สำรวจเทรนด์วัคซีนโควิด-19 บนโลกออนไลน์ เมื่อโลกเผชิญเชื้อกลายพันธุ์/รายงานพิเศษ ไซเบอร์ วอชเมน

รายงานพิเศษ

ไซเบอร์ วอชเมน

 

สำรวจเทรนด์วัคซีนโควิด-19

บนโลกออนไลน์

เมื่อโลกเผชิญเชื้อกลายพันธุ์

 

ไม่มีประเด็นใดที่ร้อนแรงและสร้างพลังเรียกร้อง (รวมถึงแรงแค้นสาปส่งรัฐบาล) อย่างหนักมากไปกว่า “วัคซีนโควิด” แล้ว

เพราะการระบาดของโควิดสายพันธุ์สุดดุอย่าง “เดลต้า” ได้ลุกลามอย่างหนัก ไม่เพียงไทยที่ต้องเจอการติดเชื้อและเสียชีวิตไต่ขึ้นหลักหมื่น บางประเทศก็พบการระบาดแล้ว

ประเทศต่างๆ ได้ฉีดวัคซีนต่างชนิดและเทคโนโลยี ซึ่งก็ส่งผลต่อการป้องกันโควิดกลายพันธุ์ที่แตกต่างกัน มีทั้งรับมือได้ หรือต้องตัดสินใจฉีดบูสเข็ม 3 เพื่อเพิ่มการป้องกัน

ในส่วนวัคซีนเอง แนวโน้มโควิดที่ทั่วโลกกำลังเจอเชื้อกลายพันธุ์สายใหม่ตามมา ทำให้เร่งพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 หรือวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ หรือปรับรูปแบบการใช้วัคซีนเพิ่มเสริมการป้องกันมากขึ้น

เพื่อนำหน้า เอาชนะ หรืออยู่ร่วมกับโรคอุบัติใหม่นี้โดยไม่เจ็บ ไม่ป่วยหนักและไม่ตาย

 

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ประหลาดๆ ออกมาโลดโผนใส่มนุษยชาติ วัคซีนโควิดที่คิดค้นและผลิตก็มีทั้งเทคโนโลยีเดิมที่ใช้มายาวนาน จนถึงเทคโนโลยีใหม่ที่แต่เดิมเป็นเพียงขั้นทดลองในห้องแล็บยังไม่เคยใช้จริงๆ

เมื่อถูกพัฒนาและผลิตเป็นวัคซีน ก็กลายเป็นการแข่งขันทั้งเอาชนะโรคระบาด แข่งขันสร้างความนิยมทางการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจรักษาโรค และวัคซีนส่วนใหญ่ถูกผลิตโดยชาติชั้นนำและชาติมหาอำนาจ

ซึ่งแบ่งได้ชัดเจน

คือฝั่งแรก สหรัฐ พัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยี mRNA (ไฟเซอร์-โมเดอร์นา) และ Adenovirus หรือ Viral Vector (จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) ฝั่งยุโรป-รัสเซีย คือ Adenovirus (แอสตร้าเซนเนก้าและสปุกนิก-วี) และฝั่งจีนเป็นผู้ผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีเชื้อตายเป็นหลัก Inactivated Virus (ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม)

วัคซีนที่ผลิตในประเทศเหล่านี้ ต่างนำเสนอคุณสมบัติตัวเองผ่านสื่อและงานวิจัยบนโลกออนไลน์ เพื่อแข่งขัน ชิงส่วนแบ่งทางการตลาดและส่งมอบผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าระดับทวิภาคีหรือพหุภาคีแบบพิเศษ อย่าง COVAX

การพัฒนาวัคซีนนี้ ยังเป็นสิ่งที่บ่งชี้ชัดอยู่แล้วว่า วัคซีนคือทางรอดฉุกเฉินในการตัดวงจรการติดเชื้อ ไม่ใช่พึ่งพาแต่การกักกัน การเว้นระยะห่าง หรือการจำกัดการเดินทาง หรือแม้แต่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

