วิโรจน์ แถลงจับโกหกรัฐบาล ปมจัดหาแอสตร้าฯ ซัด ‘ซุปเปอร์ดีลวัคซีนม้าเต็ง’ พังไม่เป็นท่า!

จับโกหกรัฐบาล ‘วิโรจน์’ ชี้ ‘ซุปเปอร์ดีลวัคซีนม้าเต็ง’ พังไม่เป็นท่า อ้างได้ ‘แอสตร้าฯ’ ก่อน ใครก็มาตัดยอดไม่ได้ แต่สุดท้ายเลื่อนส่งไปถึงกลางปี 65 ย้ำ รัฐบาลใช้ภาษีประชาชน 600 ล้าน หนุน ‘สยามไบโอไซน์’ การันตีผลิตวัคซีนเพื่อคนไทย แต่กลับไม่พบเงื่อนไขจำกัดการส่งออกในกรอบการทำสัญญา

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล เเถลงข่าวถึงสถานการณ์การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาล

โดยกล่าวว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีน Sinovac และเข็ม 2 เป็น AstraZeneca โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งต่อมาก็มีข่าวที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน เนื่องจากในวันที่ 13 ก.ค. ปรากฏเป็นข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค. ได้สั่งให้ทบทวนการฉีดวัคซีนสูตรผสม ดังกล่าว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ก็ได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สั่งการให้ระงับการฉีดวัคซีนสูตรผสม แต่ขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในกรณีการใช้วัคซีนสูตรผสม ซึ่ง ณ ปัจจุบันยืนยันแล้วว่า รัฐบาลจะใช้วัคซีนสูตรผสมนี้ต่อไป โดยประชาชนเข้าใจในเหตุผล ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับเปลี่ยนมาตรการการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านยืนยันว่า การฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็ม นั้นไม่อาจต้านทานการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ที่เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหนักได้

“แต่คำถามที่เกิดขึ้นในใจของประชาชนโดยทันที ก็คือ ทำไมรัฐบาลไทยจึงตัดสินใจใช้วัคซีนสูตรผสมระหว่างวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ให้ข่าวว่าเป็นการตัดสินใจใช้เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบ และตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการในระดับนานาชาติ ที่มากเพียงพอ และเมื่อเทียบเคียงกับประเทศอังกฤษ ที่ใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลัก และมีโรงงานผลิตวัคซีน AstraZeneca เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็ปรากฎว่าที่ประเทศอังกฤษ โดยคณะกรรมการร่วมด้านการให้วัคซีนและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation หรือ JCVI) ได้เสนอแนะต่อสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England หรือ PHE) ให้ใช้การฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม โดยร่นระยะเวลาเข็มที่ 2 ให้เร็วขึ้นจาก 12 สัปดาห์เป็น 8 สัปดาห์ ในการรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ทั้งๆ ที่มีโรงงานผลิตวัคซีน AstraZeneca ตั้งอยู่ภายในประเทศเหมือนกัน”

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า  พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยแจ้งกับประชาชนไว้เองเมื่อวันที่ 17 ม.ค. ว่า “จะไม่ยอมให้รีบร้อนฉีดวัคซีนที่ยังทดสอบไม่ครบถ้วน และไม่ยอมเป็นประเทศทดลอง ดังนั้น เพื่อความรอบคอบ ผมจึงมีนโยบายสำคัญ คือ ต้องมั่นใจก่อนว่า วัคซีนนั้นปลอดภัย จึงจะนำมาใช้กับคนไทยได้” กรณีนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในทำนองเดียวกันเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ว่า “การเอาคนไทยมาเป็นผู้ถูกทดลองวัคซีน ไม่เคยอยู่ในหัวของ รมว.สาธารณสุขคนนี้”

แม้ว่าจะมีเหตุผลชี้แจงว่า การใช้วัคซีนสูตรผสม Sinovac และ AstraZeneca เข็ม 2 จะใช้เวลาห่างกันเพียง 3-4 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเร็วกว่าการใช้ AstraZeneca 2 เข็ม ที่ต้องฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า มีงานวิจัยที่มากเพียงพอยืนยันว่าการฉีดวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ จะมีประสิทธิผลต่อการรับมือเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้อย่างมีประสิทธิผล เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับการบริจาควัคซีน AstraZeneca จากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 1,050,000 โดส ซึ่งได้มีการรับมอบไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็สงสัยว่า เหตุใดทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีโรงงานผลิตวัคซีน AstraZeneca ตั้งอยู่ภายในประเทศ หากรับบริจาควัคซีนยี่ห้ออื่น ก็พอเข้าใจเหตุผลได้ แต่การรับบริจาควัคซีนที่เรามีโรงงานของเราเอง ยิ่งทำให้ประชาชนสงสัยเป็นอย่างมากว่า “เป็นไปได้หรือไม่ว่า วัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย จะไม่สามารถส่งมอบให้กับคนไทยได้ตามแผนการจัดหาที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนทราบ”

