องอาจ ชี้รัฐควรแยก FAKE NEWS กับ FACT NEWS ให้ออก เตือนระวังการใช้อำนาจเกินขอบเขต!

“องอาจ” ชี้รัฐควรแยก FAKE NEWS กับ FACT NEWS ให้ออก ต้องระวังการใช้อำนาจเกินขอบเขต

31 ก.ค.2564 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ที่อาจปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่า เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาสาระของข้อกำหนดดังกล่าว พบว่า เป็นการให้อำนาจหน้าที่รัฐกว้างขวางมากจนอาจนำไปสู่การใช้อำนาจเกินขอบเขต ใช้อำนาจโดยมิชอบ และอาจใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อประโยชน์ของคนในรัฐบาล

โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ระบุไม่ให้เผยแพร่ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ประโยคนี้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตีความได้กว้างขวางมาก อาจนำไปสู่การกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้โดยง่าย

เพราะฉะนั้นการออกมาเรียกร้องให้ทบทวนข้อกำหนดนี้ของ 6 องค์กรสื่อจึงไม่ใช่เรื่องการเคลื่อนไหวเกินกว่าเหตุ ไม่ใช่เป็นการตีตนไปก่อนไข้ แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลที่อาจเกิดขึ้นได้ และอาจส่งผลกระทบถึงสิทธิ เสรีภาพของการทำงานของสื่อมวลชน และอาจกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

หลังการออกมาเคลื่อนไหวของ 6 องค์กรสื่อ ภาครัฐอธิบายความว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และ 29 มีจุดประสงค์จะจัดการกับ “ข่าวปลอม” (FAKE NEWS) เป็นหลัก ไม่ได้ปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนแต่อย่างใด

แต่การออกข้อกำหนดที่ทำให้ตีความเพื่อใช้อำนาจได้กว้างขวางเช่นนี้ย่อมอาจส่งผลต่อคนทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ภาครัฐต้องแยกแยะระหว่าง “ข่าวปลอม” (FAKE NEWS) กับ “ข่าวจริง” (FACT NEWS) ให้ออกว่าคนทำข่าวปลอมเท่าที่จับดำเนินคดีตามกฎหมายที่ผ่านมามักเป็นคนที่มีจุดมุ่งหมายทำลายล้าง บั่นทอนความน่าเชื่อถือทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์มิชอบ ขณะที่คนทำ “ข่าวจริง” (FACT NEWS) คือ คนข่าว สื่อมวลชนอาชีพส่วนมากที่ทำงานตามจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นบนพื้นฐานของความเป็นจริง ภายใต้กรอบของกฎหมาย

อย่างไรก็ดีถ้ามีสื่อมวลชนคนใดเสนอข่าวที่ไม่จริง ก็มีกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ ที่พร้อมจะเล่นงานได้อยู่แล้ว

จึงขอเสนอภาครัฐรีบทบทวนข้อกำหนดนี้อย่างจริงจัง พร้อมกับแยกให้ออกระหว่าง “ข่าวปลอม” (FAKE NEWS) กับ “ข่าวจริง” (FACT NEWS) ว่าควรดำเนินการอย่างไรให้เกิดความพอดีที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับการทำงานของสื่อมวลชนโดยสุจริต และไม่ปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญที่สุด ภาครัฐต้องพึงระมัดระวัง อย่าให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตจากข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ เพราะอำนาจที่ใช้โดยไม่ถูกต้องจะเป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาทำลายก่อให้เกิดความเสียหายจนยากที่จะแก้ไขได้โดยไม่จำเป็น

การใช้อำนาจบนความพอดีน่าจะมีประโยชน์มากกว่าในการร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วนเพื่อฝ่าฟันปัญหาวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองโดยรวม
////