การเมืองอำนาจนิยม : นิยามและความเป็นมา | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

สังคมการเมืองไทยเราอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม (authoritarianism/authoritarian regime) รอบล่าสุดมาตั้งแต่รัฐประหารของ คสช. ปี 2557

รัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารัก (สำนวนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์) ปี 2560 กับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ก็เพียงเปลี่ยนระบอบอำนาจนิยมแบบปิดไปเป็นระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งเท่านั้น (closed authoritarianism -> electoral authoritarianism ดู Steven Levitsky and Lucan A. Way, “The Rise of Competitive Authoritarianism”, Journal of Democracy, 13:2 (April 2002), 51-65) และความอยากครองอำนาจต่อไปในระบอบดังกล่าวของผู้นำและพวกพ้องก็ยังไม่มีทีท่าจะลดราวาศอกลงแต่อย่าง ใด

และในสภาพที่ในเมืองไทยปัจจุบัน ระบอบอำนาจนิยมไม่มีแผนยุทธศาสตร์ออกจากวิกฤตโควิด ไม่มีการนำเป็นเอกภาพที่ผู้คนเชื่อถือศรัทธาทำตาม ไม่มีหัวขบวนของชนชั้นปกครอง มีแต่อำนาจล้นหลามท่วมทับผู้นำที่ใช้มันไม่เป็นและกำลังบังคับในการปราบปรามผู้คัดค้านเท่านั้น เราจึงควรลองทำความเข้าใจระบอบอำนาจนิยมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น เพื่อเตรียมต้อนรับการต้องจากไปในที่สุดของมันไม่ช้าก็เร็ว

เพราะทางเลือกเบื้องหน้าสังคมไทยและโลกในวิกฤตปัจจุบัน – หากยืมสำนวนเหล่านักคิดสังคมนิยม สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมากล่าว – ก็มีแค่ “สังคมประชาธิปไตยนิเวศวิทยาหรือความป่าเถื่อน” (Eco-Social Democracy or Barbarism) เท่านั้น!

การศึกษาวิเคราะห์ทำความเข้าใจกลไกการทำงานของระบอบอำนาจนิยมยุ่งยากลำบากกว่าระบอบประชาธิปไตยมาก ดังจะสังเกตเห็นได้ว่าระบอบอำนาจนิยมเป็นเนื้อดินอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่ข่าวลือ มากยิ่งกว่าที่เป็นในระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้เพราะการเมืองในระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์ที่ปฏิสัมพันธ์ 3 เส้าในหมู่ [ผู้นำ-ชนชั้นนำ-มวลชน] การที่ผู้นำในระบอบอำนาจนิยมจะธำรงอำนาจอยู่สืบต่อไปได้ต้องอาศัยการสนับสนุนบางระดับทั้งจากชนชั้นนำและมวลชน

ทว่าการแกะรอยติดตามดูเส้นทางปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวทำได้ยากยิ่งในระบอบอำนาจนิยม เนื่องจากขณะที่ระบอบประชาธิปไตยมีกฎกติกาทางการชัดเจนคอยชี้นำกำกับพฤติกรรมทางการเมือง ระบอบอำนาจนิยมกลับพึ่งพากฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการเป็นหลัก

กฎกติกาทางการเอาเข้าจริงไม่ได้ชี้นำกำกับพฤติกรรมทางการเมืองในทางปฏิบัติ มาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญจึงถูกยกเว้นละเลยได้หน้าตาเฉยโดยพลการเป็นประจำ (เช่นกรณีมาตรา 161 https://www.bbc.com/thai/thailand-49231873) การตัดสินใจสำคัญมักทำกันในที่รโหฐานลับหลังสาธารณะ ยากจะจับให้มั่นคั้นให้ตายว่าใครคือคีย์แมนทางการเมืองตัวจริงยามตัดสินใจ? ใครคือคีย์ซัพพอร์ตเพื่อให้คีย์แมนรักษาอำนาจไว้ได้? และขั้นตอนระเบียบปฏิบัติในการเลือก/ปลดผู้นำเป็นเช่นใดกันแน่?

ข่าวสำคัญทางการเมืองในระบอบอำนาจนิยมที่อึมครึมเช่นนี้จึงไม่ใช่ข่าวเปิดเผยทางการ หากแต่เป็นข่าวลือเบื้องหลัง ซึ่งขุมอำนาจและหน่วยงานข่าวกรองต่างๆ มักจงใจปล่อยออกมาด้วยเป้าประสงค์ทางการเมืองโดยมิอาจพิสูจน์ทราบจริงอย่างถึงที่สุดได้ ทำให้เฟกนิวส์ฆ่าไม่ตายทำลายไม่หมดภายใต้ระบอบอำนาจนิยม

(เช่น ข่าวเท็จเรื่องรัฐประหารล่าสุด https://www.matichon.co.th/politics/news_2858793)

 

แต่ถึงจะไม่เป็นทางการ คลุมเครือกำกวมและลื่นไหลปานใด เราก็อาจลองพยายามนิยามจับยึด “ระบอบอำนาจนิยม” ได้โดยเริ่มจากคู่ตรงข้ามของมันได้แก่ระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ :

