ภูมิภาคด้อยค่า/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ภูมิภาคด้อยค่า

 

ภูมิภาคนี้หมายถึง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้อยค่า

ผมไม่ได้หมายถึงด้อยค่าในแง่เราต้องให้ประเทศอื่นๆ มาให้คุณค่า ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่ได้ต้องพึ่งพาอาศัยประเทศอื่นๆ ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ

บทความนี้เป็นเพียงความพยายามชี้ให้เห็นสถานะและบทบาทที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ผมมีข้อสังเกตว่า สถานะและบทบาทของภูมิภาคนี้ลดน้อยถอยลงจนนำไปสู่ ด้อยค่า

 

เรามองได้จากอะไรได้บ้าง

เส้นทางการทูตความเฉยเมย

ผมใช้ความคิดไม่น้อยกว่าจะเข้าใจ ความเฉยเมย นี้ได้ ผมเริ่มสังเกตเห็นจาก ท่าที คำกล่าวปราศรัย รวมทั้งเส้นทางการทูตของเหล่าบรรดาชนชั้นนำทางนโยบายของชาติมหาอำนาจที่แสดงต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

สังเกตได้ว่า ความเฉยเมยของพวกเขาชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

เราจะเห็นได้ว่า 6 เดือนหลังการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ได้ริเริ่มดำเนินการทางการทูตต่อประเทศในอาเซียน

เริ่มจาก 14 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคมปีนี้ นาย Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมประชุมทางไกลหรือที่เรียกว่า Virtual meeting กับชาติต่างๆ ในอาเซียน โดยนำชาติสมาชิกอาเซียนและตัวแทนของชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ร่วมพูดคุยเรื่องความมั่นคง โดยให้เป็นซีรีส์การประชุม

Blinken ยังได้เข้าร่วมประชุมอีกในการประชุมออนไลน์ของ ASEAN Reginal Forum-ARF ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมคือตัวแทนของอาเซียน และตัวแทนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย รัสเซีย และสหภาพยุโรป

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา Lloyd Austin ยังคงเดินทางเยือนส่วนตัวเยือนสิงคโปร์ เวียดนามและฟิลิปปินส์ปลายเดือนกรกฎาคม

การเดินทางของรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Kamala Harris เยือนเวียดนามและสิงคโปร์ปลายเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม สารที่ส่งออกมาจากชนชั้นนำทางนโยบายระดับรัฐมนตรีกลาโหม ไม่มีอะไรใหม่ คือเน้นความมุ่งหวังตรวจตราจีนในทะเลจีนใต้ ประกาศก้องความห่วงใยการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสัญญาจัดหาวัคซีนต้านโควิดให้ใหม่ แต่มุ่งมั่นต้านการแข่งขันของจีน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงเน้นโดยตรงกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ไม่ค่อยมีคำพูดอะไรเกี่ยวกับอาเซียนเลย

สิ่งที่เกิดขึ้น ความจริงแล้วชนชั้นนำทางนโยบายสหรัฐผิดหวัง และแม้แต่โกรธอาเซียนด้วยซ้ำก่อนเฉยเมย การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ได้รอรัฐมนตรีต่างประเทศ Blinken เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งช่วงนั้นเขากำลังบินไปตะวันออกกลางและจะประชุมทางออนไลน์ด้วย แล้วในที่สุดการประชุมยกเลิกไป

แม้ว่ารัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา Wendy Sherman เดินทางเยือนอินโดนีเซีย กัมพูชา และไทยทันที หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายของรัฐมนตรีต่างประเทศของเธอเข้าร่วมประชุมไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของชนชั้นนำนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน สร้างความไม่ไว้วางใจต่ออาเซียน

 

สู่ความเฉยเมย

เรามีแนวทางบางแนวทำความเข้าใจสหรัฐอเมริกา ขาดความสนใจอาเซียน นั่นคือ สหรัฐอเมริกามีเป้าหมายต่อต้านจีน ดังนั้น จึงมีนโยบาย American First ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคนก่อน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในความคิดของคนอเมริกัน ความสำคัญอันดับแรกคือ ทำงานร่วมมือกับผู้เล่นที่ใหญ่กว่า โดยรวมออสเตรเลียและสหภาพยุโรป เป้าหมายเพื่อโอบล้อมจีน ก่อนเกี่ยวพันกับอาเซียนให้อาเซียนเป็นแนวกันชน (Buffer zone)

ทางเลือกของสหรัฐต่ออาเซียนดังที่กล่าวมานี้ นำมาสู่ความกังวลอื่นด้วย ทั้งรองประธานาธิบดี รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย ได้เยือนประเทศเหมือนๆ กัน แต่เห็นได้ชัดว่า สหรัฐทอดทิ้งประเทศสำคัญของภูมิภาคนี้คือ อินโดนีเซียและไทย ทั้งสองประเทศเคยอยู่ในลำดับความสำคัญชั้นต้นในอดีต

ทางวอชิงตันเยือนเพียงสิงคโปร์ เวียดนามและฟิลิปปินส์ อาเซียนนึกกันว่าสหรัฐอเมริกาจะให้รางวัลแก่ประเทศอื่นบ้าง เช่น อินโดนีเซีย และไทย