เพราะต่อให้ทำวิธีนั้น เชื้อโรคอาจไม่ได้หายไปและเศรษฐกิจโลกยุคนี้ ยิ่งหยุดนิ่งนานยิ่งมีแต่เสียหาย

 

ในช่วงก่อนการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ วัคซีนจากเทคโนโลยีเชื้อชายสัญชาติจีนทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม แม้ผลการวิจัยที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ได้ประจักษ์ถึงประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อก็ตาม จีนได้ส่งออกวัคซีนของตัวเองไปมากกว่า 350 ล้านโดส ให้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะโซนละตินอเมริกา แอฟริกา กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย และบางประเทศในเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์)

ยกตัวอย่างประเทศที่ใช้วัคซีนจากจีน อย่างประเทศบาห์เรน ช่วงปี 2563 เป็นชาติแรกที่ใช้ซิโนฟาร์ม หลังได้รับอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง และถูกใช้อย่างกว้างขวาง

แต่การปรากฏของสายพันธุ์เดลต้า แม้บาห์เรนจะฉีดวัคซีนให้ประชากรเกือบ 50% แล้วก็ตาม กลับต้องเตือนภัยระดับประเทศเมื่อผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 โดส ไม่เพียงพอที่จะป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ ต้องเร่งนำเข้าวัคซีนแบบ mRNA ของไฟเซอร์-ไบออนเทคเข้ามาบูสเสริม โดยผู้ฉีดซิโนฟาร์มเข็มล่าสุด ต้องรออีก 6 เดือนก่อนฉีดบูสวัคซีน mRNA

อีกประเทศคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือยูเออี ก็ฉีดซิโนฟาร์มเช่นกัน แต่เลือกต่างจากบาห์เรนคือฉีดบูสเตอร์ด้วยซิโนฟาร์ม เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยงานศึกษาของยูเออีบ่งชี้ว่าผู้ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 โดสแสดงให้เห็นว่าแอนติบอดี้ยังไม่พัฒนาเต็มที่

วัคซีนจากจีนไม่เพียงประเทศกลุ่มนี้ บางประเทศอย่างชิลี บราซิล เซเชลส์ มัลดีฟส์ อินโดนีเซีย ได้รับวัคซีนไม่ว่าซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม พอเจอสายพันธุ์เดลต้า กลับกลายเป็นว่า ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหยุดจำนวนผู้ติดเชื้อได้

อินโดนีเซียให้พลเมืองรับวัคซีนซิโนแวคเกือบถึง 60% แต่แล้วบุคลากรทางการแพทย์กลับต้องติดเชื้อจนระบบสาธารณสุขพังทลาย และมีด่านหน้าเสียชีวิตจากโควิดแม้ว่าฉีดซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว

และไทยก็เผชิญสภาพนี้เช่นกัน จนนำไปสู่การเรียกร้องทั้งสังคมไปยังรัฐบาลให้เร่งเอาวัคซีนแบบ mRNA เข้ามา

 

จากข่าวคราวล่าสุดในงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า การศึกษาร่วมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าค่าแอนติบอดี้ในการกำจัดเชื้อไวรัสของซิโนแวคต่ำมากกับโควิดกลายพันธุ์ที่น่ากังวลทั้ง 3 ชนิดในเวลานี้คือ อัลฟ่า, เบต้า และเดลต้า หลังจากงานวิจัยซิโนแวคเฟส 3 ในชิลีออกมาไม่นาน (ออกมาหลังจากไม่เปิดผลมานานหลายเดือนจนข้อมูลล้าสมัยไปแล้ว) ยิ่งยากจะปฏิเสธว่า ซิโนแวค ไม่ใช่ตัวเลือกในการรับมือเชื้อกลายพันธุ์อีกต่อไป

หรืองานศึกษาเปรียบเทียบในฮ่องกงระหว่างซิโนแวคกับไฟเซอร์-ไบออนเทค ก็แสดงผลว่า ไฟเซอร์-ไบออนเทคป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้สูงกว่าแม้ประสิทธิภาพลดลงก็ตาม แต่ผลก็ต่างกันกับซิโนแวคโดยสิ้นเชิง