ในประเด็นเรื่องความกังวลว่า ประเทศไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ไม่ครบตามแผนการจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดส เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. แล้ว เมื่อ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาให้ข่าวในทำนองว่า ตัวเลข 61 ล้านโดส นั้นไม่ใช่ตัวเลขที่ AstraZeneca จะจัดส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาล ไทย แต่เป็นเพียงศักยภาพในการฉีดเท่านั้น ซึ่งทำให้ประชาชนกังวลเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาแผนการจัดหาวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดสนั้นรัฐบาลได้สื่อสารให้กับประชาชนทราบในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 20 เมษายน 2564 ที่เว็บไซต์ของรัฐบาลไทย เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 เพจไทยคู่ฟ้า หรือ เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุข้อมูลตรงกันว่าในเดือน มิ.ย. จะได้รับวัคซีน AstraZeneca 6.3 ล้านโดส (6,333,000 โดส) ก.ค.-พ.ย. เดือนละ 10 ล้านโดส และ ธ.ค. อีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

“ปัญหาการส่งมอบก็เกิดขึ้นจริงๆ เดือนมิถุนายน จากข้อมูลระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็น ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวง อว. พบว่ามีการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca เพียง 5,371,100 โดส ขาดส่งจากแผนการจัดหาวัคซีน 6,333,000 โดส อยู่ถึง 961,900 โดส ซึ่งหมายถึงชีวิตของประชาชนคนไทยเกือบ 1 ล้านคน ที่สูญเสียโอกาสในการปกป้องชีวิตของตนเองจากโรคระบาด ซ้ำร้ายในปัจจุบัน ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็น ก็ได้ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้แล้ว พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล เเละกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ โอกาสนี้ ให้เปิดระบบให้ประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบการส่งมอบวัคซีน เพื่อความโปร่งใส โดยเร็วที่สุด”

วิโรจน์ กล่าวต่อว่า จนเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ก็ได้รับคำยืนยันจาก ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติว่า ในเดือน ก.ค. นี้ AstraZeneca น่าจะส่งมอบวัคซีนได้เพียง 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ไม่ถึง 10 ล้านโดส ตามแผนการจัดหาวัคซีน ทั้งๆ ที่ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา คุณอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเองว่า ในไตรมาสที่ 3 วัคซีน AstraZeneca จะมีเต็มโรงพยาบาล เต็มแขนพี่น้องประชาชนคนไทย มีจนไม่พอเก็บ นอกจากนี้ในวันที่ 14 มี.ค. คุณอนุทิน ก็ยังได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันอีกด้วยว่า วัคซีนหลักของประเทศไทย คือ วัคซีน AstraZeneca แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยกลับมีการสั่งหาวัคซีน Sinovac อย่างต่อเนื่อง 19.5 ล้านโดส เป็นการจัดซื้อ 18.5 ล้านโดส และรับบริจาคอีก 1 ล้านโดส โดยที่มีมติ ครม. เพียง 2.5 ล้านโดสแรกเท่านั้น คือ มติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 และมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ก็ยังเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ก็มีมติ ครม. ตามการแถลงข่าวของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าเห็นชอบให้มีการจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีก 10.9 ล้านโดส ด้วยวงเงินงบประมาณสูงถึง 6,111.412 ล้านบาทซึ่งทำให้ประชาชนสับสนว่า ตกลงวัคซีนยี่ห้อไหนเป็นวัคซีนหลักกันแน่ หากวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลัก เหตุใดจำนวนการส่งมอบถึงได้มีน้อยกว่าวัคซีน Sinovac