รองประธานาธิบดี Kamala Harris กลับมาเยือนแค่สิงคโปร์และเวียดนามช่วงปลายเดือนสิงหาคมเหมือนกับรัฐมนตรีและผู้ช่วยคนอื่นๆ

สิงคโปร์มีคุณค่าโดยตรงแก่สหรัฐด้วยเป็นที่ตั้งของกองเรือที่ 7

ส่วนเวียดนามและฟิลิปปินส์คุณค่าโดยตรงคือ ทั้งสองประเทศเผชิญหน้าและต่อต้านจีนในปัญหาทะเลจีนใต้อย่างชัดเจน

ตรงข้ามกับอินโดนีเซียและไทย มีข้อสังเกต นิยมจีน จากสื่อและข่าวสารในแวดวงการทูต

ยิ่งกัมพูชาด้วยแล้ว ชนชั้นนำนโยบายสหรัฐตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ของจีนในกัมพูชา จีนเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าปรากฏตัวในกัมพูชา

มีข้อสงเกตว่า มองที่การเดินทางเยือนของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐเยือนอาเซียนแล้ว อาจตีความว่านี่เป็นการเตือนจากวอชิงตัน

 

สถานะประเทศ

เราอาจไม่สนใจท่าทีและจุดยืนของชาติมหาอำนาจภายนอกภูมิภาคก็ได้ แต่ละชาติอาเซียนมีอิสระทางนโยบาย ไม่มีชาติไหนเดินตามชาติไหน ผมก็คิดเช่นนี้ แล้วเราลองไปดูหลักการทางนโยบายสหรัฐอันเกี่ยวพันกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั่นคือ1

“…เพื่อแสวงหาความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมแบบเผด็จการ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและส่งเสริมการเคารพในสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศของตนและในระดับต่างประเทศด้วย…บางประเทศ…อาศัยข้ออ้างการเลือกตั้ง แทรกแซง บิดเบือนคะแนนเสียง ควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนและระบบศาล…มุ่งปราบปรามผู้คัดค้านหรือฝ่ายตรงกันข้าม…”

ที่สำคัญ คำกล่าวข้างต้นเป็นคำกล่าวของผู้นำระดับสูงของวอชิงตันที่ได้วางแนวทางการเชิญผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมออนไลน์ในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ เป็นการประชุมร่วมโดยตรงกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นหมายความว่า ประธานาธิบดีสหรัฐและชนชั้นนำนโยบายยังให้ความสำคัญต่อประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ มิได้มองแค่ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค

ที่สำคัญพอๆ กัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังมองช่วงเวลานี้ว่า…ประชาธิปไตยกำลังตกอยู่ในอันตราย และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เขามองว่าสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในปัจจุบัน กระแสการปกครองแบบเผด็จการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะยิ่งทำให้ผู้คนถกเถียง และต่อสู้เพื่อปลดปล่อยความยุติธรรม โอกาสความยุติธรรมมักจะเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าเผด็จการเสมอ…2

ดังนั้น ด้อยค่าของประเทศยังก่อเกิดจากระบบการเมืองภายในอย่างสำคัญ ซึ่งระบอบเผด็จการ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแทรกแซงสื่อมวลชนและระบบศาลทำให้เกิดด้อยค่าในตัวเองและในสายตาของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอีกด้วย

ประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งทำรัฐประหาร หลังจากนั้นจับตัวผู้นำรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดิมขังเอาไว้ในคุก ให้สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งโดยเร็ว ปิดหนังสือพิมพ์และสื่อทุกชนิด ปราบปรามประชาชนและคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทุกคนไม่ว่าผู้หญิง เด็ก คนแก่ พระ แล้วบอกว่า ยึดอำนาจเพื่อจัดระเบียบและรักษากฎหมาย ทำทุกอย่างตามหลักการสากล

อีกประเทศหนึ่ง ทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แล้วก็ทำทุกอย่างได้เหมือนกับอีกประเทศหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว สัญญาจะคืนความสุขให้กับประชาชน ขอให้รออยู่ไม่นาน แล้วก็อยู่ในอำนาจยาวนาน แล้วจะอยู่ต่อไปอีกนาน เมื่อมีการประท้วงแสดงความไม่พอใจผลงานของรัฐบาลก็จับกุม เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองก็ปราบปราม ใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธ แล้วอ้างว่าเพื่อจัดระเบียบและรักษากฎหมาย ทำทุกอย่างตามหลักสากลเหมือนกัน

สถานะประเทศเช่นนี้ ชาติภายนอกไหนจะคาดหวังความร่วมมือภูมิภาค ขั้นต่ำสุดของชาติอื่นคือความเฉยเมย ขั้นสูงขึ้นมาอาจเป็นแรงกดดัน

รู้ตัวหรือยัง รัฐบาลไหน

1″ประเด็นการประชุมแบบ 9-10 ธันวาคม 2021″ ทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา 12 สิงหาคม 2021. voathai.com 12 August 2021.

2โจ ไบเดน สุนทรพจน์ ที่สุสานแห่งชาติ แอร์ลิงตัน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 31 พฤษภาคม, voivetv.co.th 4 มิถุนายน 2021.