อนุสรณ์ ติปยานนท์ : In Books We Trust (22) “สิทธารถะ”

 

In Books We Trust (22)

 

ในช่วงปีการศึกษาแรกของมหาวิทยาลัย นักศึกษาทุกคณะ ทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องลงเรียนวิชาภาษาไทยในทั้งสองภาคการศึกษา

ในภาคแรกจะเป็นการเรียนเกี่ยวกับการเขียนและการวิเคราะห์งานวรรณกรรมในภาษาไทย

ในขณะที่ภาคเรียนที่สองจะเป็นการเรียนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

โดยในชั้นเรียนจะผสมนักศึกษาจากทุกคณะที่มีการสอบจัดระดับภาษาอังกฤษ ดังนั้น นอกจากการที่เราทุกคนจะได้เจอกันในชั้นเรียนภาษาไทยแล้ว เรายังจะต้องเจอกันในชั้นเรียนภาษาอังกฤษอีกด้วย

ผมจำได้ว่าการแนะนำตัวในชั้นเรียนครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในชั้นเรียนภาษาไทย

และเป็นการมาถึงของ “สิทธารถะ” เป็นครั้งแรก

 

เช้าวันนั้น อาจารย์ประจำชั้นของเราผู้เป็นสุภาพสตรีร่างเล็กที่มีน้ำเสียงแจ่มใสเดินเข้ามาในชั้นเรียนก่อนเวลาเรียนเล็กน้อย นักศึกษาทุกคนมาพร้อมกันในห้อง

แน่นอนสำหรับการเปลี่ยนชีวิตจากเด็กนักเรียนสู่การเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นกว่าการได้ใส่เครื่องแบบ ถือสมุดที่มีตรามหาวิทยาลัยบนหน้าปกและปรากฏตัวในฐานะผู้มาใหม่อีกแล้ว

อาจารย์ประจำชั้นของเรามีชื่อว่าอาจารย์ฐิติรัตน์ และแม้ว่าคำนำหน้าชื่อของท่านจะมียศเป็นหม่อมหลวง แต่ผมจำได้ว่าอาจารย์มักแทนตัวเองด้วยคำว่าครูมากกว่าคำแทนตัวอื่นใด

อาจารย์ฐิติรัตน์แจกเค้าโครงการบรรยายพร้อมกับหนังสืออ่านประกอบรายวิชา ในรายชื่อหนังสือนั้นมีชื่อนวนิยายเรื่อง “สิทธารถะ” ที่แปลโดยนายฉุน ประภาวิวัฒน์ รวมอยู่

นอกจากนั้น ยังมีหนังสือเล่มอื่นที่นักศึกษาอาจหาอ่านเพิ่มหากสนใจ อย่างหนังสือชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม” ของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น

จากเค้าโครงการบรรยายนั้น วิชานี้จะมีการฝึกเขียน ฝึกวิเคราะห์บทความหรืองานเขียนของนักเขียนไทยในอดีต

บทความเหล่านั้นมีตั้งแต่บทความเรื่อง “โคลนติดล้อ” ของอัศวพาหุ ไปจนถึงบทความเรื่อง “เสือใบ เสือดำ” ของสมเกียรติ วันทะนะ

บทความเหล่านั้นอาจารย์ฐิติรัตน์ทำโรเนียวไว้ให้แล้วโดยเราสามารถหาซื้อบทความดังกล่าวได้จากห้องจำหน่ายเอกสารประกอบคำบรรยายเช่นเดียวกันกับหนังสืออ่านประกอบในรายวิชา

ดังนั้น เมื่อจบชั้นเรียน นักศึกษาทุกคนจึงตรงไปที่ห้องจำหน่ายเอกสารประกอบคำบรรยาย

ไม่เกินครึ่งชั่วโมง เอกสารปึกหนึ่งพร้อมด้วยนวนิยายเรื่อง “สิทธารถะ” ก็อยู่ในกระเป๋าสะพายของผมแล้ว

 

ชีวิตในมหาวิทยาลัยช่วงแรกนั้นมีหลายสิ่งที่น่าสนใจเหลือเกิน ชมรมต่างๆ ที่เราได้ยินแต่ชื่อในสมัยมัธยมปลายปรากฏตัวอยู่แน่นขนัดบนอาคารกิจกรรม ไม่นับชมรมด้านกีฬาที่อยู่ด้านหลัง

ในช่วงแรกของภาคการศึกษาผมใช้เวลาขลุกอยู่ในชมรมถ่ายภาพกับรุ่นพี่ชั้นปีที่สองที่ชื่อพี่ก๋ง

