จดหมาย : ฉบับประจำวันที่ 20 – 26 สิงหาคม 2564

ไปรษณียบัตรของ "สุชาติ ฤทธากร" จากสันผีเสื้อ เมืองเชียงใหม่

จดหมาย

 

กลอนโควิด

 

เรียนคอลัมน์จดหมายมติชนสุดสัปดาห์

ระบบสาธารณสุขที่รับมือกับความป่วยความตายของประชาชนล้วนชวนให้ตื่นกลัว

สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาลว่าอยู่ระดับไหนกันแน่

เป็นได้แค่ความหวังลมๆ แล้งๆ หรือเปล่า

นายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจล้นฟ้า มองตาปริบๆ เก่งแต่ปิดปากประชาชนไม่ให้โวยวายที่ตื่นตระหนก

ดังบทกวี “ผู้นำอัศจรรย์”

ดังนี้

 

โรคโควิดระบาดร้ายกาจยิ่ง

เชื้อพักพิงที่ใดวายวอดหมด

เสียชีวิตเกลื่อนกลาดญาติรันทด

แสนสยดสยองป้องอันตราย

 

ต่างชาติให้ “ทานวัคซีน” ยินดีด้วย

พวกฉกฉวยกักส่วนหนึ่งถึงเส้นสาย

ยามวิกฤตอิดหนาหน้าไม่อาย

บนความเป็นความตายไทยทั้งนั้น

 

พฤติกรรมต่ำช้ามาตลอด

สอนตกทอดสูงส่งล่างอย่างคงมั่น

ไม่กลัวฟ้าไม่เกรงดินยินยลกัน

อัศจรรย์เชิงประจักษ์คนปักใจ

 

ประเทศชาติขาดผู้นำธรรมเกื้อหนุน

มีแต่เปรตขอบุญอวยทุนใหญ่

แผ่กิ่งก้านสาขาหลากเหมือนรากไทร

คือ นักฆ่าแห่งผืนไพร เห็นได้ชัด

 

หวังกินรวบฮวบฮาบโลกสาปส่ง

หมอซื่อตรงแกร่งกล้ารักษาสัตย์

ร่วมเปิดโปง โกงผันแปร แพร่สะพัด

เข้าแลกหมัดหยัดยืนรู้ตื่นรู้

 

คอยชำแหละแผลเป็นเซ่นแผลสด

เกียรติปรากฏซึ้งตระหนักบากบั่นสู้

ทุกบทเรียนเพียรอ่านล้วนผ่านครู

รุ่นต่อไปใช่หมูอยู่ตามเล้า

 

ท่านสละประโยชน์ตนเลิกชนชั้น

ยึดสังคมเทียมทันหมั่นเทียบเท่า

เสรีภาพ เสมอภาค จักแนบเนา

ภราดรภาพเร้าเบ้าหลอมเดียว

 

ค่อยค่อยแก้ปัญหาชะตาชีวิต

เปลี่ยนแปงผิดกลับถูกรุกเต็มเหนี่ยว

ธารธรรมะ-อธรรมนี่กี่คดเคี้ยว

กาลเวลาขับเคี่ยวเดี๋ยวลงเอย!

 

สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ

ชูเกียรติ วรรณศูทร

 

กลอนของสมบัติ ตั้งก่อเกียรติ และชูเกียรติ วรรณศูทร

น่าจะสรุปโดยรวบรัดถึงการแก้วิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาล

นั่นคือ “ไม่เป็นสับปะรด”

อย่างที่ปรากฏในไปรษณียบัตรของ “สุชาติ ฤทธากร” จากสันผีเสื้อ เมืองเชียงใหม่

ที่ถ่ายลงให้อ่าน

ส่วนที่สงสัยว่าทำไมไม่เป็นมะม่วง ไม่เป็นทุเรียนบ้างนั้น

ให้สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ท่านตอบ

“…ไม่เป็นสับปะรด เป็นสำนวนหมายความว่า ไม่ดี ไม่เข้าท่า ไม่ได้เรื่อง ไม่เหมาะ ไม่อร่อย

สำนวนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสับปะรดที่เป็นพืชล้มลุก ผลกินได้มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ แต่อย่างใด

คำว่าสับปะรดในสำนวนนี้สันนิษฐานว่าเพี้ยนเสียงมาจากคำว่าสรรพรส (อ่านว่า สับ-พะ-รด) สรรพ (อ่านว่า สับ-พะ)

เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ทุกสิ่ง ทั้งปวง ทั้งหมด

ส่วนคำว่ารส แปลว่า สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด จืด ฝาด

เมื่อรวมคำเป็นสรรพรส แปลว่า หลายรส หมายถึง รสชาติของอาหาร

ถ้าพูดว่าอาหารไม่มีสรรพรส หรือทำอาหารไม่เป็นสับปะรด แปลว่าอาหารไม่มีรสชาติ ไม่อร่อย

จากความหมายโดยตรงที่ใช้กับอาหาร ต่อมาก็ใช้เป็นสำนวนกับเรื่องอื่นๆ ด้วย

เช่น ดูเธอแต่งตัวเข้าสิไม่เป็นสับปะรดเลย หมายถึง แต่งตัวไม่สวย

ละครเรื่องนี้เล่นอะไรก็ไม่รู้ ไม่เป็นสับปะรดเอาซะเลย หมายถึง ละครไม่สนุก”

(ที่มา : บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2556)

เช่นกัน ทำไมถึง “ไม่เป็นสับปะรดขลุ่ย” นั้น

ยังหาคำตอบไม่เจอว่าทำไมต้องถึงเป็น “ขลุ่ย”

หรือ อมๆ เป่าๆ แล้วมีแต่ลม (ปาก) ยิ่งเหม็น-ยิ่งไร้รสชาติหนักขึ้นไปอีก (ฮา)

ใครรู้วานบอก!