ถ้าหาก “ระบอบการเมืองการปกครอง” (regime) หมายถึงชุดกฎเกณฑ์กติกาขั้นพื้นฐานทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการซึ่งกำหนดว่าใครทรงอิทธิพลต่อการเลือกผู้นำและนโยบาย รวมทั้งกฎกติกาที่ระบุกลุ่มคนซึ่งอาจคัดสรรผู้นำขึ้นมาได้จากคนกลุ่มนั้นด้วยแล้ว

“ระบอบประชาธิปไตย” (democracy/democratic regime) ในความหมายกว้างที่สุดและเกณฑ์ต่ำสุดย่อมหมายถึงระบอบที่ซึ่งผู้ปกครองถูกคัดเลือกมาผ่านการเลือกตั้งที่มีการประชันขันแข่งกัน

ส่วน “ระบอบอำนาจนิยม” (authoritarianism/authoritarian regime) ก็คือระบอบซึ่งฝ่ายบริหารได้อำนาจมาโดยผ่านวิธีการไม่ประชาธิปไตย/ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมโดยตรง

หรือแรกเริ่มเดิมทีฝ่ายบริหารอาจได้อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แต่แล้วในเวลาต่อมากลับเปลี่ยนกฎกติกาไปในลักษณะที่จำกัดการแข่งขันในการเลือกตั้งลงไป สรุปรวบยอดคือระบอบอำนาจนิยมหมายถึงระบอบไม่ประชาธิปไตยนั่นเอง

นี่เป็นคำนิยามระบอบอำนาจนิยมในความหมายกว้างที่สุดและเกณฑ์ต่ำสุด (in the broadest and minimalist sense) กล่าวคือ เพ่งเล็งรวมศูนย์ที่วิธีการได้อำนาจมาอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย โดยตัดเกณฑ์เฉพาะเจาะจงอื่นๆ ออก อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การกดขี่ปราบปราม (ยกเว้นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง) ระดับการพัฒนาและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมือง หรือสมรรถภาพของรัฐ

แต่กระนั้นระบอบประยุทธ์ก็ผ่านเกณฑ์ต่ำสุดทั้งสองข้อคือ ทั้งวิธีการได้อำนาจมาและการเปลี่ยนกฎกติกาไปในลักษณะที่จำกัดการแข่งขันในการเลือกตั้งลง

(ดู อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ, น.199-208)

 

สําหรับความเป็นมาในประวัติศาสตร์โดยสังเขปของระบอบอำนาจนิยมนั้น แรกเริ่มเดิมทีระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) เป็นรูปการณ์ปกครองหลักแบบอำนาจนิยมดั้งเดิมที่มั่นคงของโลกสมัยใหม่ กระทั่งเสี้ยวสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 (เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, “ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก”, ในเกษียร เตชะพีระ, เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์ดูโลก, น.158)

จนกล่าวได้ว่าก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ.1945 ระบอบเสรีประชาธิปไตยยังเป็นความคิดนอกคอกน่ารังเกียจทางการเมือง (Jeffrey C. Isaac, Democracy in Dark Times, 1998)

ทว่าพร้อมกับความปราชัยล่มสลายของระบอบเผด็จการนาซีฟาสซิสต์และกระบวนการล้มล้างจักรวรรดิอาณานิคมต่างๆ ทั่วโลก (decolonization) ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 นั่นแหละ ระบอบเสรีประชาธิปไตยจึงกลายเป็นขั้วอำนาจการเมืองตั้งมั่นหนึ่งในโลก แต่ก็ต้องประชันขันแข่งกับระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarianism/totalitarian regime) ในประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ใต้การนำของสหภาพโซเวียตกับจีน

โดยลักษณะเฉพาะของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จซึ่งแตกต่างจากระบอบอำนาจนิยมทั่วไปในทรรศนะของ Hannah Arendt นักทฤษฎีการเมืองหญิงลือชื่อชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่อพยพไปอยู่อเมริกา (ค.ศ.1906-1975) คือการพึ่งพาอาศัยพรรคการเมืองพรรคเดียว, การใช้อุดมการณ์ของระบอบที่พัฒนาไปอย่างพิสดาร และการธำรงรักษากลไกรักษาความมั่นคงอันทรงอานุภาพ ในสภาพที่นิติรัฐถูกทำลาย (Erica Frantz, “Autocracy”, Oxford Research Encyclopedia of Politics, 2016; Ian Fraser, “Arendt, Hannah”, Oxford Concise Dictionary of Politics and International Relations, 2018, pp. 26-27)

ขณะมวลชนก็แปลกแยกแตกตัวรวมกันไม่ติดเหมือนอณูและสำนึกสำเหนียกหมายเอกลักษณ์ของตนเองกับพรรค-รัฐ-ผู้นำ-(เชื้อ) ชาติอย่างเบ็ดเสร็จ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “มวลมหาประชาชน”, มติชนรายวัน, 16 ธันวาคม 2556 & “สังคมอณู”, มติชนรายวัน, 16 มิถุนายน 2557)

ในบริบทของการเผชิญหน้าระหว่างค่ายทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เองที่ระบอบอำนาจนิยมค่อยๆ ปรากฏแพร่กระจายไปในบรรดาประเทศเอกราชเกิดใหม่ทั้งหลาย โดยเฉพาะในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เนื่องจากพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์ของสงครามเย็น