เขตสาธารณสุขเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : วัคซีนอำนาจใหม่/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เขตสาธารณสุขเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

: วัคซีนอำนาจใหม่

 

สื่อหลายแขนงรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันสถานการณ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังวิกฤตจากความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในภูมิภาคพุ่งสูงขึ้นถึง 41%

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อสะสมในภูมิภาครวมกว่า 37 ล้านคน และอินโดนีเซียก้าวขึ้นมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล

ท่ามกลางความรุนแรงของโรคระบาดหนักหนา ภูมิภาคนี้มีสิ่งที่น่าสนใจในหลายๆ เรื่อง เราอาจมองภูมิภาคในมุมมองใหม่ในฐานะ เขตสาธารณสุข อันช่วยให้เราเห็นบทบาท วัคซีนอำนาจใหม่ ทั้งเขตสาธารณสุขและวัคซีนคงไม่ใช่มีแค่เรื่อง สังคมสูงวัย ระบบสาธารณสุข สุขอนามัยของประชาชน ส่วน วัคซีน ก็ไม่ใช่แค่ด้านเภสัชศาสตร์ การทดลองวิทยาศาสตร์

แต่มี เรื่องเล่า (narrative) ทางสังคม โวหาร ยากไร้อนาถา ร่ำรวย การเมือง อำนาจ รายล้อมอยู่

ขอเริ่มที่วัคซีน

 

แผนการกระจายวัคซีนในเอเชียตะวันเฉียงใต้

ขอเริ่มต้นที่ตารางที่บอกอะไรเราหลายอย่าง ตารางนี้ดึงข้อมูลเพียงบางส่วนจากตารางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของวัคซีนผลิตจากจีนและตารางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอร์ตฟอร์ลิโอวัคซีน ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564 ของ Khairulanwar Zaini* มาดัดแปลง ได้แก่ จำนวนและชนิดวัคซีนแล้วยังช่วยให้เราเห็น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ พลังขับเคลื่อน เป้าหมายแท้จริงและโวหาร ผ่านวัคซีน

ในขณะที่จีนเป็นแหล่งหลักของวัคซีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับหลายประเทศ และมีความได้เปรียบที่เคลื่อนไหวเป็นคนแรกในแง่การจัดส่งสม่ำเสมอ วัคซีนจีนได้เปรียบที่เข้ามาก่อนใครๆ แต่จีนไม่ได้ผูกขาดวัคซีน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สั่งวัคซีนราวๆ 203 ล้านโดส วัคซีนจีนนับเป็น 25.6% ที่จีนตกลงทำการค้าขาย อินโดนีเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยซื้อ Sinovac 125 ล้านโดส

ฟิลิปปินส์ ซื้อเป็นอันดับ 2 สั่ง 25 ล้านโดสเป็น Sinovac

ผู้ซื้อที่บันทึกได้ในภูมิภาคนี้คือ ไทย สั่ง 18.6 ล้านโดส เป็น Sinovac

กัมพูชา 14.5 ล้านโดส เป็น Sinovac และ 4 ล้านโดสเป็น Sinopharm

มาเลเซีย 12 ล้านโดส เป็น Sinovac และ 3.5 ล้านโดสเป็น CanSino

แต่วัคซีนจีนแปลเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัคซีน จำนวนวัคซีนจีนบริจาคมากถึง 25% ให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เทียบบริจาคทั่วโลก หมายถึงจีนให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากที่สุด จำนวนวัคซีนและความจำเป็นของวัคซีนเพื่อใช้ต่อต้านโควิด-19 สำคัญแน่นอน

แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น แปลวัคซีนเป็นการโน้มน้าวนโยบายอื่นที่สำคัญยิ่งยวดจากประเทศผู้รับก็ได้

นั่นคือ ท่าทีและจุดยืนของอินโดนีเซียและมาเลเซียต่อทะเลจีนใต้

ตารางนี้แสดงให้เห็นไทยและฟิลิปปินส์ได้รับบริจาควัคซีนจีน Sinovac มีส่วนโน้มน้าวฟิลิปปินส์ประเด็นทะเลจีนใต้ ส่วนไทยมีเรื่องซื้ออาวุธ ขออนุญาตเขียนตอนอื่นอย่างละเอียด

การไม่ได้รับบริจาควัคซีนจีนของอินโดนีเซียและมาเลเซียสัมพันธ์กับทะเลจีนใต้แต่ในอีกมิติหนึ่ง

ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียไม่ได้รับบริจาควัคซีนจีน ไม่ได้เพราะความร่ำรวยของทั้งสองประเทศ จีนเองมีการลงทุนขนาดใหญ่ในทั้งสองประเทศ ทั้งสองประเทศเป็นฐานการผลิตสำคัญแห่งหนึ่งและเป็นคู่ค้าสำคัญ

ดังนั้น จีนน่าจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และใจกว้าง ดังที่จีนแสดงโวหารเรื่อง วัคซีนจีนบริจาคไปทั่วโลก ตรงกันข้ามทั้งสองประเทศกำลังต้องการวัคซีนมากเพราะอินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมากในระดับโลก มีคนติดเชื้อโควิดมากมายแล้วเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ส่วนมาเลเซียมีมาตรการล็อกดาวน์อย่างแน่นหนา แต่ไม่ได้ผล แต่จีนกลับขายวัคซีนจีน

