ของดีมีอยู่ : ดินแดง-เดือด ภูมิทัศน์การเมืองใหม่ในสมรภูมิเดิม / ปราปต์ บุนปาน

คฝ.รุกเข้าแฟลตดินแดง (ใหม่) ชาวบ้านตะโกนด่า ไหนว่ารักประชาชน วัยรุ่นยกมือแสดงตนไร้อาวุธ แต่บางรายยังถูกรวบตัว ฟุบลงกับพื้น

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

เดือนเมษายน 2552

กลุ่ม “คนเสื้อแดง” (นปช.) นำรถแก๊สจอดขวางถนนดินแดง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ทหารเคลื่อนกำลังพลมาสลายการชุมนุมของพวกตน

ส่งผลให้บรรดาผู้อยู่อาศัยในแฟลตดินแดงเกิดความไม่พอใจ และนำไปสู่การปะทะกันระหว่าง “ชาวแฟลต” กับ “คนเสื้อแดง” โดยมีการขว้างปาสิ่งของใส่กัน รวมทั้งมีเสียงปืนดังขึ้นด้วย

สุดท้าย “คนเสื้อแดง” จึงต้องตัดสินใจเคลื่อนย้ายรถแก๊สไปจอดไว้บริเวณคิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ

ทุกอย่างลงเอยด้วยการที่ “ผู้ชุมนุมเสื้อแดง” ถูกปราบโดยเจ้าหน้าที่ทหารในเดือนเดียวกัน

หนึ่งปีต่อมา พวกเขา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากชนบท) ได้เดินทางหวนกลับเข้ามาชุมนุมใหญ่ในพื้นที่เศรษฐกิจ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

อันนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาฯ เลือด 2553”

ที่เป็น “บาดแผล” ในชีวิต-ความทรงจำของ “ประชาชน” จำนวนมาก และเป็น “ความผิดบาป” ซึ่งติดตัวผู้มีอำนาจสั่งการไปอย่างไม่มีวันเสื่อมสลาย

 

เดือนกุมภาพันธ์ 2557

“ด.ต.ธีรเดช เล็กภู่” เจ้าหน้าที่ตำรวจจากจังหวัดชลบุรี ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมของม็อบต่อต้าน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” บริเวณแยกผ่านฟ้า

เขาสร้างวีรกรรม “เตะระเบิด” ที่ถูกโยนเข้ามายังกลุ่มเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันเพื่อนตำรวจนายอื่นๆ กระทั่งตนเองได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้รับฉายา “ตำรวจเตะระเบิด” เป็นการตอบแทน

สองปีผ่านไป “ด.ต.ธีรเดช” ที่เลื่อนยศขึ้นเป็น “ผู้หมวด” ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็จะ “ตัดสินใจกระทำแบบเดิม”

“ร.ต.ท.ธีรเดช” เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ยังมีประชาชนหลายรายที่จดจำเขาได้ เช่น เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดลำปางกับครอบครัว ก็มีผู้คนเข้ามาทักทาย ให้กำลังใจ ชื่นชม และถามไถ่อาการบาดเจ็บ

บางคนถึงกับประกาศว่าพวกตนเป็น “แฟนคลับ” ของ “ตำรวจเตะระเบิด”

 

เดือนสิงหาคม 2564

ท่ามกลางการชุมนุม “ไล่ประยุทธ์” โดย “ม็อบ” หลายสายในกรุงเทพมหานคร

สมรภูมิหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นภาพคุ้นตา ก็คือ พื้นที่ปะทะระหว่าง “ผู้ชุมนุมบางส่วน” กับ “ตำรวจ คฝ.” บริเวณ “แยกดินแดง”

หลายคนเป็นห่วงว่าการปะทะ-ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะกลบทับข้อเรียกร้องและความชอบธรรมของ “ม็อบ”

หลายคนวิตกกังวล เมื่อตระหนักว่าทั้ง “แกนนำม็อบรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นนักศึกษาปัญญาชน และ “แกนนำรุ่นเก๋า” เช่น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” กลับไม่สามารถ “คอนโทรล” ให้ “ผู้ชุมนุมที่พร้อมบวกเจ้าหน้าที่” ณ แยกดินแดง สงบสติอารมณ์ลงและถอยกลับที่ตั้งได้

อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือ คนจำนวนไม่น้อยที่ปักหลักด่าทอ ประณาม ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องยืนหยัดต้านทาน-หลบภัย “แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง” เป็นกลุ่มท้ายๆ แทบทุกวันนั้น

ก็คือ “ชาวบ้านชาวแฟลต” ที่อาศัยอยู่ตรงดินแดงนั่นเอง

คล้ายจะยังไม่มีใครเข้าไปพูดคุยจนได้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ชาวบ้าน-ชาวแฟลตดินแดง” ที่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐในคราวนี้ เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เคยออกมาแสดงความไม่พอใจ “คนเสื้อแดง” เมื่อสิบกว่าปีก่อนหรือไม่?

หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาคือลูกหลานของ “คนเมือง” ผู้เคยปฏิเสธ “คนเสื้อแดง” กลุ่มนั้นหรือเปล่า?

 

เดือนสิงหาคม 2564 อีกเช่นกัน

“ตำรวจไทย” ที่เคยอยู่ใน “โลกสีเทา” อันคลุมเครือระหว่าง “ด้านมืด-ด้านสว่าง” ของมนุษย์ เนื่องจากการต้องทำงานใกล้ชิดคลุกคลีตีโมงกับประชาชน มากกว่าเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายกลุ่ม เช่น “ทหาร” ในกรมกอง หรือ “ท่านผู้พิพากษา” ในศาล

“ตำรวจไทย” ที่เคยถูกเข้าใจว่ามีจุดยืนเอียงอยู่ข้าง “ฝั่งประชาธิปไตย” อย่างเนียนๆ จนนำไปสู่คำเปรียบเปรยเรื่อง “ตำรวจมะเขือเทศ”

ได้ถูกลากจูงเข้าไปอยู่ในโครงสร้างความขัดแย้งแบบ “คนดี” กับ “คนเลว” ซึ่งส่งผลให้ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ในฐานะ “ข้าราชการที่ดี-บริสุทธิ์ผุดผ่อง” ต้องมุ่งกำราบปราบปราม “ประชาชนผู้ชุมนุม” ที่ถูกวาดภาพเป็น “เด็กดื้อ-คนไม่ดี” อย่างปราศจากความประนีประนอม

จากการมีสถานะเป็น “กึ่งมิตรกึ่งศัตรู” กับ “ประชาชน” ในการดำเนินชีวิตประจำวัน “ตำรวจไทย” ค่อยๆ กลายสถานภาพมาเป็น “ศัตรูทางการเมือง” ของ “ประชาชน” อย่างเต็มตัว

 

สิ่งเหล่านี้คือภาพย่อยๆ หรือปรากฏการณ์บางเสี้ยวส่วนที่บ่งชี้ว่า “สังคมการเมืองไทย” ได้เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย ตลอดช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา

บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่น่าจะก้าวหน้าขึ้น

บางส่วนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถอยหลังลงโดยเด่นชัด