คนมองหนัง : ‘ระบบราชการ’ ที่ ‘ผิดเพี้ยน’ ในหนัง-ละครไทย

คนมองหนัง

 

‘ระบบราชการ’ ที่ ‘ผิดเพี้ยน’

ในหนัง-ละครไทย

ราวสามปีก่อน ผมเคยตั้งข้อสังเกตผ่านบทความที่เขียนถึงหนังผี-ตลกไทยเรื่อง “เปรมิกาป่าราบ” ถึงภาพแทนหรือภาพจำลองของ “ตำรวจ” ซึ่งมักถูกนำเสนออย่าง “ผิดเพี้ยน” ในหนัง-ละครไทย

เช่น การทำราวกับว่า “สารวัตร” คือผู้มีอำนาจสูงสุดในสถานีตำรวจ หรือการเข้าใจว่าสถานีตำรวจทั่วประเทศนั้นล้วนมีสถานะเป็น “สน.” (สถานีตำรวจนครบาล) พร้อมด้วยการหายสาบสูญไปของ “สภ.” (สถานีตำรวจภูธร) เป็นต้น

สมมุติฐานที่ผมตั้งเอาไว้ก็คือ เพราะ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” นั้นถูกประเมินว่า “ไม่ค่อยมีประโยชน์” หรือ “ไม่มีหน้าที่สำคัญ” ต่อสังคมมากนัก

ด้วยเหตุนี้ สาธารณชนจึงไม่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจโลก ระบบ ระเบียบ ชั้นยศ ตำแหน่ง อันละเอียดลออซับซ้อนของ “ตำรวจ” รวมถึง “เจ้าหน้าที่รัฐประเภทอื่นๆ” ผ่านมหรสพความบันเทิงที่พวกเขาใช้เสพสุขในยามว่าง

 

ประเด็นทำนองเดียวกันเพิ่งถูกหยิบยกนำมาถกเถียงในสังคมอีกครั้งหนึ่ง สืบเนื่องจากละครโทรทัศน์เรื่อง “ให้รักพิพากษา”

ปกติในช่วงหลังๆ ผมไม่ค่อยได้รับชมอะไรทางโทรทัศน์มากนัก แต่ราว 2-3 สัปดาห์ก่อนมีโอกาสเปิดดูละครเรื่องนี้โดยบังเอิญ และพบว่าเรื่องราวดำเนินไปอย่างค่อนข้างสนุก (แม้จะมีลักษณะ “การ์ตูน” อยู่พอสมควร) ตัวละครนำแต่ละรายมีบุคลิกไม่ขาวจัดดำจัดเสียทีเดียว แถมยังมีฉากหลังเป็น “ลอว์เฟิร์ม” แห่งหนึ่ง ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในสื่อบันเทิงไทย

จึงส่งผลให้ตนเองเริ่มติดตามดู “ให้รักพิพากษา” อยู่เป็นระยะๆ และได้พบเห็น “ข้อบกพร่องตกหล่น” หลายประการของละคร ดังที่หลายๆ ฝ่ายกล่าวถึงกัน

อาทิ การที่ “ตัวละครอัยการหนุ่ม” รายหนึ่ง เอ่ยชวน “ตัวละครทนายสาว” มาทำงานเป็น “อัยการ” พร้อมอ้างประหนึ่งว่าในอนาคตเธอสามารถไหลเลื่อนข้ามไปเป็น “ผู้พิพากษา” ได้ด้วย (โดยอัตโนมัติ?)

ไม่ใช่แค่องค์กรอัยการที่ออกมาแสดงปฏิกิริยาต่อ “ข้อเท็จจริงผิดเพี้ยน” ดังกล่าว กระทั่งทนายความด้านสิทธิมนุษยชนบางท่านก็ยังมองว่าละครเรื่องนี้นำเสนอประเด็น “อัยการ-ผู้พิพากษา” ราวกับว่ากระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมดอยู่ในระบบ “ศาลทหาร”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ตรง “ข้อผิดพลาด” ของทีมงานเขียนบทละครหรือทีมงานรีเสิร์ชข้อมูล (ถ้ามี) มากเท่ากับเรื่องที่ว่า “กระบวนการยุติธรรมจริงๆ” ถูกมองหรือถูกทำความเข้าใจอย่างไรในมุมมองของสาธารณชน (อย่างน้อยที่สุด คือ กลุ่มคนชั้นกลางที่ถ่ายทำละคร)

“ข้อเท็จจริงที่ผิดเพี้ยน” เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไทยในละคร จึงไม่อาจแยกขาดจาก “ระบบอันแลดูผิดเพี้ยน” ในโลกความเป็นจริง ซึ่งนำไปสู่ “ความเข้าใจผิด” ของบรรดาคนทำละคร

คงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดกันให้ยืดยาวว่า มีกรณีอะไรบ้างที่ “ผิดเพี้ยน-เรรวน-อยุติธรรม” ในความเป็นจริงของสังคมไทย จนอาจดู “เหลือเชื่อ” ยิ่งกว่าภาพจำลอง “มั่วๆ” ของกระบวนการยุติธรรมในจอทีวีเสียอีก

(มีหลายคนย้อนนึกถึงคดี “บอส อยู่วิทยา” ระหว่างที่อัยการออกมาแอ๊กชั่นเรื่อง “ให้รักพิพากษา” และบางคนคงไม่ลืมว่าเคยมีประชาชนต้องขึ้นไปต่อสู้คดีใน “ศาลทหาร” หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557)

 

และก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร หากจะมีหนัง-ละครเรื่องอื่นๆ นำเสนอ “ข้อเท็จจริง” ของ “ระบบราชการไทย” อย่าง “ผิดเพี้ยน” โดยมีมูลเหตุมาจากการที่ระบบ ระเบียบ ลำดับชั้นในหน่วยงานราชการต่างๆ นั้นดำรงอยู่อย่าง “ผิดแผก/อปกติ” จากสามัญสำนึกของผู้คนธรรมดาทั่วไป

สื่อบันเทิงบางเรื่องอาจสร้างตัวละคร “นายพล” ขึ้นมาสักคน โดยไม่ต้องไปพยายามสนใจว่าเขาจะมีตำแหน่งเป็นผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผบ.พล. ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก เจ้ากรม แม่ทัพน้อย แม่ทัพภาค หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ประธานคณะที่ปรึกษา หรือห้าเสือ ฯลฯ ให้วุ่นวาย

เมื่อคนทำหนัง-ละคร (และประชาชนส่วนใหญ่) ไม่สามารถจำแนกแยกแยะได้อยู่แล้วว่าตำแหน่งเหล่านั้นมันแตกต่างกันอย่างไร และบรรดาท่านๆ ซึ่งดำรงตำแหน่งอันซับซ้อนสับสนดังกล่าวเขาทำหน้าที่อะไรกันบ้าง

ต่อให้เมืองไทยอยากทำละครตามมาตรฐาน “ซีรีส์เกาหลี” ที่พูดถึงการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นและเต็มไปด้วยสถานการณ์ดราม่าพลิกผันระหว่างบุคลากรคนทำงานในองค์กรต่างๆ

แต่คนเขียนบททั้งหลายก็คงยากจะจินตนาการว่า สำหรับบางหน่วยงานของเมืองไทยแล้ว เราสามารถกำหนดตัว “ผู้นำองค์กร” ในอนาคตไว้คร่าวๆ ได้เลย ด้วยผลสอบเข้าทำงานครั้งแรกสุดของเขาหรือเธอ

เราอาจมีตัวละครพระสงฆ์ที่รู้จักกันในฐานะหลวงปู่ หลวงตา หลวงลุง หลวงน้า หลวงอา หลวงพ่อ หลวงพี่ แต่มันเป็นเรื่องยากเกินกว่าคนทั่วไปจะหยั่งรู้ได้ว่าหลวง… เหล่านั้น อาจเป็นเจ้าคุณชั้นไหนกันบ้าง? (กระทั่งคนในภาครัฐจำนวนมากเอง ก็คงไม่สามารถอธิบาย-ทำความเข้าใจเรื่อง “ระบบสมณศักดิ์” ได้อย่างกระจ่างแจ้ง)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงย้อนไปสู่สมมุติฐานตั้งต้นที่ว่า เมื่ออะไรก็ตามถูกสาธารณชนประเมินว่า “ไม่มีหน้าที่/ไม่มีประโยชน์” ต่อสังคมเสียแล้ว

สาธารณชนย่อมไม่ต้องเสียเวลาไปทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น หรืออาจเป็นเรื่องยอมรับกันได้ ถ้าหากพวกเขาจะเข้าใจมันอย่าง “ผิดๆ” และสร้างภาพจำลองแบบ “เพี้ยนๆ” ออกมา

นี่ยังไม่พิจารณาถึงกรณีที่ประชาชนเริ่มมองเห็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นศัตรูเพราะการแสดงพฤติกรรมบางด้าน แต่ “เจ้าหน้าที่” และ “ผู้บังคับบัญชา” กลับยืนกรานจะลงมือกระทำพฤติกรรมเช่นนั้นสืบต่อไป

ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่า “ความเข้าใจผิดเพี้ยน” ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม จะลุกลามกลายเป็น “ความเกลียดชัง”