เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /เรื่องสั้นซีไรต์ลาว

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เรื่องสั้นซีไรต์ลาว

 

“เป็นเรื่องสั้นที่มีเนื้อหาโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ถึงพร้อมด้วยศิลปะในการประพันธ์อันเปี่ยมคุณค่าวรรณกรรม ศัพท์สำนวนภาษาเข้าใจง่ายกะทัดรัด และมีบทบาทในการปลุกจิตสำนึกทางสังคมเป็นอย่างดี”

คือข้อความสำคัญในคำตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี 2563

สำนักพิมพ์นาครได้นำมาแปลและพิมพ์เป็นเล่มแนะนำว่า “นี่คือวรรณกรรมลาวชั้นเยี่ยม” ในชื่อรวมเรื่องสั้นว่า “ครึ่งราคา” ผู้ได้รับรางวัลนี้หรือรางวัลซีไรต์คือ นักเขียนผู้ใช้นามปากกาว่า “ปิติ ทิวาชน” ผู้แปลจากลาวเป็นไทยคือผู้ใช้นามปากกาว่า “จินตรัย”

บันทึกสำนักพิมพ์นาครกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“งานของปิติ ทิวาชน มีความซื่อใส ซื่อตรงในการนำเสนอ มิใช่การแสดงน้ำเสียงหรือปากคำของนักเขียนที่แสดงภูมิรู้แห่งภาษา ประดิดประดอยให้ดูดี ทันสมัย แต่เป็นน้ำเสียงของคนลาวจริงๆ เป็นลาวสมัยใหม่ พัฒนาก้าวหน้าข้ามพ้นจากวรรณกรรมของนักเขียนหัวก้าวหน้าในยุค ‘จินตนาการใหม่’ ที่รุ่งเรืองในช่วงกลางทศวรรษ 1990”

บันทึกสำนักพิมพ์ยังย้ำต่อท้ายคำตัดสินดังยกมาข้างต้นนี้ด้วยความว่า

“…ข้อความส่วนท้ายเหมือนเป็นแบบสำเร็จที่เขียนตามต่อกันมา แต่ในความหมายของการจัดตั้งหาได้หมายถึงการรับใช้อุดมการณ์รัฐสังคมนิยมตามแบบวรรณกรรมลาวยุคปฏิวัติ แต่วรรณกรรมสมัยต่อมาได้แสดงให้เห็นว่าจริยธรรมของปัจเจกคือจริยธรรมของรัฐ มีบทบาทและหน้าที่ซึ่งมิได้แยกออกจากกัน พวกเขาพัฒนางานเขียนข้ามยุคหลังอาณานิคม (postcolonial) มาเป็นงานสมัยใหม่ เป็นการแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของสังคมอันเป็นจริงในปัจจุบันดังที่ปิติ ทิวาชน เขียนอยู่ในเล่มนี้”

 

รวมเรื่องสั้นในเล่มมี 15 เรื่อง เขียนในช่วงปี 2537-2553

จำเพาะเรื่อง “ครึ่งราคา” พิมพ์ครั้งแรกในวารสารวันนะสิน มกราคม 2537 เป็นเรื่องสั้นชนะเลิศวันรำลึกการก่อตั้งกองทัพประชาชนลาวครบรอบ 45 ปี 20 มกราคม 2537

เป็นเรื่องของพ่อเฒ่าอดีตทหารเก่านักรบกู้ชาติต้องพาแม่เฒ่าภรรยาเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดไส้ติ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงจนพ่อเฒ่าต้องขายใบอนุญาตโค่นไม้ ซึ่งรวมแล้วได้ประมาณครึ่งเดียวของค่ารักษา

“แกค่อยๆ ลุกขึ้นประคองร่างผ่ายผอมด้วยไม้เท้าทรงพลังทั้งสองข้าง แกพูดโดยไม่ผันหน้ามามองท่านรองฯ

“กูมีครึ่งเดียว ครั้งหนึ่งมันกุดหาย ก่อนสูจะได้เป็นเจ้าเป็นนาย”

 

อีกเรื่องคือ “ผีห้วยแร่” พิมพ์ครั้งแรก 2551 เป็นเรื่องราวของคนงานบุกเบิกป่าเพื่อก่อสร้างพัฒนา ซึ่งเมื่อเพื่อนคนงานบอกว่า “ป่าทึบปานนี้ควรสงวนไว้ให้เป็นดงยาพื้นบ้าน” เพื่อนตอบว่า

“หวงไว้ทำไม มันกีดขวางการพัฒนา? ไม่เหมือนสร้างรีสอร์ต สร้างสวนอาหารให้คนมาท่องเที่ยว มากินมานอน”

สองเรื่องนี้ยืนยันคำพูดของลูกสาวที่พ่อขับรถเข็นชนท้ายรถบรรทุกซุงซึ่งบริษัทโค่นไม้เพิ่งรับพ่อเข้าทำงานพอดี จากเรื่องสุดท้ายของเล่มชื่อ “ตราประทับ” พิมพ์ครั้งแรก 2543 คำพูดนั้นคือ

“รอยเลือดของพ่อกลายเป็นตราประทับสำหรับสินค้าส่งออกของประเทศ!”

