‘We Fair’ แถลงจี้รัฐบาล ตัดงบเหล่าทัพ-เก็บภาษีคนรวย เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน ลั่นวัคซีนต้องฟรี-ถ้วนหน้า

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า วิกฤติการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 403,386 คน ผู้เสียชีวิต 3,341 คน นับเป็นโศกนาฎกรรมของสังคมไทยที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดล้มเหลวจากรัฐบาลประยุทธ ที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เป็นการสร้างความสิ้นหวังรวมหมู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ควรรับผิดชอบเพียงการลดเงินเดือน 3 เดือน กล่าวคือ
.
1) ความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาด
1.1) ความสับสนในการบริหารสถานการณ์ ไม่สามารถประสานการทำงานร่วมของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2) ขาดการตอบสนองการแก้ไขปัญหาอย่างมีบูรณาการ
1.3) งบประมาณเงินกู้ด้านสาธารณสุข นับตั้งแต่เงินกู้รอบแรก จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ใช้ไปเพียง 11,621 ล้านบาท (26.1%)
.
2) ความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน
2.1) ความไร้วิสัยทัศน์พึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสัดส่วนที่สูง การไม่เข้าร่วมโครงการ Covax
2.2) วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลต่ำในการสร้างภูมิคุ้มกันการติดเชื้อสายพันธ์เดลต้า
2.3) อัตราการฉีดวัคซีนเท่าที่เป็นอยู่จะครบทั้งหมดปลายปี 2565 และหากเพิ่มเป็น 5 แสนโดส/วัน จะใช้เวลาถึงกลางปี
2.4) การจัดลำดับความสำคัญการกระจายวัคซีน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรการแพทย์ ไม่เกิดขึ้นจากระบบอภิสิทธิ์ชน พรรคร่วมรัฐบาลแย่งบทบาทกัน หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนไม่มีกลไกติดตามที่กำหนดไว้
.
3) ความล้มเหลวในมาตรการเยียวยา
3.1) การเยียวยาไม่ถ้วนหน้า ไม่คำนึงถึงสิทธิ เน้นพิสูจน์ความยากจน ไม่ทันสถานการณ์ กีดกันคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงสวัสดิการด้วยการชิงโชคเป็นโปรโมชั่นบนความทุกข์ยากและความตายของประชาชน
3.2) มาตรการเชิงสงเคราะห์ ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ การจัดสรรเงินไม่เพียงพอต่อผลกระทบ
3.3) การปัดภาระการเยียวยาโดยหลีกเลียงการประกาศล็อคดาวน์ ทำให้แรงงานและผู้ประกอบการไม่ได้รับการช่วยเหลือ
.
เครือข่าย We Fair มีข้อเสนอในวิกฤตการณ์โควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีพันล้านดอลลาร์ จำนวน 52 คน สูงกว่าอิตาลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วงโควิด-19 อาทิ นายธนินท์ เจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 18,100 ล้านดอลลาร์ ในทางกลับกันคนไทยนับล้านคนตกอยู่ในภาวะว่างงาน ภาระหนี้สินครัวเรือนพุ่งถึง 90% ของจีดีพี โดยมีข้อเสนอแนวทาง“รัฐสวัสดิการ” ดังต่อไปนี้
1. วัคซีน mRNA และชุดตรวจ Rapid Test ฟรีและถ้วนหน้า
1.1) เร่งรัดการนำเข้า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้เป็นวัคซีนหลักเพื่อนำมาฉีดฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน และเพื่อเป็นวัคซีนฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์
.
1.2) การจัดหาชุดตรวจ Rapid Antigen Test ฟรีและถ้วนหน้าสำหรับทุกคน เนื่องจาก ชุดตรวจราคา 300-400 บาท เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำถือว่าสูงเกินไป ในขณะที่เยอรมันนีมีขายตามร้านขายยาในราคา 0.80-4 € (ประมาณ 20-150 บาท) ในเดนมาร์กมีจุดรับตรวจด้วย Rapid Test และ PCR ฟรี รวม 613 แห่งทั่วประเทศ สามารถเข้าไปตรวจได้โดยไม่ต้องนัดหมาย และหลายประเทศใช้ชุดตรวจ Rapid Test เพื่อแยกผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด หากได้ผลบวกจะตรวจแบบ PCR ซ้ำ Rapid Test จึงเป็นอุปกรณ์ที่ต้องแจกจ่ายให้ถึงประชาชน ทั้งแจกฟรี จำหน่ายราคาถูก และจัดส่งถึงบ้าน
.
1.3) เปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca และ Sinovac รวมถึงวัคซีนอื่นๆ ทุกขั้นตอนการดำเนินการ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาการระบาดอย่างแท้จริง
.
2. ยกระดับล็อคดาวน์ต้องยกระดับเยียวยาเร่งด่วน
2.1) การเยียวยาประชาชนที่มีอายุเกิน 18 ปี ด้วยเงินรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic income หรือ UBI) เดือนละ 5,000 บาท อย่างน้อย 3 เดือน
.
2.2) มาตรการด้านสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย ลดค่าใช้จ่าย อย่างน้อย 6 เดือน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าทางด่วน ค่าโดยสาร ค่าเช่าบ้าน ค่าหน่วยกิตมหาวิทยาลัย ในกรณีที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย ห้ามการไล่-รื้อในกรณีที่ไม่มีค่าเช่าบ้าน รวมทั้งห้ามขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินรัฐ ในช่วงที่ไม่สามารถรวมตัวเช่นสถานการณ์ปกติได้
.
2.3) มาตรการด้านหนี้สิน/สินเชื่อ พักการชำระหนี้สินและดอกเบี้ย 1 ปี ได้แก่ หนี้สินบุคคล บ้าน รถ การศึกษา กยศ. และยุติการคำนวณดอกเบี้ย ระงับการฟ้องคดีล้มละลายบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็ก
.
2.4) มาตรการแรงงาน (1) กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดงานหรือราชการสั่งปิด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายเงินให้ลูกจ้างรวมเป็น 100% (2) ผู้ประกันตน มาตรา 33 กรณีนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวโดยมิใช่เหตุสุดวิสัยแต่เป็นเหตุอื่นตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 75% โดยให้รัฐจ่ายส่วนต่างอีกจำนวน 25% (3) การลดเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐจ่ายสมทบแทน (4) สนับสนุนแรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 โดยรัฐจ่ายสมทบให้ช่วงโควิดและส่งเสริมให้เข้าสู่ประกันสังคมทั้งหมด
.
3. สร้างรัฐสวัสดิการ ปรับงบประมาณ 2565 ตัดงบอาวุธ และเก็บภาษีคนรวย
3.1) การสร้างรัฐสวัสดิการ จากงบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท โดยจัดลำดับความสำคัญเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์โควิด การตัดงบประมาณอาวุธ และเพิ่มงบประมาณสวัสดิการประชาชน ดังนี้
(1) การตัดงบประมาณอาวุธ จะทำให้มีวัคซีน Pfizer สำหรับประชาชนกว่า 28 ล้านคน 1) เรือดำน้ำ 2 ลำ (22,500 ล้านบาท) ได้วัคซีน 18.5 ล้านคน 2) รถยานเกราะStryker 20 คัน (1.8 พันล้านบาท) รถถังหลัก VT-4 10 คัน (1.9 พันล้านบาท) ได้วัคซีน 3.04 ล้านคน 3) เครื่องบินโจมตี AT-6TH 8 ลำ (4.5 พันล้านบาท) ดาวเทียม#Microsat 2 ดวง (1.4 พันล้านบาท) จรวดต่อสู้อากาศยาน (2.2 พันล้านบาท) ได้วัคซีน 6.65 ล้านคน
(2) นโยบายสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า
2.1) เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กแรกเกิด 0-6 ปี กว่า 4.2 ล้านคน ได้เงินอุดหนุนจำนวน 600 บาท/เดือน เฉพาะครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท/ปี ทำให้เด็กได้รับเงินเพียง 1.4 ล้านคน รัฐต้องจัดเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ซึ่งจะใช้งบประมาณ 30,533.98 ล้านบาท จากงบเดิม 13,074 ล้านบาท
2.2) ประกันสังคมคนทำงานถ้วนหน้า แรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ แรงงานภาคเกษตร กว่า 20 ล้านคน เข้าถึงประกันสังคม มาตรา 40 เพียง 3.3 ล้านคน รัฐควรจูงใจให้แรงงานอิสระ 17 ล้านคน เข้าสู่ประกันสังคม โดยจ่ายเงินสมทบให้ 3 เดือน เดือนละ 100 บาท ใช้งบประมาณการ 5,100 ล้านบาท
2.3) บำนาญผู้สูงอายุถ้วนหน้า ผู้สูงอายุ 12.04 ล้านคน รัฐต้องพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1000 บาท เป็นเงินบำนาญ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ทั้งนี้ หากเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพเท่ากัน 1,000 บาท ตามนโยบายพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้งบประมาณ 144,480 ล้านบาท จากงบเดิม 80,970 ล้านบาท
2.4) เงินคนพิการถ้วนหน้า คนพิการ 2 ล้านคน ได้รับเบี้ยพิการ 800 บาท ส่วนคนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เพิ่ม 200 บาท โดยมีคนพิการ 8.8 แสนคน ได้รับ 800 บาท รัฐต้องพัฒนาเบี้ยความพิการโดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน ทั้งนี้ หากเพิ่มเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท จะใช้งบ 24,000 ล้านบาท จากงบเดิม 19,023 ล้านบาท
.
3.2). การปฏิรูประบบภาษีและภาษีความมั่งคั่ง
3.1) การปฏิรูประบบภาษี ได้แก่ (1) การปรับปรุงการลดหย่อนและการยกเว้นภาษี ซึ่งมีลักษณะที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนและเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีรายได้สูง (2) การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีเงินได้ (3) การจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (Capital Gains Tax) (4) ภาษีมรดก
3.2) ภาษีความมั่งคั่งคนรวย 1% การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับธนาคารโลกที่แนะนำให้รัฐบาลปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้สำหรับผู้ที่มีฐานะร่ำรวย เพื่อนำไปช่วยชำระหนี้มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท จากการประเมินของ นักวิชาการ การเก็บภาษีความมั่งคั่งที่อัตรา 3.5% กับมหาเศรษฐี 10 อันดับแรก จะเก็บภาษีได้ประมาณการ 125,000 ล้านบาท มหาเศรษฐี 50 อันดับแรก จะเก็บได้ประมาณการ 185,000 ล้านบาท
.
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้สังคมไทยได้บทเรียนว่า “สวัสดิการถ้วนหน้า” สามารถเยียวยาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลหลายประเทศไม่เพียงมีมาตรการเยียวยา แต่มีนโยบายสวัสดิการสังคมตามแนวคิดรัฐสวัสดิการ การเข้าถึงสิทธิเสมอกันไม่แบ่งแยก การพัฒนาหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคมคนทำงาน ระบบบำนาญผู้สูงอายุ รวมทั้งระบบเงินเดือนถ้วนหน้า เพื่อรองรับประชาชน นับตั้งแต่ความเดือดร้อนอันดับแรก ได้แก่ หน้ากากอนามัย รายได้ที่สูญเสีย ชุดตรวจโรค วัคซีนที่มีคุณภาพ จนถึงเตียงในการรักษาพยาบาล
.
เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)