สตาร์ตอัพไทย..ยังอยู่ดีมั้ย บทบาทภาครัฐคือคำตอบ ยังมีอุปสรรคข้างหน้า…รอการแก้ไข/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

สตาร์ตอัพไทย..ยังอยู่ดีมั้ย

บทบาทภาครัฐคือคำตอบ

ยังมีอุปสรรคข้างหน้า…รอการแก้ไข

 

เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพของประเทศไทย มูลค่า 364.37 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 11,430 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในสตาร์ตอัพสูงที่สุดในรอบ 9 ปี ที่มีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2555 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากภาคเอกชนด้วยกันเอง แต่ส่วนหนึ่งที่ก็มาจากการร่วมลงทุนของภาครัฐด้วยเช่นกัน

การร่วมลงทุนในสตาร์ตอัพของภาครัฐ มีหน่วยงานเดียวที่สามารถทำได้ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือที่เรียกันติดปากว่า “ดีป้า” เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

โดยดีป้าเป็น Angle Fund ที่จะคอยสนับสนุนให้ธุรกิจสตาร์ตอัพในระดับ Idea Stage มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท อายุการจัดตั้งธุรกิจไม่เกิน 3 ปี รายละ 1 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แสนบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนไม่ต้องส่งคืน ส่วน 7 แสนบาท จะเป็นการถือหุ้นโดยคิดเป็นสัดส่วน 25%

นอกจากนี้ ดีป้ายังคอยดูเรื่องระดับ Incubator คือการสร้างระบบบ่มเพาะ, การจัดทำระบบ Business Matching จับสตาร์ตอัพไปเจอกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไปเปิดตลาดที่ต่างประเทศ, Accelerate Program การให้คำปรึกษากับสตาร์ตอัพในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไอเดีย กลุ่มเติบโต ไปจนถึงกลุ่มเติบโตต่างประเทศ

รวมไปถึงการตั้ง Thailand Digital Valley หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีปัญหาการทำงานของหน่วยงานรัฐเช่นกัน

อย่างหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างไม่สม่ำเสมอ ทำให้แผนการดำเนินงานของสตาร์ตอัพไม่ได้มีความต่อเนื่อง

มาตรการทางด้านภาษีที่ไม่สนับสนุนทั้งตัวสตาร์ตอัพเองและนักลงทุน Venture Capital

การเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก

รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงินมีความยาก เพราะหลายสตาร์ตอัพเป็น Software as a Service (SaaS) ซึ่งไม่มีสินทรัพย์เป็นตัวการค้ำประกัน

โดยข้อเสนอจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ได้เสนอต่อภาครัฐ ประกอบไปด้วย ด้านการเงิน ผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับ Angle Investor สามารถนำรายจ่ายจากการลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5.6 ล้านบาท หรือไม่เกิน 50% ของเงินลงทุน

ส่งเสริมการระดมทุนในรูปแบบ Crowdfunding โดยการเพิ่มวงเงินการระดมทุนต่อรายเป็น 50 ล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับนักลงทุนรายย่อยในรูปแบบ Crowdfunding เช่น สิทธิในการหักภาษี และยกเว้น Capital Gain Tax รวมถึงการสร้างตลาดทุนรองสำหรับการซื้อ-ขายหุ้นเริ่มต้น

ผ่อนปรนข้อจำกัดสำหรับ Venture Capital ไทยหรือต่างชาติ Venture Capital ต่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย เช่น ยกเว้น Capital Gain Tax และสามารถถือกรรมสิทธิ์ในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศได้ถึงร้อยละ 100 รวมถึงสิทธิ์ในการถือหุ้นบุริมสิทธิ, สามารถเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพได้ในช่วงเริ่มธุรกิจ (Convertible Debt)

รวมไปถึงภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันจัดตั้งกองทุน PPP เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพ ซึ่งในกรณีนี้ปัจจุบันมีธนาคารออมสินทำอยู่แล้ว อาจจะสามารถศึกษาได้จากโมเดลนี้

