หลังเลนส์ในดงลึก/”นก ดวงตา และหัวใจ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“นก ดวงตา และหัวใจ”

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ด

ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ 2560

17:15 นาฬิกา

กลุ่มเมฆดำหนาทึบ แผ่กระจายเต็มท้องฟ้า ด้านทิศตะวันตก สายลมพัดแรง ใบบัวหลวงเอนลู่ ละอองฝนเริ่มโปรยปราย

“ตรงที่โล่งๆ นั่น เห็นไหม” ผู้ชายผิวคล้ำ ที่ร่างกายยังดูแกร่ง แม้ว่าจะอยู่ในวัยใกล้ 70

ผมมองตามตำแหน่งที่เขาบอก

บนแพแหนแคบๆ ที่ลอยกระเพื่อม ไข่สีน้ำตาลอ่อน รูปทรงรีๆ ขนาดเล็ก จำนวน 4 ฟองวางชิดกัน

“ใบแรก ออกมาเมื่อวันพุธ” ผู้ชายผิวคล้ำ ที่กำลังคัดท้ายเรือหางยาว พูดต่อ เขาดับเครื่องเรือ รอบๆ มีเพียงเสียงลมพัดหวีดหวิว

ก่อนหน้าสักหนึ่งนาที ตรงที่มีไข่วางอยู่ นกตัวหนึ่งบินโผขึ้น และบินไปยืนทำหางกระดกๆ เดินไป-มาไม่ไกล

“เอาเสามาปักตรงนี้สักหกเสา ถึงเวลา เอาเรือเข้ามาจอด ใช้เชือกมัดให้แน่น ไม่โคลง ทำงานได้” ชายผิวคล้ำพูดต่อ

“ถึงเวลา” คือช่วงที่ลูกนกในไข่ฟองเล็กๆ นี้จะออกมาพบกับโลกที่มันจะใช้อยู่อาศัย

ชายผิวคล้ำใช้ชีวิตอยู่ในบึงน้ำมาตั้งแต่เกิด รู้จักที่นี่เป็นอย่างดี อีกทั้งกว่า 30 ปีที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ป่าของเขตห้ามล่าแห่งนี้ รวมถึงการเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ที่เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตของนกน้ำชนิดต่างๆ ทำให้เขาเรียกได้ว่า คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกน้ำในบึงนี้คนหนึ่ง

การกะวันเวลาที่ลูกนกจะออกจากไข่ แม่นยำ

“เดี๋ยวนี้ สภาพบึงเปลี่ยนไปเรื่อย สองปีก่อนแล้งมาก ปีที่แล้วน้ำดี บัวหลวงกระจายไปทั่ว ไม่ค่อยเหลือที่ว่างๆ เมื่อก่อนออกมาแค่นี้ก็เจอเป็ดผีเยอะแยะ ตอนนี้หายาก มันรกเกินไป” ชายผิวคล้ำพูด

“จะทำซุ้มบังไพรแบบเมื่อก่อนที่ผมทำให้ ก็ยาก เพราะน้ำลึก ใช้วิธีอย่างที่ผมบอกดีกว่า”

สายลมพัดแรงขึ้น เรือลำใหญ่โคลงเคลง หลังคาโดนลมตีส่งเสียง

ฝนโปรยหนาขึ้น

“กลับนะ” ชายผิวคล้ำพูดพลางยกหางเรือ เพื่อหันหัวเรือมุ่งหน้าเข้าฝั่ง

ผมมองหน้าชายผิวคล้ำ เขายิ้มนิดๆ

เป็นยิ้มที่ผมจำได้เสมอ แม้ว่าจะห่างเหินไปร่วม 20 ปีแล้ว

“ยิ้ม” ของชายผิวคล้ำ ที่ชื่อว่า “พนม คราวจันทึก”

เราออกเรือมาไม่นาน ท้องฟ้าก็มืดครึ้ม ลมแรง เมฆฝนก่อตัว

เป็นอีกครั้งที่ผมกลับมาที่บึงแห่งนี้ เดินทางเข้าบึงน้ำ เพื่อถ่ายรูปนก

เรือแล่นออกไปอย่างนิ่มนวล ไม่ใช่เรือหางยาวลำเล็กซึ่งต้องนั่งอย่างระมัดระวัง แต่เป็นเรือใหญ่โอ่โถง มีโต้ะ เก้าอี้ นั่งสบาย