“ที่ประชาชนสงสัยเป็นอย่างมากก็คือ ในเมื่อ AstraZeneca ส่งมอบวัคซีนไม่ครบตามแผนการจัดหาวัคซีน เดือน มิ.ย. 6,333,000 ล้านโดส และเดือน ก.ค. 10 ล้านโดส เหตุใดรัฐบาลจึงไม่กระวีกระวาดเร่งรัดบังคับสัญญา ให้ส่งมอบให้ครบ ในเมื่อกำลังการผลิตของ AstraZeneca นั้นมีการประเมินกันว่ามีอยู่ 180 ล้านโดสต่อปี หรือ 15 ล้านโดสต่อเดือน ก็มากกว่าแผนการจัดหาวัคซีนที่ต้องส่งมอบให้กับประชาชนคนไทย และตามเงื่อนไขที่รัฐบาลนำเอาเงินภาษีของประชาชนคนไทย มาอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 600 ล้านบาท (ซึ่งเบิกใช้จริง 596.23 ล้านบาท) เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector ตามหนังสือที่ นร 1106/(คกง.) 207 เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 ส.ค. 63 ก็ระบุเงื่อนไขเอาไว้ชัดว่า “… เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนความต้องการ … และวัคซีนที่เหลือบริษัท AstraZeneca วางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” ซึ่งได้มีมติ ครม. อนุมัติการสนับสนุนดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 63 และได้มีการลงนามในสัญญารับทุนอุดหนุน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 และ นายอนุทิน เอง ก็เคยยืนยันเอาไว้อย่างหนักแน่น ในการชี้แจงต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า “วัคซีน AstraZeneca จะไม่มีวันถูกตัดคิว ไม่มีวันถูกคนมาแย่ง ไม่มีวันที่จะไม่ถึงมือของเรา เพราะผลิตอยู่ในบ้านของเรา”

วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า คำถามที่ก้องอยู่ในใจของประชาชน ก็คือ ในเมื่อประชาชนมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนได้ตามแผนการจัดหาวัคซีน 10 ล้านโดสต่อเดือน และรัฐมนตรีก็ได้ให้คำมั่นเอาไว้กลางสภา เหตุใดรัฐบาลจึงไม่พยายามที่จะหารือกับ AstraZeneca ในการปรับลดการส่งออกวัคซีน เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนตามสิทธิที่พึงได้รับ ทำไมรัฐบาลถึงไม่รักษาผลประโยชน์ ไม่ปกป้องชีวิตของประชาชน  อีกทั้งเมื่อเช้าวันนี้ วันที่ 15 ก.ค. ในรายการเจาะลึกทั่วไป ก็เพิ่งได้ทราบความจริงจาก นายสาธิต ปิตุเตชะ  รมช.สาธารณสุข ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยว่า “วัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดส ตามแผนที่ต้องส่งมอบให้ประชาชนคนไทยภายใน ธ.ค. 64 ได้ถูกขยายออกไปเป็นเดือน พ.ค. 65 และแจ้งด้วยว่า AstraZeneca จะส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย 40% ของกำลังการผลิต ซึ่งก็คือ ราวๆ 6 ล้านโดสต่อเดือน” ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส ตามที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นเอาไว้กับประชาชนคนไทย และยังได้บอกเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในสัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาการส่งมอบ แต่อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้วแม้ว่าจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการส่งมอบเอาไว้ในสัญญา แต่ก็ต้องระบุถึงแผนประมาณการการส่งมอบ ซึ่งไม่มีไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลนำเอาแผนประมาณการการส่งมอบนั้น มาชี้แจงให้กับประชาชนคนไทยทราบ

“พรรคก้าวไกลเชื่อว่า ข้อความนี้น่าจะอยู่ในสัญญาบริเวณที่ถมดำที่ปิดบังไว้ไม่ให้ประชาชนทราบ ดังนั้นพรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลเเละเอกสารดังกล่าวโดยเร็วที่สุด คำถามที่ยังกึกก้องอยู่ในหัวใจของประชาชนคนไทยทุกคน ในตอนนี้ ก็คือ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอนุทิน ชาญวีรกูล เเละนายสาธิต ปิตุเตชะ ยอมให้มีเลื่อนการจัดส่งวัคซีนได้อย่างไร และเหตุใดจึงไม่พยายามที่จะจำกัดการส่งออกวัคซีน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับ ทั้งๆ ที่ คุณอนุทิน เคยบอกเอาไว้ชัดว่า “จะไม่มีวันที่คนไทยจะถูกตัดคิว ไม่มีวันที่จะมีคนมาแย่ง ไม่มีวันที่จะไม่ถึงมือคนไทย “ วิโรจน์ กล่าว

โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุต่อไปว่า เมื่อมาตรวจสอบเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับสัญญาวัคซีน AstraZeneca ที่ได้รับมาจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็พบเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ในเอกสาร Letter of Intent หนังสือแสดงเจตจำนงก่อนการทำสัญญา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคุณอนุทิน ได้ไปลงนามเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 63 ย้ำว่า วันที่ 12 ต.ค. 63 โดยในหัวข้อที่ 1. ข้อย่อย C. ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า