การได้ทดลองใช้กล้องของชมรมถ่ายรูปจำนวนมากด้วยฟิล์มขาว-ดำและนำมาอัดในห้องอัดของชมรมที่มีไฟสีแดงเรื่อ การได้เห็นกระดาษอัดรูปสีขาวค่อยๆ ปรากฏภาพที่เราตั้งใจถ่ายมานั้นให้ความตื่นเต้นอย่างมาก

ไม่นับกับวิชาเรียนและกิจกรรมอื่นๆ เช่น การตระเวนกินอาหารรอบๆ มหาวิทยาลัย

กิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผมใส่ใจกับการเรียนในชั้นในระดับที่พอให้สอบผ่าน หลายวิชา เช่น อารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมไทยนั้นเป็นการเรียนในห้องบรรยายรวมที่มีโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งถ่ายทอดมาจากห้องบรรยายหลัก

ในห้องบรรยายที่ว่านี้นักศึกษาย่อมมีอิสระที่จะเดินเข้าหรือเดินออกได้ทุกขณะหากไม่รบกวนผู้อื่น

ดังนั้น ผมจึงพบว่าตนเองสมัครใจที่จะเดินออกจากห้องเรียนไปนั่งกินกาแฟที่โรงอาหารหรือทดลองสูบบุหรี่พร้อมกับถกเถียงเรื่องปัญหาสังคมกับเพื่อนต่างคณะที่นั่งอยู่ตามมุมต่างๆ

อาจกล่าวได้ว่าวิชาเรียนในชั้นปีที่หนึ่งดึงดูดใจผมน้อยเต็มที เว้นเพียงแต่วิชาภาษาไทยเท่านั้นเอง

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นวิชาน่าเบื่อนับแต่แรกได้ยิน (ก็ใครที่ใดเล่าจะรู้สึกว่าการเรียนในภาษาประจำชาติของตนนั้นเป็นสิ่งตื่นเต้นไปได้)

ทว่า อาจารย์ฐิติรัตน์ผู้เป็นผู้รับผิดชอบรายวิชากลับมีกลวิธีมากมายในการตรึงให้พวกเราสนุกสนานกับการเรียนครั้งละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง อาทิตย์ละสองครั้งได้อย่างน่าประหลาด

อาจารย์จำชื่อของพวกเราได้ทุกคน อาจารย์จำคณะเรียนของพวกเราได้ทุกคน การให้การบ้านในทุกสัปดาห์ของอาจารย์ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย แต่กลับเป็นดังแบบทดสอบทางปัญญาและความรู้ขนานใหญ่

คำถามพื้นๆ ที่อาจารย์ให้เราวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดชาวจีนที่ดูเหมือนจะเป็นกำลังขับเคลื่อนขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจของสังคมไทยจึงถูกเปรียบเทียบเป็นดังปลักโคลนที่ทำให้ล้อเกวียนเคลื่อนที่ไปได้ยากในสมัยอดีต

พวกเราทุกคนแข่งขันกันเขียนบทวิเคราะห์ ต่างคนต่างใช้ความรู้พื้นฐานและการค้นคว้าเพิ่มเติมมาตอบคำถามนี้

หรือการเขียนบทวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใด เสือใบและเสือดำ บุคคลนอกกฎหมายจึงกลายเป็นตัวละครเอกของสังคมไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การกระตุ้น การตั้งคำถาม การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ทำให้วิชาภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่ผมเข้าเรียนในแทบทุกครั้ง

วันเวลาของการเรียนผ่านไปจนถึงครึ่งเทอมและในชั่วโมงเรียนครั้งสุดท้ายก่อนการสอบ อาจารย์ฐิติรัตน์แจ้งกับพวกเราว่าข้อสอบข้อหนึ่งจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธารถะ” ตัวละครเอกในหนังสืออ่านนอกเวลาเล่มนั้น

คืนวันนั้น ผมค้นหนังสือนวนิยายเล่มดังกล่าวที่ถูกทับไว้เกือบใต้สุดของตำราเรียน หนังสือปกแข็งขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือเล็กน้อย หน้าปกเป็นภาพวาดที่มีรูปภาพของพระพุทธเจ้า

แรกหยิบ ผมคิดถึงหนังสือนิทานชาดกหรือเรื่องแต่งที่อิงพุทธประวัติอย่าง “กามนิตและวาสิฏฐี” เรื่องแต่งที่จบลงด้วยการอ้างพุทธภาษิตหรือพุทธวจนะบางประการ

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ หลังการพลิกอ่านไปได้หนึ่งร้อยหน้าผมพบว่านวนิยาย “สิทธารถะ” แม้จะเป็นนวนิยายที่ใช้ฉากและตัวละครในยุคพุทธกาล แต่มันกลับปราศจากเรื่องราวโน้มน้าวจิตใจเช่นนั้น