ด้านการสนับสนุนธุรกิจ สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล ในประเด็นนี้ควรจะมีการสนับสนุนธนาคารในการเสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือปลดดอกเบี้ยให้กับสตาร์ตอัพ เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้และลดต้นทุนของกองทุน, รัฐส่งเสริมทุนสนับสนุนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubator & Accelerator) สูงสุด 70% ของต้นทุน

สนับสนุนการดึงดูดบุคลากรชั้นนำโดยการให้อัตราภาษีที่ดึงดูด (อัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคลแบบคงที่ที่ 17% เหมือนกับที่ EEC) และรัฐชดเชยเงินสำหรับใช้เป็นค่าตอบแทนให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับโควต้าการจ้างงานชาวต่างชาติ (จากเดิม 20% เป็น 38% เหมือนสิงคโปร์), สนับสนุนให้สามารถจัดสรรหุ้นให้พนักงานได้ (ESOP) โดยให้รีบผ่านร่างกฎหมายและประกาศใช้ให้บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สามารถขายหุ้นให้กับผู้บริหาร พนักงาน หรือเจ้าหนี้

ด้านการสนับสนุนตลาด จัดซื้อจัดจ้างสตาร์ตอัพในโครงการของภาครัฐ เพื่อเป็นการเสริมสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ให้แก่สตาร์ตอัพ ด้านกฎระเบียบ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสตาร์ตอัพ ในเขตพื้นที่พิเศษ เช่น ย่านนวัตกรรม (Innovation District) เป็นเวลา 8 ปี

 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หน่วยงานภาครัฐอย่างดีป้า จึงได้ดำเนินโครงการ “Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่” ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย จำนวน 30,000 ราย สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิตอลจากเครือข่ายดิจิตอลสตาร์ตอัพและผู้ให้บริการด้านดิจิตอล เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ รองรับการแข่งขันรูปแบบใหม่

เริ่มต้นเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

โดยจะนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ นครปฐม ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี พร้อมวางแผนต่อยอดสู่ปริมณฑลอีก 4 จังหวัดคือ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ

ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดีป้าได้จัดประชุมออนไลน์เพื่อชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการ โดยขณะนี้มีดิจิตอลสตาร์ตอัพและผู้ให้บริการดิจิตอลที่มีระบบบริหารจัดการร้านค้า และต้องการเข้าถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ธุรกิจการค้าและบริการ ร้านโชห่วย ร้านค้าปลีก-ค้าส่ง หาบเร่ แผงลอย ตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 28 ราย ครอบคลุม 6 กลุ่มเทคโนโลยี

ได้แก่ ระบบรับชำระเงินออนไลน์ (E-payment) ระบบจำลองการสนทนา (Chatbot) ระบบการสั่งอาหารหรือสินค้า (Delivery) ระบบการขนส่งสินค้า (Logistics) ระบบบริหารจัดการจุดขาย (Point Of Sales: POS) และระบบบริการ (Service)

จะเห็นได้ว่าหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ในการเป็นตัวกลางส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่รอดต่อไปได้ ภาครัฐต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก มีความเข้าใจถึงสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป กฎเกณฑ์ล้าหลังที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตของสตาร์ตอัพ ก็ควรที่จะมีการแก้ไขหรือยกเลิกไป มาตรการทางด้านภาษีที่ต้องสร้างแรงจูงใจใก้กับทั้งธุรกิจและนักลงทุน มาตรการทางการเงินก็ควรมีความยืดหยุ่นผ่อนคลาย เพื่อให้สตาร์ตอัพเข้าถึงสภาพคล่อง เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

ส่วนจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ยังต้องตามดู เพราะถึงปัจจุบันจากความคึกคักเริ่มต้นจนตอนนี้ เหมือนทุกสิ่งอย่างค่อยๆ เงียบหาย…