ชายผิวคล้ำที่กำลังบังคับเรือ ก็ไม่ใช่ชายวัยต้น 40 ผู้ทำหน้าที่เป็นพิทักษ์ป่าของเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

แต่คือชายผิวคล้ำที่เกษียณมาแล้วหลายปี

ไข่ฟองเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนๆ จำนวน 4 ฟอง และนกอีแจว ที่เดินทำหางกระดกๆ อยู่ใกล้ๆ คล้ายเป็นภาพซึ่งอยู่ในใจตลอดมา

ผมบอกใครๆ บ่อยๆ ว่า ผมเริ่มต้นจากบึงน้ำ หลังจากเดินทางไปยาวไกล ถึงวันหนึ่ง เมื่อต้องเปลี่ยน “แพลตฟอร์ม” เพื่อใช้ในการเล่าเรื่อง

ผมย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม ผมจะใช้เวลาในบึงน้ำ

แต่ละวัน อยู่ในซุ้มบังไพรแคบๆ กลางน้ำ ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง

วันนั้น พนม คราวจันทึก พิทักษ์ป่า ร่างแกร่ง ผิวคล้ำ ขับเรือหางยาวมาส่งผมไว้ที่ซุ้มบังไพรตั้งแต่เช้ามืด

“วันนี้ลูกนกน่าจะออกจากไข่แล้วล่ะ” ประสบการณ์จากการเฝ้าดู และช่วยนักวิจัยหลายคน ช่วยให้เขากะเวลาได้แม่นยำ

เขามาส่งผมไว้ใกล้รังนกอีแจว

พวกมันต่างจากนกชนิดอื่นบ้าง เพราะผู้ที่ดูแลไข่อยู่นั้นคือพ่อนก ที่จะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

ไข่นก เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของสัตว์ผู้ล่า อย่างงู และเหยี่ยว

หน้าที่ของผู้ล่า คือ ควบคุมปริมาณสัตว์ต่างๆ ในความดูแลให้มีจำนวนเหมาะสม

พ่อนกจึงต้องปกป้องดูแลไข่อย่างเข้มแข็ง ทำทุกวิถีทางเพื่อหลอกล่อให้ผู้ล่าละความสนใจจากลูกหันมาติดตามตัวเองแทน

เช่น กระโดดโลดเต้น ร้องเสียงดังๆ ลงไปดิ้นพราดๆ บางครั้งเลือกวิธีก้าวร้าว เข้าจิกตี

พูดได้ว่า เอาชีวิตตัวเองเข้าแลกก็ไม่ผิดนัก

เช้านี้ ผมเห็นอาการดังกล่าวของพ่อนกหลายครั้ง มีเงาเหยี่ยวแดงบินวนเวียนไม่ไกล

ซุ้มบังไพร รายล้อมด้วยผืนน้ำกว้าง สายลมพัดผ้าลายพรางดังพึ่บพั่บ แดดจัดจ้า

ผมตั้งกล้องพร้อมเลนส์ 560 มิลลิเมตร ปรับระยะชัดไว้ที่ไข่รูปทรงรีๆ สีน้ำตาลเข้ม จำนวน 3 ฟอง ที่วางอยู่บนกองจอกแหน

จากช่องมองภาพ ผมเห็นความเคลื่อนไหว ขณะพ่อนกหายไปจากรัง

ไข่ใบหนึ่งเริ่มมีรอยแตก รอยขยายใหญ่ขึ้น เป็นอาการที่ลูกนกพยายามดันเปลือกไข่ให้แตก

