ผี พราหมณ์ พุทธ : ว่าด้วยเรื่อง ‘ประคำ’ ในวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

ว่าด้วยเรื่อง ‘ประคำ’

ในวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ (จบ)

 

คราวที่แล้วผมพูดถึงประคำในประเพณีพราหมณ์ไปพอสมควร วันนี้จึงจะพูดถึงประคำและคติความเชื่อในประเพณีพุทธศาสนาเท่าที่ทราบนะครับ

ฉะนั้น หากใครมีข้อมูลมากกว่านี้ โปรดส่งมาบอกกันบ้างเถิด จักขอบพระคุณ

ที่จริงแม้ว่าพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทโดยเฉพาะในเมืองไทย เน้นการใช้ประคำที่เรียบง่าย คือมีร้อยแปดเม็ดและเม็ดยอดเท่านั้น อีกทั้งก็ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องวัสดุแต่อย่างใด โดยมากประคำที่ใช้กันจึงมักกลึงจากไม้เท่าที่หาได้ เช่น ไม้เนื้อแข็งชนิดต่างๆ มีบ้างที่ใช้ไม้หอม เช่น ไม้จันทน์ แต่ก็เป็นของมีราคา

ดังที่ผมบอกไปแล้ว เราใช้ประคำทั้งในลักษณะที่เป็นเครื่องมือในการสวดภาวนาและเครื่องรางไปด้วย จึงมีเกจิอาจารย์ในบ้านเราทำประคำจากวัสดุที่เชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น ยาจินดามณี ปรอทสำเร็จ (ปรอทที่ทำให้แข็ง) ลูกสวาทหรือเขี้ยวงา ซึ่งเน้นอิทธิคุณความศักดิ์สิทธิ์แก่ผู้สวมใส่มากกว่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการภาวนาจริงๆ

ฝ่ายเถรวาทในประเทศอื่นๆ ก็คงมีการนับถือประคำในฐานะเครื่องรางเช่นเดียวกัน เช่น คงมีการนำไปให้เกจิอาจารย์ภาวนาปลุกเสก แต่ผมยังไม่เคยเห็นเขามีประคำที่ทำด้วยวัสดุแปลกๆ อย่างบ้านเรา

 

ส่วนฝ่ายมหายาน มีการใช้วัสดุที่หลากหลาย ซึ่งคงเป็นไปตามความนิยมในวัฒนธรรมของที่นั่น เช่นในจีนซึ่งมีความนิยมหยกหรือหินมีค่าอื่นๆ ก็มีการสร้างประคำหยกหรือประคำหินสำหรับสวมใส่ บางครั้งก็เน้นความสวยงามเช่นมีขนาดใหญ่ และใส่ในงานพิธี จึงดูเหมือนเครื่องยศกลายๆ สำหรับพระเถระ

ที่จริงในสมัยราชวงศ์ชิง พวกชิงเขาเป็นชาวพุทธวัชรยานมาก่อน จึงมีการพกพาประคำติดตัวสำหรับสวดภาวนา ทำให้ประคำได้กลายเป็นเครื่องยศของขุนนางในระดับต่างๆ ไปโดยปริยาย มีการแบ่งวัสดุว่าขุนนางระดับไหนสามารถสวมประคำแบบไหนได้

ที่จริงผมว่าอิทธิพลนี้อาจส่งมาถึงไทยเรามานาน เพราะเราก็เคยมี “ประคำทอง” สำหรับเป็นเครื่องยศของขุนนางตั้งแต่ระดับพระยา เจ้าพระยา และสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งมีมาจากครั้งกรุงเก่าจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ประคำทองนี้อยู่รวมกับเครื่องยศอื่นๆ เช่น พานหมาก ขันน้ำพานรอง กาน้ำ ฯลฯ ถือเป็นเครื่องอุปโภคอย่างหนึ่ง ตามชั้นยศ

ผมทราบจากเพื่อนผู้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นมานานว่า ชาวพุทธญี่ปุ่นแต่ละนิกายต่างมีประคำที่แตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์ และประคำเป็นของสิ่งหนึ่งที่ต้องพกไปงานศพด้วยเสมอ เป็นอุปกรณ์ที่แขกผู้เข้าร่วมงานศพจะต้องใช้เมื่อเคารพศพ เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการสวดภาวนาให้ผู้ตายไปสู่สุคติ

ร้านรวงตามวัดต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงมักมีประคำวางขายหลากสีสันรูปแบบ ซึ่งมีราคาถูกๆ ไปจนถึงงานระดับช่างฝีมือที่มีราคาแพงระยับ แต่ใครๆ ก็ต้องมีประคำของตัวเองไว้สักเส้น จะสวดไม่สวดก็ต้องมีไว้ไปงานสังคม ว่างั้น

 

