ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย จาก 3.4% เหลือ 2.2%ในปีนี้

พิษโควิดระลอก 3 ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย จาก 3.4% เหลือ 2.2%ในปีนี้ การฟื้นตัวกลับมาปกติต้องปี 65

ธนาคารโลก (เวิร์ลด์แบงก์) แถลงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ว่าได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 ของโรคโควิด-19 ในไทยที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงอ่อนแอลงอย่างมาก

ธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยทรุดลงหนักมากถึง -6.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือเป็นการทรุดตัวลงต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปีเนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาด โดยนักวิเคราะห์ของธนาคารโลก คาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยไม่น่าจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดได้จนกว่าจะถึง 2565 นอกจากนั้นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่สม่ำเสมอทั่วกันอีกด้วย

ธนาคารโลกคาดว่า นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้เพียง 600,000 คน ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ระหว่าง 4-5 ล้านคนสูงมาก และลดต่ำลงมากจากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในปี 2562 ซึ่งมากถึง 40 ล้านคน

รายงานชี้ว่า การส่งออกที่ยังเป็นไปด้วยดีและการใช้มาตรการสนับสนุนทางการคลัง จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ โดยที่การฟื้นตัวจะเร่งระดับเร็วขึ้นในปี 2565 ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวสูงถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์

แต่เตือนว่า จนถึงขณะนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดให้จีดีพีลดต่ำลงได้และภาพโดยรวมก็ยังไม่แน่นอน ในขณะที่การใช้มาตรการรองรับการแพร่ระบาดก็ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สูงกว่าเป้าของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า การคาดการณ์ของธนาคารโลกนั้นยังคงสูงกว่าการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ที่คาดว่า จีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัว 1.8 เปอร์เซ็นต์และอีก 3.9 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้าเท่านั้น