“Agreeing to the export of the vaccine without limitations, based on the constructive discussion between MOPH and AstraZeneca แปลได้ว่า ได้ตกลงในเงื่อนไขการส่งออกวัคซีนโดยปราศจากข้อจำกัด ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการหารือกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ AstraZeneca”

“แม้ว่าหนังสือฉบับนี้จะไม่มีผลผูกพันธ์กับกฎหมายเเต่เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องถามต่อพล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ และคุณอนุทิน ต้องตอบประชาชนว่า ทำไมถึงไปแสดงเจตจำนงในการทำสัญญาอย่างนั้น ไปตกลงให้มีการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัดได้อย่างไร แล้วเงื่อนไขการอุดหนุนวงเงิน 600 ล้านบาทให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยระบุเงื่อนไขว่า “จะได้รับการส่งมอบวัคซีนเป็นอันดับแรกตามความต้องการ ที่เหลือจึงนำไปส่งออก” เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 63 นั้นไม่มีความหมายเลยหรืออย่างไร และเมื่อรู้ทั้งรู้อย่างนี้แล้ว ยังกล้าลงนามในสัญญาทุนอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 63 ได้อย่างไร

“ที่สำคัญ ตกลงที่ประชาชนอยากรู้ที่สุด ก็คือ ในที่สุดแล้ว มีประโยคที่ระบุว่า “รัฐบาลไทยจะได้รับการส่งมอบวัคซีนเป็นอันดับแรก ที่เหลือจึงจะนำไปส่งออกได้” อยู่ในสัญญาหรือไม่ และสัญญาที่ได้รับมอบมาในตอนนี้ คือ สัญญาวัคซีน 26 ล้านโดส แล้วอีก 35 ล้านโดส นั้นอยู่ในสัญญาฉบับไหน หรืออยู่ในส่วนที่ถูกถมดำตรงไหน ประชาชนอยากทราบเป็นอย่างยิ่ง และถ้าไม่มีเงื่อนไขที่ประชาชนคนไทย ต้องได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก อยู่ในสัญญา ก็ต้องถามว่า แล้วในวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา คุณอนุทินไปพูดให้คำมั่นกับประชาชนว่าว่า “วัคซีนของเราจะไม่มีวันถูกตัดคิว ไม่มีวันที่จะมีคนมาแย่ง ไม่มีวันที่จะไม่ถึงมือของเรา เพราะผลิตอยู่ในบ้านของเรา” ได้อย่างไร”

วิโรจน์ ยังย้ำว่า นี่เป็นการโกหกประชาชนกลางสภา รัฐบาลต้องชี้แจงให้กับประชาชนรับทราบ เพราะเป็นการทำสัญญาที่ยอมให้เข้ามาผลิตวัคซีนในประเทศไทย ทั้งที่รู้แต่แรกว่าไม่สามารถจำกัดการส่งออกได้ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการเเถลงข่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวสอบถามข้อสงสัย โดยผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าแอสตราเซเนกา อาจจะไม่สามารถส่งครบตามกำหนดไว้ตอนเเรก คือภายในเดือนธันวาคม 2564 ครบ 61 ล้านโดส เเต่อาจจะเลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 กรณีนี้มีกฎหมายใดบ้าง ที่ใช้ควบคุม

วิโรจน์ กล่าวว่า มี พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน  แต่ นายสาธิต ก็ระบุเช่นกันว่า การใช้กฎหมายอาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อความในหนังสือเเสดงเจตจำนงค์ letter of intent ที่รัฐบาลตกลงไว้เเต่เเรก เเละต้องถามย้อนกลับนายสาธิต ว่าหนังสือดังกล่าว มีผลผูกพันธ์กับรัฐบาลหรือไม่  ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จริง อาจจะต้องถามย้อนไปยังแอสตราเซเนกาไทยเเลนด์ให้ชี้เเจงถึงสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาลไทย และหากรัฐบาลรู้ทั้งรู้ว่าทำสัญญาเเล้วมีผลผูกพันธ์ตามมา รัฐบาลต้องรับผิดชอบ กรณีที่นายอนุทิน ได้เคยชี้เเจงต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่ามีวัคซีนเต็มเเขนประชาชน กรณีนี้สิ่งที่เต็มเเขนประชาชนก็คงเป็นเชือกสายสิญจน์ที่รัด มัดตราสังประชาชน ที่ตายจากโรคใช่หรือไม่ นายอนุทิน จะต้องชี้แจงในเรื่องนี้และต้องมีคำตอบให้ประชาชนต่อกรณีที่เกิดขึ้น