จึงล้าสมัยไปโดยเร็ว ตัวพิมพ์แบบ “เย็น” หรือที่เรียกในไทยว่า “ตัวคอมพิวเตอร์” ซึ่งเกิดจากการใช้แสง ฟิล์มและเครื่องจักร กลายเป็นสิ่งที่เหมาะสมกว่า

การก้าวเข้ามาของโมโนไทป์ จึงเป็นสัญญาณที่บอกว่าชีวิตของตัวตะกั่วใกล้ถึงเวลาสิ้นสุดลงแล้ว

พร้อมกับสงครามเย็น ซึ่งค่อยๆ ยุติลงในช่วง พ.ศ.2520-2530 การพิมพ์ระบบเล็ตเตอร์เพรสก็ค่อยๆ หมดไป ระบบนี้ถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์ระบบออฟเซ็ตและตัวคอมพิวเตอร์

แต่ก็เหมือนถนน ซึ่งกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบคมนาคมที่พัฒนาต่อมาถึงปัจจุบัน โมโนไทป์ไม่ได้หายไปจากวงการ เพราะยังทำหน้าที่เดิมคือให้เสียงและสำเนียงแก่ภาษาไทย ในแบบที่เคยแพร่หลายหรือเป็นที่นิยม

สิ่งนี้ทำให้ตัวพิมพ์ยุคนี้ถูกชุบชีวิตขึ้นมา บางและกลางของโมโนไทป์และไทยวัฒนาพานิช ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นตัวคอมพิวเตอร์ และตัวดิจิตอล ในชื่อที่ว่า “เชียงแสน” ของ อี.เอ.ซี. และ “โมโนไทย” ของ ดี.บี. ตามลำดับ