สิทธารถะเป็นนวนิยายที่แสดงถึงการแสวงหาของคนหนุ่มผู้หนึ่ง

สิทธารถะเป็นนวนิยายที่แสดงถึงบุคคลผู้มีเลือดเนื้อที่อุทิศตนให้กับการเรียนรู้อย่างหมดจิตหมดใจ

นวนิยาย “สิทธารถะ” พาผมกลับไปสู่นกนางนวลที่มีชื่อว่า “โจนาธาน” อีกครั้งหนึ่ง

 

เรื่องราวของ “สิทธารถะ” เริ่มต้นด้วยชายหนุ่มผู้หนึ่งที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ที่มีนามว่าสิทธารถะ

ชายหนุ่มผู้นั้นได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี

บิดา-มารดาของเขาคาดหวังว่าเขาจะกลายเป็นพราหมณ์ผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยกย่อง นับหน้าถือตา แห่งชุมชนนั้น

หากแต่สิทธารถะ หาได้พอใจชีวิตดังกล่าว เขากับเพื่อนสนิทที่มีนามว่า “โควินทะ” ปรารถนาการเข้าถึงสัจธรรมหรือความจริงอันสูงสุดของชีวิตเท่าที่ชีวิตนี้จะหาได้

แน่นอนที่สุดในยุคสมัยดังกล่าว มหาศาสดาที่ทั้งสิทธารถะและโควินทะต้องเดินทางไปถึงย่อมมีพระสมณโคดมอยู่ด้วย

หลังการเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ โควินทะได้กล่าวกับสิทธารถะว่าเขาได้พบผู้ที่จะสั่งสอนและชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตให้แก่เขาแล้ว เขาจะพำนักและปวารณาตนเป็นศิษย์ของพระพุทธองค์ เขาจะหยุดการแสวงหาอีกต่อไปและมุ่งหน้าที่การค้นพบสิ่งสูงสุดอันได้แก่ “นิพพาน”

การต้องแยกจากเพื่อนรักนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้า โควินทะเองก็พยายามโน้มน้าวจิตใจให้สิทธารถะพำนักอยู่กับพระพุทธองค์ด้วยกัน การได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่มีพระพุทธองค์เป็นผู้นำทางจิตใจนั้นไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมีโอกาสหรือประสบเช่นนั้นได้ง่ายดาย

แต่กระนั้น สิทธารถะเองก็หาได้โอนอ่อนตาม เขาเชื่อว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้นประเสริฐและทรงคุณค่าจริง เขาหาได้มีสิ่งใดเคลือบแคลงในคำสอนเหล่านั้น

หากแต่ตัวเขายังรู้สึกว่าตนเองหาได้เข้าใจหรือมีประสบการณ์ด้านชีวิตมากพอ

เขายังอยากออกเดินทาง เรียนรู้ชีวิตในด้านอื่นๆ

ทั้งคู่จำใจแยกจากกัน โดยที่สิทธารถะให้คำมั่นว่าเขาทั้งคู่จะได้กลับมาพบกันและถ่ายทอดในสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างได้เรียนรู้อย่างแน่นอน

 

สิทธารถะออกเดินทางต่อ เขาเดินทางไปพบกับ “กมลา” หญิงงามเมือง ที่เป็นที่ปรารถนาของชายจำนวนมาก เขาใช้ชีวิตอยู่กับนางก่อนจะมีบุตรด้วยกัน ชีวิตของเขาน่าจะจบลงที่นั่นแต่แล้วจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาของเขาก็เรียกร้องเขาอีกครั้ง

สิทธารถะผละออกจากกมลาและบุตร ออกเร่ร่อนสัญจรไป

ในช่วงเวลานั้นเขาได้รับข่าวการจากไปของบุคคลในครอบครัว จิตใจของเขาแตกสลาย เขาเดินทางมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง

และพบกับชายคนแจวเรือข้ามแม่น้ำ มีนามว่า “วาสุเทพ”

 

ในคืนนั้น ผมอ่านนวนิยายเรื่องดังกล่าวจนถึงฉากที่สิทธารถะได้พบกับวาสุเทพ

แต่กระนั้นตลอดเวลาแห่งการอ่าน คำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นคำถามที่เหนือกว่าการเป็นข้อสอบ เป็นคำถามที่แฮร์มัน เฮสเส ผู้เขียนทิ้งไว้ให้กับเรา เป็นคำถามที่สำคัญต่อบุคคลที่เชื่อว่าตนเองเป็นพุทธศาสนิกหรือคนที่สนใจในพุทธศาสนา

คำถามที่ว่า “ทำไมชายหนุ่มผู้เต็มไปด้วยพลังแสวงหาจึงปฏิเสธมหาศาสดาอย่างพระพุทธองค์? เสียได้”