ว่าด้วย Fake News, Disinformation และ Propaganda/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ว่าด้วย Fake News, Disinformation

และ Propaganda

 

“กระทรวงแห่งความจริง” ในนิยายเรื่อง 1984 ของ George Orwell คือกลไกของรัฐเผด็จการที่ต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาด “ความจริง” แต่เพียงฝ่ายเดียว

เป็นสภาพการปกครองที่อะไรก็ตามที่ประชาชนเห็นเป็น “ความเท็จ” ถูกกำหนดให้เป็น “ความจริง” ของรัฐ

พอผมได้รับทราบเกี่ยวกับคำสั่งของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีโควิด-19 เพื่ออ้างอำนาจในการจัดการทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ “อาจจะก่อให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ก็ทำให้ผมคิดถึง “กระทรวงแห่งความจริง” ในหนังสือคลาสสิคเล่มนี้

เพราะเรากำลังจะมีรัฐบาลที่มอบให้กระทรวงบางกระทรวงเป็นคนกำหนดว่าอะไรคือข้อมูลข่าวสารที่อาจทำให้เกิด “ความหวาดกลัว” แก่ประชาชน

ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยราชการและรัฐบาลนั้นสร้างความตกใจ, หวาดกลัว และแตกตื่นให้กับประชาชนอยู่เนืองๆ

อีกทั้งรัฐบาลก็ได้ออกมาใช้คำว่า “fake news” ออกมาเป็นข้ออ้างที่จะเหมารวมความเห็นหรือข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “ข่าวปลอม” เพื่อหาเหตุในการตั้งข้อหา, ข่มขู่และคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตย

รัฐบาลไม่ตระหนักว่าคำว่า Fake News นั้นมีความหมายที่แตกต่างไปจากการแสดงความเห็นที่แย้งหรือคัดค้านต่อต้านรัฐบาล

เมื่อตีความแบบครอบจักรวาลเพื่อจะเหวี่ยงแหไปกวาดเอาคนที่เห็นต่างมาอยู่ในกลุ่ม “ข่าวปลอม” แล้วก็ย่อมเป็นการขยับเข้าสู่การปิดปากประชาชนอย่างชัดเจน

และบังคับให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลแต่เพียงด้านเดียว

รัฐบาลจะต้องสำนักรู้ความแตกต่างของศัพท์แสงแห่งยุคสมัยที่เกี่ยวกับข่าวสารและข้อมูลที่มีความหมายแตกต่าง

มิใช่เหมาว่าอะไรที่สะท้อนไปทางลบต่อผู้มีอำนาจล้วนเข้าข่าย “กระทบความมั่นคงของรัฐ” หรือ “ละเมิดศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทั้งสิ้น

ดังนั้น คำว่า Fake News ย่อมต่างจาก Misinformation และ Disinformation ตลอดไป Propaganda และ Lies

ผู้มีอำนาจจะไม่แยกแยะความหมายของคำเหล่านี้ เพราะมีเป้าหมายเพียงต้องการให้ประชาชนเชื่อตามแนวทางของรัฐบาล

จะเรียกมันเป็นข่าวลวง, ข่าวเท็จ, ข่าวหลอก, โฆษณาชวนเชื่อก็ตาม

และบ่อยครั้งรัฐบาลเองก็เป็นคนออกข่าวลวง, ข่าวเท็จ, ข่าวหลอกและโฆษณาชวนเชื่อ

หรือพูด “ความจริงเพียงครึ่งเดียว” (Half-truths) โดยอีกครึ่งหนึ่งเป็นความเท็จหรือข้อมูลบิดเบือนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตนเท่านั้น

ฮิตเลอร์เคยบอกว่าข้อเท็จจริงไม่สำคัญ อะไรก็ตามที่เราอยากจะให้คนอื่นเชื่อ ถ้าเราพูดซ้ำๆ เข้า เรื่องโกหกก็อาจกลายเป็น “เรื่องจริง” ของสังคม ณ จุดใดจุดหนึ่งได้

หมายความว่า “เรื่องโกหก” อาจกลายเป็น “เรื่องจริง” ได้หากพูดซ้ำบ่อยๆ และไม่มีใครสามารถจะแย้งได้

หรือตัวผู้นำเองพูดโกหกในเรื่องเดียวกันบ่อยจนกระทั่งตัวเองเชื่อเรื่องนั้นเอง

ผู้นำเผด็จการมักจะใช้วิธีเช่นนี้เป็นประจำเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง

บ่อยครั้งก็เกิดกรณีที่ผู้นำบอกกับคนใกล้ชิดว่า “อย่าเอาความจริงมาทำให้ฉันสับสน”

หรือ Don’t confuse me with facts

แม้ฟังดูเหมือนจะย้อนแย้งอยู่ในตัว เพราะโดยปกติของอาจจะเชื่อว่าทุกคนล้วนอยากจะ “ข้อเท็จจริง” ที่สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงเพื่อจะได้ตัดสินใจไปในทางที่ถูกต้อง

แต่ในความคิดของผู้นำที่ไม่สนใจว่าความจริงเป็นอย่างไร ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการก็พอ

เพราะ “ความจริง” อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินนโยบายที่ตนต้องการก็ได้

 

ดังนั้น “กระทรวงความจริง” หรือ Ministry of Truth ในนิยายสะท้อนภาวะสังคมการเมืองในยุคของ George Orwell นั้นจึงเป็นการตอกย้ำถึงจิตวิทยาของเผด็จการว่าพวกเขาต้องการ “ความจริง”