ชาวพุทธเถรวาทมีประคำจำนวนร้อยแปดเม็ดเป็นหลัก เราอธิบายว่า เป็นจำนวนพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ รวมกันได้ร้อยแปด บ้างก็ว่าเป็นพุทธคุณอิติปิโสร้อยแปดก็มี

ส่วนฝ่ายมหายานและวัชรยานเขาใช้ร้อยแปดเช่นเดียวกับเรา แต่ฝ่ายนั้นท่านมักอธิบายว่า ร้อยแปดหมายถึง กิเลสอาสวะต่างๆ ของมนุษย์ เมื่อรวมทั้งไตรทวาร คือกาย วาจา ใจก็จะได้จำนวนร้อยแปดพอดี

การสวดภาวนาประคำจึงเป็นการชำระกิเลสในไตรทวารให้ค่อยๆ บริสุทธิ์สะอาดไปเรื่อยๆ จนหมดไป

นอกจากจำนวนร้อยแปด เขายังมีการทำประคำในขนาดต่างๆ เพื่อสะดวกในการพกพา เป็น “ประคำมือ” ฝรั่งเรียก Hand Mala ที่สามารถคล้องมือไปได้ง่ายๆ เช่น มีจำนวนสิบแปดลูก ยี่สิบเจ็ดลูก ฯลฯ ที่เมื่อสวดวนๆ ไปก็จะครบร้อยแปดไปเอง

ฝ่ายวัชรยาน ดูเหมือนเรื่องประคำจะเป็นสิ่งที่ละเอียดและวิจิตรพิสดารที่สุด เพราะฝ่ายวัชรยานเน้นวิถีแห่งมนต์เป็นอุบายที่สำคัญ (มนตรยาน) การภาวนามนต์ของฝ่ายวัชรยาน มักมีการตั้งเป้าหมายทางจำนวนของการสวดภาวนาไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง

จำนวนรอบการสวดนั้นมีตั้งแต่แสนจบไปจนถึงเป็นสิบเป็นร้อยล้านจบ ครับ อ่านไม่ผิดหรอกครับ เขามักตั้งเป้าหมายสวดภาวนาบางมนต์ เช่น มนต์มณี (โอม มณี ปัทเม หุม) ไว้เป็นร้อยล้านจบหรืออย่างน้อยก็สักสามล้านจบ มีทั้งการใช้การเข้าเงียบเก็บตัวระยะยาว หรือการทำไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต

 

นอกจากนี้ ในวิถีวัชรยาน เพื่อจะเริ่มต้นปฏิบัติในวิถีตันตระ ต้องทำ “บุพกิจ” (ภาษาทิเบตเรียก เงินโดร) หรือกิจเบื้องต้นเพื่อขัดเกลาเสียก่อน อาทิ ถวายมณฑลจำนวนแสนครั้ง กราบอัษฎางคประดิษฐ์แสนครั้ง ฯลฯ จำนวนของการปฏิบัติรวมกันหลายแสนเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือช่วยนับจำนวนคือประคำนี้เอง

ประคำแบบทิเบตจึงไม่ได้มีเพียงลูกกลมๆ ขนาดเท่าๆ กันเรียงไปร้อยแปดเม็ดเท่านั้น แต่มี “ตัวช่วยนับ” อื่นๆ ด้วย เช่น มักจะมีเม็ดคั่นในระหว่างเส้น เม็ดคั่นนี้จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าเม็ดอื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติที่ไม่สามารถสวดครบร้อยแปดครั้งได้ทราบว่าตนเองสวดไปแล้วกี่จบ เช่น คั่นที่เม็ดที่เจ็ด คั่นที่เม็ดที่สิบเอ็ด หรือแบ่งคั่นเป็นสี่ส่วนเท่าๆ กัน

นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยนับอีกสองแบบ แบบแรกเป็นลูกปัดโลหะหรือทำจากวัสดุอื่นเส้นเล็กๆ ผูกเข้ากับตัวประคำ ลูกปัดในเส้นนี้มีจำนวนสิบเม็ด มีอยู่สองเส้นที่ทำสัญลักษณ์ที่ปลายต่างกัน อันหนึ่งเมื่อเราสวดครบหนึ่งรอบประคำก็จะชักไว้เม็ดหนึ่ง ให้รู้ว่าเราได้มาร้อยแปดจบแล้ว เมื่อสวดไปได้สิบรอบ ก็จะชักอีกเส้นหนึ่ง กล่าวคือ เส้นหนึ่งช่วยจำหลักร้อย อีกเส้นช่วยจำหลักพัน

นอกจากนี้ ยังมีตัวหนีบโลหะเล็กๆ ไว้หนีบช่วยจำหลักหมื่นอีก เมื่อตัวหนีบนี้หนีบไปได้ครบสิบเม็ดก็จะเท่ากับหลักแสน ครบร้อยเม็ดก็เป็นหลักล้าน ดังนั้น ประคำเส้นเดียวจึงช่วยทำให้เราสามารถจดจำจำนวนของการภาวนาได้ถึงหลักล้านนั่นเอง

