จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (12) ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (12)

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)

 

พงศาวดารฉบับดังกล่าวเล่าต่อว่า ชีวิตในวัยเด็กของเตมูจินไม่สู้จะได้รับความรักจากผู้เป็นบิดามากนัก แต่เขาก็อยู่มาได้จนอายุเก้าขวบ บิดาก็จัดให้เขาได้หมั้นหมายกับเด็กหญิงที่มีอายุมากกว่าเขาเล็กน้อย จากนั้นก็ทิ้งให้เตมูจินอยู่กับคู่หมั้นแล้วตนเองก็เดินทางกลับ

ระหว่างที่บิดาเดินทางมาได้ระยะหนึ่งก็พบว่า ตาตาร์เผ่าหนึ่งกำลังมีงานเลี้ยงฉลองกันอยู่ เขาจึงแฝงตัวเข้าไปร่วมในงานเลี้ยงแล้วก็พบว่า ตาตาร์เผ่านี้เป็นเผ่าเดียวกับที่เขาเคยสู้รบด้วย และก็เป็นเขาเองที่ได้สังหารขุนศึกของตาตาร์เผ่านี้

โชคร้ายของเขาก็คือ มีตาตาร์บางคนจำเขาได้ ตาตาร์คนนั้นจึงได้วางยาพิษเขา

บิดาของเตมูจินที่ถูกวางยาพิษดั้นด้นกลับมาถึงกระโจมได้ไม่นานก็ตายจากไป โดยที่เตมูจินมาไม่ทันได้ดูใจ

บิดาจากไปโดยทิ้งภรรยาสองคนและลูกอายุต่ำกว่าสิบขวบ รวมแล้วเจ็ดคนเอาไว้

เวลานั้นครอบครัวของเตมูจินอยู่ภายใต้การควบคุมของตระกูลตายิชิอุด (Tayichiud, Taichuud) มาสามชั่วคนแล้ว ตระกูลนี้ควบคุมครอบครัวของเตมูจินอย่างกดขี่ขูดรีดอยู่เสมอ ไม่เพียงเท่านั้น เตมูจินยังมีพี่ชายต่างมารดาอีกคนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับเขาอีกด้วย

พี่ชายคนนี้ได้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวหลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิต ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของมองโกลมาแต่เดิม แต่ชีวิตในวัยเด็กของเตมูจินก็มีเรื่องดีอยู่เช่นกันคือ เตมูจินมีเพื่อนร่วมสาบานคนหนึ่งมีชื่อว่า จามูกา (Jamukha)

ภายใต้สภาพดังกล่าวได้นำพาชีวิตของเตมูจินเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงที่ว่าเตมูจินอยู่ในวัยมานพน้อย โดยเขากับน้องชายได้ร่วมกันฆ่าพี่ชายต่างมารดาตาย ทั้งนี้ เพื่อหนีจากการถูกรังแก

เหตุการณ์นี้ทำให้เตมูจินถูกพวกตายิชิอุดจับกุมตัวโดยใส่ขื่อคาเอาไว้

แต่หลังจากนั้นเขาได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวหนึ่งที่เห็นใจเขา ครอบครัวนี้ช่วยทำลายขื่อคาให้เขาและชี้ทางให้เขาหนีได้อย่างปลอดภัย เตมูจินหลบหนีไปหาคู่หมั้นของเขาที่ยังคอยเขาอยู่ เมื่อพบกันแล้วทั้งสองจึงแต่งงานกัน จากนั้นก็เดินทางไปยังบ้านเกิดของฝ่ายชาย

ชีวิตหลังจากนี้ของเตมูจินจึงไม่ต่างกับการตั้งต้นชีวิตใหม่

 

และเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนและครอบครัว เขาได้เข้าไปสวามิภักดิ์กับตระกูลเคเรยิด (Keraites, Kerait, Kereit, Khereid) หัวหน้าตระกูลนี้มีชื่อว่า ตอร์กิล (Toghrul) แต่รู้จักและเรียกขานกันในอีกชื่อหนึ่งว่า องข่าน (Ong Khan)