คือปัญหาด้านการพัฒนาประเทศหลังการปฏิวัติ ไม่เว้นเฉพาะประเทศ สปป.ลาว

แม้จนวันนี้

 

ปีพ.ศ.2547 เกิดมหาภัยสึนามิ โดยเฉพาะที่ภูเก็ต เรื่อง “ทะเลคลั่ง” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก 2548 เป็นเรื่องของเพื่อนประมงลาว กัมพูชา เมียนมา หลังจากร่วมชะตากรรมในเรือลำเดียวกันแล้ว ครั้นได้ขึ้นฝั่งไทยที่พังงาก็เลยแวะเที่ยวภูเก็ต…ที่สุดทะเลก็กลืนชีวิตเพื่อนทั้งหมด เหลือประมงลาวคนเดียวกับคำพูดที่ว่า

“ทะเลมันก็เคียดแค้น โมโหเป็นเหมือนกัน! คนกรูกันไปหากินกับทะเล ทะเลมันก็อยากกินคน!”

เรื่องราวเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ตกเป็นเหยื่อสังคม “เปลี่ยนผ่าน” โดยเฉพาะสาวชนบทสู่สังคมเมือง ในเรื่อง “รอยช้ำ” ก็เป็นเรื่องง่ายๆ เดาได้ตลอด หากสะท้อนสำนวนโวหารดีนัก เช่น

“…เธอไม่อยากเป็นสาวชาวนาตกขี้เลนเจนขี้ฝุ่น ลำบากดักดาน สืบตำนานตาแดงแข้งดำ อมดักแด้ อยู่บ้านนอกคอกนา สวยปานนี้ควรจะเป็นเทวดาอยู่เมืองฟ้าอมร…”

สำนวนชาวบ้านนี้เป็นเสน่ห์ที่สะท้อนวิถีชีวิต

คือวัฒนธรรมพื้นบ้านอันคงอยู่คู่ยุคสมัยให้เห็นพัฒนาการสังคมที่น่าศึกษายิ่ง

 

รวมเรื่องสั้น “ครึ่งราคา” มีสำนวนเช่นนี้อยู่ประปรายในหลายๆ เรื่อง เช่น

“…นับตั้งแต่ที่ฝังสายรกสายสะดือ คลี่ผ้าอ้อม ล้อมผ้าขี้ ตีผ้าเยี่ยว จนกระทั่งเติบใหญ่เป็นสาวเป็นแส้…” (จากเรื่อง “ของดี”)

“แม่ทอซิ่นหมี่ไว้ฝากผู้ไกล ทอผ้าไหมไว้ฝากลูกหล้า ทอสไบผืนผ้าเอาไว้สู่ขวัญเจ้าเน้อลูกเอย…” (จากเรื่อง “ของดี”)

“…งานนาไม่ผ่าน งานบ้านไม่เอา…” (จากเรื่อง “จดหมายในซอกหลืบ”)

“แดดเผาเขาวัว” (จากเรื่อง “ทุ่งเหลียวหลัง”)

“ตอนนั้นชาวบ้านเป็นชาวขอ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเป็นชาวขาย (จากเรื่อง “ทุ่งเหลียวหลัง”)

“…เขาเป็นดั่งกระโถนรองรับคำดุด่าจนหูหนาขาอ่อน…” (จากเรื่อง “ทุ่งเหลียวหลัง”)

สำนวนโวหารเหล่านี้เป็นปัญญาแผ่นดิน มีอยู่ในทุกถิ่นที่ทุกสังคม สมควรบันทึกไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ภูมิบ้านภูมิเมือง” โดยแท้

อ่านรวมเรื่องสั้นซีไรต์ลาวเล่มนี้เหมือนได้เหลียวหลังแลสังคมไทย เห็นรากเหง้าเผ่าพันธุ์เดียวกันมาแต่เดิม ซึ่งกำลังเผชิญภัยกับโลกยุคใหม่ในลักษณะเป็นเหยื่อที่ทั้งโจ่งแจ้งและแนบเนียน

ไม่ต่างกันเลย