เมื่อเชื้อกลายพันธุ์อย่างเดลต้ามาแรงแบบไปที่ไหนติดที่นั่น แม้แต่จีนเองก็ต้องยอมรับว่าวัคซีนเชื้อตายไม่สามารถรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ ก็ต้องอ้าแขนรับวัคซีน mRNA

อย่างที่ทราบกันระหว่าง Fosun Pharma (โฝ่ซัน ฟาร์มา) กับไบออนเทคของเยอรมนี จับมือพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA และจีนเล็งนำวัคซีนที่พัฒนานี้มาฉีดเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิ

 

ในส่วนไทยเองนั้น เป็นที่รับรู้กันมาตลอดถึงประสิทธิภาพป้องกันของซิโนแวคจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ไทยก็มีแพทย์ที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลเอางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มานำเสนอให้สาธารณชนได้ติดตาม ซึ่งหลายคนให้ความสนใจ ไม่ว่าของ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หรือ นพ.ปวิน นำธวัช

อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะกรณีประเทศไทย เรื่องวัคซีนโควิด มีการทับซ้อนกันระหว่างนำเสนอทางวิชาการกับการเอาวิชาการมาใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง โดยเฉพาะซิโนแวคที่มีการนำเสนอแบบโฆษณาชวนเชื่อผลิตซ้ำให้เชื่อว่าซิโนแวคดีที่สุด เพราะเป็นวัคซีนที่รัฐบาลหามา ต่อให้สวนทางกับผลการศึกษาจากหลายประเทศก็ตาม

แต่เมื่อบุคลากรแพทย์ของไทยที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม กลับเป็นข่าวว่าติดเชื้อและบางคนเสียชีวิต เทรนด์ที่สนับสนุนซิโนแวคก็เปลี่ยนไปเป็นการจำนน แต่ยังมีอาการเสียดาย เลยเสนอให้มีการฉีดไขว้ผสมกันระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า จนเป็นข่าวไปทั่วโลก

เรื่องของซิโนแวคบนโลกออนไลน์ของไทย ถูกซุบซิบกันจนบางครั้งกลายเป็นทฤษฎีสมคบคิดว่า เอาซิโนแวคมาเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือมาชดเชยแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตไม่ทัน จนกระทั่งจดหมายลับของแอสตร้าเซนเนก้า รั่วออกสู่สาธารณะว่าสัญญาในการส่งมอบกับสิ่งที่รัฐบาลสัญญากับกับประชาชนนั้น ไปคนละทิศคนละทาง

ในช่วงที่เสียงของประชาชน แพทย์ พยาบาล เรียกร้อง (รวมถึงด่าทอ) รัฐบาลให้เร่งนำเข้าวัคซีนแบบ mRNA มาโดยเร็วก่อนประเทศและสังคมล่มสลายจากการติดเชื้อจนประชาชนตายคาบ้าน ตายโดยไม่มีเตียง ก็ดูเหมือนได้รับการตอบสนองแม้ยังมีลีลาอยู่ จากสิ่งที่เรียกว่า “กลไกระบบราชการ”

ไม่นับความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่าง ไม่เข้าร่วม COVAX เพราะวิสัยทัศน์คับแคบของรัฐบาล, การเชิดชูม้าเต็งที่สุดท้ายเดี้ยงกลางทาง ไม่กระจายวัคซีนตัวเลือกอีก และการดึงดันนำเข้าซิโนแวคทั้งที่ไม่ช่วยป้องกันติดเชื้อได้

ความผิดพลาดใหญ่ระดับนี้ รัฐบาลไหนก็อยู่ไม่ได้แล้ว แต่ไม่ใช่กับรัฐบาลนี้ ที่ฝืนชะตามาได้ถึง 7 ปีและยังคงดึงดันต่อ เห็นได้จากการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประชาชนร้องขอวัคซีนคุณภาพสูงและการลาออกเพื่อรับผิดชอบ

สิ่งที่ตอบกลับมา คือ แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง