วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (37)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (37)

 

พลังงานหมุนเวียน

ทางออกหรือการหน่วงเวลา

การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ทั่วโลก ทั้งในประเทศมั่งคั่ง เช่น เยอรมนี สหรัฐ และประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และเคนยา ได้รับการการอุดหนุนสูงต่อเนื่องจากภาครัฐบาล ประสานกับการลงทุนของภาคเอกชน พบว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยี การขยายตัวของตลาดและสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างน่าที่ง

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนมีลักษณะร่วมกับการเคลื่อนไหวอย่างอื่น เช่น การปลูกป่าและดักจับคาร์บอน คือ

มันไม่ได้เป็นการลดการใช้พลังงาน หากแต่ใช้เพิ่มขึ้นโดยเพิ่มแหล่งพลังงานอื่น นอกเหนือจากพลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียน ที่โดดเด่นคือพลังแสงแดดและพลังลม

นอกจากนี้ บางแห่งนับรวมพลังน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ที่มีบทบาทสูง

แต่พลังงานหมุนเวียน 2 ประการท้าย มีความจำกัด เช่น พลังน้ำมีความจำกัดทางสภาพภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา ส่วนพลังงานนิวเคลียร์มีความจำกัดจากเชื้อเพลิงยูเรเนียม

พลังงานหมุนเวียนยังมีความจำกัดอื่นที่มีความไม่สม่ำเสมอ เช่น แสงแดดไม่ส่องตอนกลางคืน และลมไม่ได้พัดตลอดเวลา จำต้องสร้างเครื่องสำรองไฟแบบต่างๆ ขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นภาระของทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาชนผู้บริโภค

พลังงานหมุนเวียนมีจุดเด่นเฉพาะตน ได้แก่ การส่งเสริมยุคของไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้เติบโตแข็งแรงอย่างรวดเร็ว ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำให้นครหลวงของโลก และอารยธรรมโลกาภิวัตน์เป็นไปได้

แต่ระบบข่ายไฟฟ้าก็มีความเปราะบางหลายประการ

ในข้อแรกต้องทำให้มีพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ทันต่อความต้องการใช้และมีคุณภาพ ที่เป็นภาระหนักเหมือนไม่จบสิ้น เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ ไฟตก และไฟเกินอยู่เสมอ ถูกทำให้ขัดข้องได้ง่ายจากภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ฝนแล้ง แผ่นดินไหว ไฟป่า คลื่นความร้อน

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการก่อการร้าย เช่น การแฮ็กข้อมูลและการเจาะระบบ การวินาศกรรมอื่นๆ และถูกระเบิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ในภาวะสงครามใหญ่)

กล่าวกันว่า หากข่ายไฟฟ้าขัดข้องกว้างขวางและยาวนาน สามารถทำให้อารยธรรมล่มสลายได้ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

 

ในบรรดาประทศทั้งหลาย เยอรมนีเป็นชาติที่เอาจริงเอาจังต่อการปฏิบัตินโยบายพลังงานสะอาดก่อนใคร

เยอรมนีเป็นประเทศมั่งคั่ง มีการอุตสาหกรรมก้าวหน้า ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ชูนโยบาย “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” (Enrgiewende) มาหลายสิบปี

นโยบายนี้มีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนต่ำและปลอดพลังงานนิวเคลียร์ มีการจัดประชุมตระเตรียมความคิดตั้งแต่ปี 1980 แนวคิดเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์รุนแรงขึ้นหลังเกิดหายนภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล (1986)

รัฐบาลเริ่มให้การสนับสนุนแก่กิจกรรมพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เริ่มปฏิบัติเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี 2000 จนกระทั่งเกิดความเห็นพ้องทั้งในภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ดำเนินเป็นนโยบายจริงจังในปี 2010

นโยบายเปลี่ยนผ่านพลังงานนี้เกิดจากความจำเป็นในมุมมองของเยอรมนี ที่สำคัญคือวิกฤติน้ำมันในทศวรรษ 1970 คุกคามต่อความมั่นคงพลังงาน การหวังพึ่งก๊าซธรรมชาติจากสหภาพโซเวียตก็ไม่เต็มที่เนื่องจากภาวะสงครามเย็น

ดังนั้น เยอรมนีต้องเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ (ที่มีอันตรายและถูกต่อต้าน) โดยเน้นความมีประสิทธิภาพและซื้อหาได้เป็นเบื้องต้น ประเด็นเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพิ่มขึ้นมาภายหลัง

ผลการดำเนินนโยบายมองได้สองด้าน

ด้านสำเร็จ ยกย่องว่า เยอรนีได้เป็นแบบอย่างของประเทศมั่งคั่งที่สามารถเปลี่ยนผ่านพลังงาน และรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ ในปี 2020 พลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.3 ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด เพิ่มจากปี 2019 มา 3.8%

มีนักวิชาการบางคนชี้ว่านโยบายเปลี่ยนผ่านพลังงาน ทำให้เยอรมนีลดการส่งก๊าซเรือนกระจกได้ดี และค่าใช้จ่ายแม้ว่าจะแพงสำหรับหลายส่วน แต่ก็เชื่อว่าเยอรมนีจะจัดการได้ ควรถือว่าเป็นโครงการที่สำเร็จบางส่วน