เตมูจินจึงใช้ชีวิตอย่างสงบตามวิถีของชาวมองโกลดังที่เคยเป็นมา

แต่ชีวิตที่สงบกลับอยู่ได้ระยะหนึ่งเท่านั้น ด้วยในคืนวันหนึ่งครอบครัวของเตมูจินก็ถูกบุกเข้าปล้นโดยมองโกลพวกเมอร์คิด (Merkid) ตัวเขาหนีรอดมาได้ แต่ภรรยาของเขากลับถูกพวกที่ปล้นจับตัวเอาไป

ถึงตอนนี้เตมูจินจึงเข้าไปขอความช่วยเหลือจากองข่านและจามูกาเพื่อนร่วมสาบานของเขา ทั้งองข่านกับจามูกาตอบรับด้วยดี จากนั้นเตมูจินและกองกำลังของทั้งสองก็บุกเข้าโจมตีเมอร์คิดได้สำเร็จ

เตมูจินได้ภรรยาของเขากลับมาอยู่กินด้วยกันดังเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือเขาพบว่า ภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์ ต่อไปครรภ์นี้จะทำให้เตมูจินได้บุตรชายคนแรก และจะเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่รู้จบว่าใครคือบิดาที่แท้จริงของเด็กคนนี้

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์บุกเข้าโจมตีพวกเมอร์คิดไปแล้ว เตมูจินได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจามูกา สถานะเช่นนี้มีความขัดแย้งกันเองในตัว เพราะข้างหนึ่งเตมูจินมีฐานะเป็นเพื่อนร่วมสาบานกับจามูกา ฐานะนี้ย่อมทำให้ทั้งสองเสมอภาคกัน

แต่อีกข้างหนึ่งเป็นโลกที่มีการจัดระดับชั้นทางสังคม ในข้างนี้ปรากฏว่าจามูกากลับมีชาติตระกูลที่สูงกว่าเตมูจิน

ความขัดแย้งนี้ได้แสดงผลออกมาให้เห็นในไม่นาน เมื่อจามูกามิได้ปฏิบัติต่อเตมูจินในฐานะเพื่อน แต่ในฐานะที่เป็นเสมือนน้องชาย และแล้วปัญหาก็ถึงคราวแตกหักเมื่อจามูกาจะต้องย้ายถิ่นไปยังที่แห่งใหม่ แต่แจ้งให้เตมูจินนำสัตว์เลี้ยงชั้นต่ำสุดคือแพะกับแกะแยกไปอีกแห่งหนึ่ง ส่วนจามูกานำสัตว์เลี้ยงชั้นหนึ่งคือม้าไปยังอีกแห่งหนึ่ง

เรื่องนี้ยังความไม่พอใจให้แก่ครอบครัวของเตมูจินเป็นที่ยิ่ง

จากเหตุนี้ ครอบครัวเตมูจินและผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่งจึงลักลอบหนีออกจากกลุ่มไปในคืนวันหนึ่ง และนั่นเองที่บาทก้าวแรกในการตั้งตนเป็นใหญ่ของเตมูจิน เวลานั้นเตมูจินมีอายุได้ 19 ปี โดยที่หลังจากนั้นต่อมา ตระกูลและชาติวงศ์ต่างๆ ของมองโกลได้ทยอยกันเข้าร่วมกับกลุ่มของจามูกาและเตมูจิน

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เตมูจินกับจามูกาได้เปลี่ยนฐานะจากเพื่อนร่วมสาบานมาเป็นศัตรูกันแล้ว

 

เหตุการณ์หลังจากนั้นจึงกลายเป็นว่า เตมูจินกับจามูกาได้ทำศึกต่อกันมาอีกยาวนานหลายปี แล้วมาจบลงตรงที่เตมูจินเป็นฝ่ายชนะโดยส่วนใหญ่ ระหว่างนั้นเตมูจินได้ทำการปฏิรูปกองทัพของตนจนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน องข่านที่เป็นเสมือนบิดาบุญธรรมของเตมูจินก็เริ่มแก่ตัวลง และเริ่มไม่ไว้ใจเตมูจินด้วยเกรงว่าเตมูจินจะยึดอำนาจของตนไป