อินโดนีเซียและมาเลเซียสร้างสมดุลวัคซีนจีน โรคระบาด การโน้มน้าว กดดัน นโยบายสำคัญยิ่งยวดของตนด้วยการนำเข้าวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่น

อินโดนีเซียและมาเลเซียมีพอร์ตฟอริโอวัคซีนประกอบด้วย สัดส่วนสำคัญไม่ใช่วัคซีนจีน เช่น มาเลเซียสั่ง AstraZeneca, Pfizer และ Sputnik V ในขณะที่อินโดนีเซียจัดหา AstraZeneca, Pfizer และ Novavax เสริมวัคซีนจีนที่ถืออยู่ ทั้งสองประเทศยังแสวงหาวัคซีนจากโครงการ COVAX

โดยรวม มาเลเซียสั่งวัคซีนทั้งหมด 64 ล้านโดสโดยไม่ใช่วัคซีนจีน การสั่งวัคซีนจีนมาด้วยจำนวนน้อย น้อยกว่าอันดับ 5 ของพอร์ตฟอริโอวัคซีนประเทศมาเลเซีย

คล้ายกัน วัคซีนจีนยึดครองเพียงอันดับ 3 ของการจัดหาวัคซีนของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ในห้องเก็บในปริมาณมาก เขาสั่ง Sinovac 125 ล้านโดส สมดุลโดยสั่งวัคซีนราว 250 ล้านโดสจากผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ

 

แปลวัคซีนจีนสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่า

เมื่อเรามองยุทธศาสตร์จีนเราเห็นเป้าหมายใหญ่ซุกซ่อนวัคซีนอยู่ สำหรับกลุ่มที่ไม่ได้รับบริจาค แต่ขาย อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย เหตุว่า โน้มน้าวไม่ได้ และอาจตักเตือน ตามสไตล์จีน จีนกำลังมีข้อขัดแย้งเรื่องละเมิดน่านน้ำและอธิปไตยในทะเลจีนใต้อยู่

เมษายน 2564 ในขณะที่ภูมิภาคเดินโซซัดโซเซจากคลื่นแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะแรก กองเรือยามฝั่งจีนปะทะกับเรือหาปลาเวียดนามใกล้หมู่เกาะพาราเซล ในขณะที่เรือสำรวจ Haiyang Dyhi 8 เข้าไปเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Elusive Economic Zone-EEZ) ไปรบกวนการสำรวจของเรือมาเลเซีย

มีนาคม 2564 เรือบรรทุกทหารจีนมากกว่า 200 ลำ ลอยเข้าใกล้แนวปะกงรัง Whitsun Reef ซึ่งอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจเฉพาะของฟิลิปปินส์

31 พฤษภาคม 2564 ขณะที่มาเลเซียวุ่นวายมากเมื่อประเทศถูกฉกชิงจากล็อกดาวน์อีกครั้งเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เครื่องบินขนส่งทหารจีน 16 ลำ บินเข้าในระยะ 60 ไมล์ชายฝั่งบอร์เนียวของมาเลเซีย เพิกเฉยคำร้องขอจากศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศมาเลเซียที่ให้แจ้งระบุตัวตน

วัคซีนจีนแสดงความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จริง แต่เฉดความสำคัญสัมพันธ์กับสถานะ สมรรถนะและปฏิสัมพันธ์ของประเทศนั้นๆ ต่อนโยบายจีนในภูมิภาค โวหารจีน ใจกว้าง เอื้อเฟื้อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กับติมอร์เลสเต จีนให้วัคซีนนิดเดียว แม้โวหารเพื่อให้แน่ใจว่า “ไม่ได้หลงลืมใคร” หรือ “ทิ้งอยู่ข้างหลัง” ภายใต้การเฝ้ามองของจีน จีนบริจาควัคซีน 5 มิถุนายน 2564 เพียงจำนวนน้อย 500,000 โดสแก่ติมอร์เลสเต ประเทศซึ่งมีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน

อินโดนีเซียและมาเลเซียไม่ได้รับบริจาควัคซีนจีน ด้วยท่ามกลางของยากลำบากจากโควิด-19 ระทมทุกข์กับเศรษฐกิจย่ำแย่ การเมืองภายในไร้เสถียรภาพ

อินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งฟิลิปปินส์แสวงหาดุลยภาพนำเข้าวัคซีนผู้ผลิตรายอื่น พร้อมทั้งต่อต้านการอ้างสิทธิ์ทะเลจีนใต้ แม้ถูกข่มขู่ด้วยอำนาจทางการทหารจีน

วัคซีนจีนช่วยบอกเราถึงโวหาร สัมพันธภาพทางอำนาจ ความต้องการที่ซุกซ่อนไม่มิด ดั่งเรื่องเล่ารอบๆ กัมพูชาและ สปป.ลาว ที่ราวฟ้ากับดินเลย

*”China’s Vaccine Diplomacy in Southeast Asia-A Mixed Record” Perspective Singapore : ISEAS, 24 June 2021