(ดูบทความของ Nikos Tsafos ชื่อ In defense of the Energiewende ใน csis.org 24/08/2020

 

ในด้านล้มเหลว มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลก คือ วาคลาฟ สมิล ชี้ว่าเยอรมนีเป็นชาติที่เน้นธรรมชาตินิยมและจินตนิยมหรือแบบโรแมนติก

ต่างกับฝรั่งเศสที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ และโปแลนด์ยังคงเผาถ่านหิน

พลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีมาจาก 3 แหล่งใหญ่คือ เซลล์แสงอาทิตย์ กังหันลม และเชื้อเพลิงชีวมวล ดำเนินไปด้วยการใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลมหาศาล แม้จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มาก แต่ก็นำมาใช้จริงได้น้อย เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอของพลังงานลมและแสงแดด

ดังนั้น ต้องพึ่งพาข่ายไฟฟ้าเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้าถึงเกือบร้อยละ 85 ในปี 2019

เมื่อเทียบกับที่ปฏิบัติในสหรัฐแล้ว จะเห็นได้ว่ามันเป็นนโยบายที่ใหญ่โต สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

กล่าวคือ ในปี 2000 เยอรมนีใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานขั้นต้นในการผลิตไฟฟ้าเกือบร้อยละ 84 ของทั้งหมด ในปี 2019 ลดลงเหลือราวร้อยละ 78 สำหรับสหรัฐในช่วง 20 ปีระหว่าง 2000-2019 การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ลดจากร้อยละ 85.7 เหลือเพียงร้อยละ 80 ใกล้เคียงของเยอรมนี โดยไม่ต้องทำโครงการใหญ่ ราคาแพงเหมือนเยอรมนี (ดูบทความของ Vaclav Smil ชื่อ Germany’s Energiewenden, 20 years later ใน spectrum.ieee.org 25/11/2020)

ก่อนหน้านี้สมิลได้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า ความคิดที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะว่ามันจะใช้เวลานานมาก

ทั้งนี้ ดูจากการเปลี่ยนจากฟืนมาเป็นถ่านหินต้องใช้เวลานานถึงราว 60 ปี โดยการใช้ถ่านหินในปี 1840 มีเพียงร้อยละ 5 ของการใช้ฟืน กว่าจะเพิ่มมาเป็นร้อยละ 50 ของการใช้ฟืนก็ตกราวปี 1900 ในปี 2012 การใช้พลังงานหมุนเวียนสมัยใหม่ยังไม่ถึงร้อยละ 5 ของการใช้พลังงานทั้งหมด

สมิลสรุปว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนที่ดีที่สุดยังคงเป็นการลดการใช้พลังงานลง (ดูบทความของเขาชื่อ The long slow rise of solar and wind ใน vaclavsmil.com 2014)

 

วิศวกรรมโลกในภาวะฉุกเฉิน

เมื่อภูมิอากาศเข้าสู่ขั้นภาวะฉุกเฉิน ตามคำเตือนหลายครั้งของคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย และการเสนอข่าวของสื่อกระแสหลัก ก็ถึงเวลาที่จะยกระดับปฏิบัติการให้เข้มข้นขึ้น หนึ่งในนั้นคือการใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมโลก การจัดการแสงอาทิตย์ (Solar Geoengeneering)

เทคโนโลยีวิศวกรรมโลกมี 2 อย่างใหญ่

ก) คือการลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศการปฏิบัติสำคัญ เช่น การดักจับและเก็บคาร์บอน ที่กล่าวแล้วว่าเป็นการหน่วงเวลาเสียมากกว่า

ข) เป็นการลดรังสีจากดวงอาทิตย์ให้กระทบผิวโลกน้อยลง ด้วยการสร้างสารป้องกันในชั้นบรรยากาศต่างๆ เช่น ส่งละอองลอยในชั้นสตราโทสเฟียร์ โดยมีข้อสมมุติฐานว่าเมื่อละอองลอยสู่ชั้นบรรยากาศนี้แล้ว จะทำหน้าที่เหมือนผ้าคลุมหน้าสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไป

แต่มีการศึกษาชี้ว่าละอองลอยนี้อยู่ในชั้นบรรยากาศไม่นาน ดังนั้น จึงจำต้องส่งละอองลอยขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้น อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว วิธีปฏิบัติดังกล่าว ยังอาจก่อความเสี่ยงร้ายแรงอีกหลายอย่าง เช่น การลดอุณหภูมิโลกอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ภูมิอากาศยิ่งแปรปรวน สัตว์ป่าและพืชพรรณปรับตัวไม่ทัน จนถึงขั้นสูญพันธุ์ได้ ต้องมีกฎระเบียบที่เข้มงวดสำหรับการวิจัยทำนองนี้

(ดูบทรายงานของ Daisy Dunne ชื่อ Geoengeneering carries ‘large risks’ for the natural world, studies show ใน carbonbrief.org 22/01/2018)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามความเห็นว่าด้วยเรื่องปัญหาโลกร้อน