แต่ต้องเป็น “ความจริง” ที่ตอบสนองเป้าหมายของพวกเขาเท่านั้น

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ความจริง” เป็นเพียงวาทกรรมที่นำมากล่าวอ้าง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้นำที่บ้าอำนาจเพียงต้องการ “ป้าย” ที่เรียกว่า “ความจริง” มาบังหน้าเท่านั้น

เอาเข้าจริงๆ ทุกอย่างที่จะกำหนดให้ประชาชนต้องเชื่อตามตนนั่นแหละคือ “ความจริง” สำหรับผู้นำประเภทนี้

Misinformation แปลว่าข่าวสารหรือข้อมูลที่ไม่จริงและถูกเผยแพร่โดยไม่ว่าจะมีเจตนาที่จะให้ผู้รับสารเข้าใจผิดไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่

Disinformation คือข้อมูลข่าวสารที่จงใจจะปล่อยออกไปเพื่อบิดเบือนหรือสร้างความเข้าใจไปในทางที่ผิด

Fake News ก็เป็น Disinformation ที่แฝงตัวในรูปแบบหนึ่ง

 

แต่ในยุคสมัยนี้คำว่า Fake News มีความหมายกว้างไกลกว่าเพียงแต่ “ข่าวสารไม่จริง” เท่านั้น

แต่ Fake News กลายเป็นคำที่มีความหมายทางการเมืองและสังคมที่กินความหลากหลายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องร่ายๆ ทั้งนั้น

บางคนบอกว่าคำว่า Fake News นั้นไม่ควรใช้แต่ต้นแล้วเพราะถ้าเป็น News ก็ไม่ควรจะมีคำว่า Fake นำหน้า

อีกนัยหนึ่งก็คือถ้ามันเป็น “ข่าว” มันก็ควรจะมีความหมายว่าได้มีการตรวจสอบแล้ว ต้องมีที่มาที่ไป

หากมันเป็นข้อมูลที่จงใจจะทำให้เข้าใจผิดหรือหลอกลวงผู้อื่นก็ไม่ควรจะเรียกมันว่า News

แต่ไปๆ มาๆ คำว่า Fake News ก็ปลิวว่อนไปทุกวงการ ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งด้านบวกและลบจนเกิดความสับสนกันไปหมด

เช่นกรณีอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่ใช้คำว่า Fake News โจมตีสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์หรือขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลของเขาและรัฐบาลของเขา

ทรัมป์ถึงกับชี้นิ้วกลางวงแถลงข่าวที่ทำเนียบข่าวเรียกนักข่าวจาก CNN, News York Times, Washington Post ซึ่งเป็นสถาบันด้านสื่ออันยาวนานของสังคมอเมริกันว่าเป็น Fake News ด้วยซ้ำ

เป้าหมายของทรัมป์คือการ “ด้อยค่า” หรือ discredit ข่าวสารและบทวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเขาและหันไปชื่นชมสำนักข่าวเช่น Fox News เป็นตัวอย่างของสื่อที่เขาเห็นว่าน่าเชื่อถือมากกว่า

ซ้ำร้าย ถึงจุดหนึ่งทรัมป์ถึงกับเรียกสื่อที่เขาไม่ชอบว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” (Enemy of the People) ด้วยซ้ำไป

กลายเป็นการผสมผสานของ Disinformation, Fake News และ Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) มาเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง

 

กลเม็ดทำนองเดียวกันนี้อาจจะกำลังเกิดในประเทศไทยเมื่อคนของรัฐบาลใช้คำว่า Fake News มาเป็นข้ออ้างเพื่อจะสกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในภาวะวิกฤตการระบาดของโควิด-19

ภาษาทางการของรัฐบาลใช้คำว่า “ข่าวปลอม” ในลักษณะ “ครอบจักรวาล” เพื่อข่มขู่คุกคามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เรียกว่า call out

นั่นคือการส่งเสียงของประชาชนในหลายๆ ส่วนที่สะท้อนความไม่พอใจกับการทำงานของประชาชน

“เสียง” ที่ส่งออกมานั้นคือการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในอันที่จะชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของทางการ

แต่กลับถูกเหมาเป็น “ข่าวปลอม” ซึ่งเป็นคนละเรื่องโดยสิ้นเชิง

ยิ่งเมื่อใช้อำนาจตามพระราชกำหนดในภาวะฉุกเฉินกรณีโควิดมาเพื่อจะขู่ว่าใครออกข่าวหรือข้อมูลที่ “อาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน” ด้วยแล้วก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการจงใจจะสร้างความสับสนระหว่าง “การใช้สิทธิเสรีภาพ” ในการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลกับสิ่งที่เรียกว่า Fake News

เพราะการจะจัดการกับ “ข่าวปลอม” หรือข้อมูลบิดเบือนที่เข้าข่ายละเมิดผู้อื่นหรือความมั่นคงของรัฐนั้นมีกฎหมายมากมายหลายฉบับที่สามารถใช้ได้อยู่แล้ว

แต่การใช้ “อำนาจพิเศษ” ในภาวะฉุกเฉินถึงขั้นจะเอาโทษทางอาญาและผิดช่องทางการใช้อินเตอร์เน็ตต่อผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลนั้นย่อมเป็นการอ้าง Fake News เพื่อผลทางการเมืองอย่างจงใจของผู้มีอำนาจโดยแท้