พ่อนกกลับมายืนดูอย่างให้กำลังใจ

ลูกนกที่ออกจากไข่ตั้งแต่เมื่อวาน มายืนดูเพื่อเอาใจช่วยน้องด้วย

เปลือกทำท่าจะปริ แต่ก็กลับคืนสภาพ

ลูกนกพยายามหลายครั้ง ในที่สุด เปลือกไข่ก็แตก

อีกหนึ่งชีวิตออกมาพบกับโลก

ลูกนกตัวเปียกชุ่ม ขยับตัวช้าๆ

ระยะแรกทำได้แค่กลิ้งไป-มา ใช้เวลาสักพัก จึงค่อยๆ ยืนได้ ขายาวเก้งก้าง

ทันทีที่ลูกนกพ้นจากเปลือกไข่ พ่อนกรีบคาบเปลือกไข่โผบินไปทิ้งไกลๆ มันไม่ต้องการให้งูได้กลิ่น

จัดการกับเปลือกไข่แล้ว พ่อนกกลับมายืนข้างๆ ลูกที่กำลังหัดเดิน สายตามองอย่างห่วงใย

ลูกนกต้องรีบเดินให้ได้โดยเร็ว การนอนนิ่งอยู่เฉยๆ บนพื้น อันตรายเกินไป

บนโลกนี้ ไม่มีที่ว่างสำหรับชีวิตที่อ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ลูกนกรู้ความจริงเช่นนี้ดี

ใช้เวลาอีกพักใหญ่ ลูกนกเดินได้แข็งแรงขึ้น พ่อนกพาลูกสองตัวเดินห่างไปจากรัง

บทเรียนสำหรับลูกนกเริ่มต้น

ดูเหมือนพ่อนกจะมีความรักและเข้มแข็งมากในการเลี้ยงลูก

แม่นกคล้ายจะโหดร้าย ทิ้งลูกไปอย่างไม่ไยดี ตัวเองไปหาตัวผู้ ใหม่ และจะทิ้งไปอีก

ในอีกมุมหนึ่ง งานในธรรมชาตินั้นหนักไม่น้อย

นกอีแจว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย ต่างทำหน้าที่ของพวกมัน

ตัวผู้ทำหน้าที่เลี้ยงลูก ขณะตัวเมีย ต้องทำหน้าที่เพิ่มปริมาณนกอีแจวให้มากพอ

มันจึงจำเป็นต้องหาคู่หลายครั้ง ในรอบหนึ่งปี

ต้องใช้ความเข้มแข็งสักเท่าใด?

ในความรู้สึกของแม่

การต้องทิ้งลูกไป ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

ลมแรงจัด เรือเอียงไป-มา สายฝนพัดเข้าเรือ น้ำชุ่มโชก

เรากลับถึงฝั่ง

“เดี๋ยวผมจะบอกน้องชายไปปักป้ายให้คนขับเรือระวังรังนก เพราะตรงนั้นมันใกล้ทางเรือวิ่งมาก” ชายผิวคล้ำพูดตอนเรากลับมาถึงบ้านเขา

“เรื่องการเตรียมบังไพร ก็ไม่ต้องห่วง” เขาพูดพลางแกะเม็ดบัวส่งให้

ผมรับมาแกะเปลือกเขียวๆ ออก รสชาติไม่ต่างจากที่ผมจิ้มน้ำพริกกินประจำในครั้งก่อน

“ดีใจที่ได้ทำงานกันอีก” ชายผิวคล้ำพูดเบาๆ

“เหมือนกันครับ” ผมพูดอะไรไม่ได้มาก

ทำได้เพียงยิ้มให้ เขายิ้มตอบ

ในปี พ.ศ.2542 ผมมีงานรวมเล่มออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “นก ดวงตา และหัวใจ”

เป็นงานที่เขียนถึงประสบการณ์ดูนก ในครั้งเริ่มต้นแรกๆ

ผมสรุปเรื่องราวของการดูนกไว้ว่า

เราจะ “เห็น” นก ก็ต่อเมื่อดูพวกมันโดยผ่านหัวใจ

วันนี้ ต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560

ท่ามกลางพายุฝนในบึงน้ำ

นกอีแจวเดินเห็นรางๆ อยู่ในม่านฝน

เวลาทำให้รู้ว่า เราดูและเห็นได้ด้วยดวงตา

แต่ที่ “เก็บ” เรื่องราวเหล่านั้นไว้คือ หัวใจ