 

ฝ่ายวัชรยานมีวัสดุที่ใช้ทำประคำหลากหลายมาก เช่น เปลือกหอย ไม้ ไข่มุก กระดูกคนหรือสัตว์ หินมีค่าต่างๆ ซึ่งนิยมกันว่าให้เลือกใช้หินสีที่มีความสอดคล้องกับสีกายของพระพุทธะหรือพระโพธิสัตว์ที่ตนเองภาวนาถึง เช่น พระอวโลกิเตศวรหรือพระตาราขาวมีพระวรกายขาว ก็ใช้หินขาวหรือบางครั้งก็ใช้แก้วควอตซ์ใส ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหินชนิดเดียวกับที่พระอวโลกิเตศวรถือในพระหัตถ์

นอกจากนี้ การเลือกใช้ประคำยังขึ้นอยู่กับลักษณ์ของมนต์ที่ใช้ด้วย หากเป็นมนต์ของเทพพิโรธหรือกึ่งพิโรธ ก็ใช้แบบหนึ่ง หากเป็นเทพสันติก็ใช้แบบหนึ่ง ซึ่งครูบาอาจารย์จะเป็นผู้บอกว่าให้ใช้ประคำแบบใด

ชาวพุทธวัชรยานต้องสวดมนต์กันอยู่ตลอดเวลา จึงพกประคำติดตัวเสมอราวกับเป็นอีกอวัยวะหนึ่ง เมื่อไม่ใช้จะพันไว้ที่ข้อมือซ้าย พอจะใช้ก็ถอดออกมาภาวนา ที่สำคัญ ในฝ่ายวัชรยานไม่ได้ถืออย่างฮินดูที่จะต้องใช้มือขวาเท่านั้นในการชักประคำภาวนา ผมเห็นมักนิยมใช้มือซ้ายกันเสียด้วย อาจเพราะถือคติอย่างตันตระ คือ ไม่มีสิ่งใดบกพร่องหรือมีมลทิน มือซ้ายก็ใช้สวดภาวนาได้ แต่ก็ห้ามข้ามเม็ดเมรุหรือคุรุเช่นเดียวกัน

ประคำถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวตลอดชีวิตของคนคนนั้น ผู้ปฏิบัติมักมีประคำของตนเองสองแบบ แบบแรกคือพกติดตัวนำออกไปใช้ภายนอก กับอีกแบบเป็นประคำลับ ใช้สวดภาวนามนต์ลับภายในที่ภาวนา ไม่นำออกให้ผู้อื่นเห็น

ด้วยการภาวนาต่อเนื่องยาวนานกับประคำเส้นนั้นๆ ผู้คนจึงนับถือประคำของครูบาอาจารย์และนักปฏิบัติมาก ถือเป็นสมบัติล้ำค่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์พิเศษเพราะการปฏิบัติได้ซึมซาบอยู่ในประคำนั้นเอง

 

นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเน้นครับ ในทัศนะของวัชรยาน ประคำศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะการปฏิบัติอันยาวนานติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย ไม่ใช่เพียงเพราะวัสดุหรือการปลุกเสกเท่านั้น

มีครูบาอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง คือพระอาจารย์ลาเซ่ ริมโปเช ท่านอาจารย์กฤษดาวรรณ เมธาวิกุลผู้เป็นศิษย์เคยเล่าไว้ว่า สมัยที่จีนเข้ามายึดครองทิเบตนั้น ท่านลาเซ่ถูกจองจำในคุกเพราะท่านเป็นครูบาอาจารย์คนสำคัญ ท่านถูกยึดประคำและของต่างๆ แต่ท่านก็แอบใช้เชือกมัดเป็นปมภาวนาแทนประคำอยู่ในคุกนั่นเอง เมื่อท่านล้มป่วย ด้วยอำนาจของการภาวนาอันยาวนาน ท่านก็ฟื้นตัวจากอาการป่วยได้ และมีชีวิตยืนยาวมาให้คำสอนต่ออีกหลายปี

ดังนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า ในทัศนะแบบพุทธ ประคำไม่ได้ทำให้ผู้สวมใส่ดีวิเศษขึ้นมา แต่เพราะเราปฏิบัติต่างหากประคำนั้นจึงเป็นของมีค่าได้ ถ้าไม่ระลึกเช่นนี้ ประคำที่สวมใส่จะเป็นเพียงเครื่องประดับไว้อวดกัน ว่าฉันเป็นคนธัมมะธัมโมนะ

สุดท้ายก็เป็นแค่เอาเม็ดหินสวยๆ มาแขวนอวดเท่านั้นแล

เจริญพร