จากเหตุนี้ องข่านจึงวางแผนที่จะสังหารเตมูจิน แต่เตมูจินล่วงรู้ถึงแผนนี้จนทำให้เขาสิ้นความจงรักภักดีที่เคยมีให้แก่องข่าน จากนั้นจึงได้กรีธาทัพเข้าตีฐานขององข่านจนแตกในคืนวันหนึ่ง องข่านหนีไปอยู่กับเผ่าไนแมน แต่ก็ถูกคนของเผ่านี้สังหารอย่างอนาถ

มรณกรรมขององข่านทำให้มองโกลไร้ผู้สูงสุด การขับเคี่ยวเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำสูงสุดคนต่อไปจึงเกิดขึ้น

 

เตมูจินประสบผลสำเร็จในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของมองโกล โดยหลังจากที่องข่านสิ้นชีพไปใน ค.ศ.1204 แล้ว เตมูจินก็สามารถเอาชนะจามูกาและประหารชีวิตเขาตามที่เขาร้องขอ หลังจากนั้นเตมูจินก็กำราบมองโกลเผ่าต่างๆ จนหมอบราบคาบแก้ว

แล้วก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดโดยไม่มีใครต้านทานได้อีก

เวลานั้นเตมูจินยึดครองดินแดนเหนือทะเลทรายโกบีไปจนถึงทุ่งทุนดรา (Tundra) ทางเหนือของอาร์กติก และตั้งแต่ป่าแมนจูเรียทางตะวันออกไปจนถึงเทือกเขาอัลไตทางตะวันตก

ดินแดนที่เตมูจินปกครองนี้มีประชากรมองโกลเผ่าต่างๆ ราวหนึ่งล้านคน แต่มีสัตว์เลี้ยงในราว 15 ถึง 20 ล้านตัว จากนั้นก็ตั้งชื่อจักรวรรดิใหม่ของตนโดยใช้ชื่อเผ่าเดิมของตนว่า เยเค มองโกล อูลูส (Yeke Mongyol Ulus) ที่หมายถึง มหารัฐมองโกล (Great Mongol State)

เมื่ออำนาจมั่นคงแล้วเตมูจินก็ให้ยกเลิกตำแหน่งของชนชั้นสูงที่สามารถสืบทอดผ่านวงศ์ตระกูล ชาติวงศ์ และเผ่าที่มีมาแต่เดิม โดยให้ตำแหน่งทั้งหมดเป็นของรัฐ ไม่ใช่ของปัจเจกชนหรือครอบครัว

และตำแหน่งทั้งปวงนี้จะถูกจัดสรรตามความประสงค์ของผู้ปกครองคนใหม่

 

ส่วนตัวเขาเองได้ปฏิเสธที่จะใช้ชื่อตำแหน่งของเผ่าที่ใช้กันมาแต่เดิมเช่นกัน แต่เลือกที่จะใช้ชื่อว่า ชิงกิสข่าน ต่อมาชื่อนี้ได้เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกผ่านการออกเสียงแบบเปอร์เซียว่า เจงกิสข่าน

คำว่า ชิน ในภาษามองโกลหมายถึง แข็งแรง มั่นคง ไม่สั่นคลอน และไม่หวั่นไหว ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า ชิโน ที่หมายถึงหมาป่าในภาษามองโกล ชื่อของเขาจึงมีปฏิสัมพันธ์กับความเชื่อของมองโกลที่ว่ามีชาติกำเนิดจากหมาป่า

แต่บางที่ก็ว่า เจงกิส หมายถึง มหาสมุทร ผู้ครองจักรวาล

และจากคำเรียกที่ลงท้ายด้วยคำว่า ข่าน นี้ก็ยังทำให้เห็นด้วยว่า คำที่เคยใช้เรียกคนที่เป็นผู้นำว่า คากาน หรือ คากาเนท ที่หมายถึง ผู้นำสูงสุด มาก่อนหน้านี้นั้น มาบัดนี้กร่อนมาเป็นคำว่า ข่าน ไปแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากจะเปรียบเทียบอำนาจของมองโกลกับชนชาติอื่นที่ตั้งตนเป็นใหญ่ดุจเดียวกันแล้ว มองโกลดูจะมีอำนาจเหนือกว่ามาก และก็ด้วยเหตุนี้มองโกลภายใต้การนำของเจงกิสข่านจึงกรีธาทัพบุกไปยังทางตะวันตก

เพื่อขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ไพศาลไปจนถึงยุโรป