เสถียร จันทิมาธร/วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย/ตัวตน ก่อรูป อึ้งเอี๊ยะซือ

เสถียร จันทิมาธร

วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย/เสถียร จันทิมาธร

ตัวตน ก่อรูป อึ้งเอี๊ยะซือ (94)

กิมย้งอรรถาธิบายตามสำนวนแปล น.นพรัตน์ ว่า ในชีวิตอึ้งเอี๊ยะซือท่องทะยานทั่วแผ่นดิน ตั้งข้อรังเกียจต่อจารีตประเพณี ตลอดจนความคิดทางโลก

ไม่ว่าการกระทำหรือถ้อยคำล้วนหลุดพ้นจากครรลองทั่วไป

ดังนั้น ได้รับขนานฉายาว่า “ภูตบูรพา” คนผู้นี้โดดเดี่ยวเดียวดาย ในชีวิตไม่มีผู้รู้ใจ แม้แต่คนใกล้ชิดเช่นธิดาและบุตรเขยก็มิใช่ผู้รู้ใจที่แท้จริง

ก๋วยเจ๋ง สัตย์ซื่อ เที่ยงธรรม ยิ่งไม่เป็นที่นิยมชมชอบ

คิดไม่ถึงพอล่วงเข้าปัจฉิมวัยกลับพบพาน “เอี้ยก่วย” พฤติการณ์ของเอี้ยก่วยในงานชุมนุมผู้กล้าที่ผ่านมาก็ถูกถ่ายทอดเข้าหูอึ้งเอี๊ยะซือ นอกจากนั้น อึ้งย้งยังได้บ่งบอกนิสัยใจคอและการกระทำของบุรุษหนุ่มผู้นี้โดยคร่าวๆ

ยามนี้พบปะสนทนาไม่กี่ประโยค ยิ่งเป็นที่สนใจกว่าเดิม อย่าได้แปลกใจที่ได้สำนองตอบด้วยคำว่า

“ประเสริฐ ประเสริฐ ประเสริฐ”

อย่าแปลกใจหาก ถาวร สิกขโกศล จะสรุปรวบยอดเกี่ยวกับอึ้งเอี๊ยะซือว่า เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการมากที่สุด สมจริงที่สุด แสดงลักษณะเป็นบัณฑิตที่แท้ของจีนมากที่สุด

เป็นคนประพฤตินอกรีต เอาแต่ใจตัวเอง

ลักษณะของอึ้งเอี๊ยะซือสะท้อนคุณลักษณะของบัณฑิตในลัทธิขงจื๊อ แต่ก็มิได้งมงายในจารีตของลัทธิขงจื๊ออย่างขาดวิจารณญาณ

ทั้งยังกล้าวิพากษ์วิจารณ์เมธีในอดีตทั้งขงจื๊อและเม่งจื๊ออย่างคมคายมีเหตุผล

แม้ว่าดูอย่างผิวเผินแล้วประหนึ่งว่าอึ้งเอี๊ยะซือขบถต่อลัทธิขงจื๊อ แต่โดยเนื้อแท้แล้วจอมยุทธ์ผู้นี้ศึกษาศิลปะวิทยาการตามแนวลัทธิขงจื๊ออย่างจริงจัง

 

ลัทธิขงจื๊อนั้นยกย่องวิชาบุ๋นเหนือบู๊ ถือว่าต้องเรียนบุ๋นเป็นพื้นฐานและกำกับการใช้วิชาบู๊

วิชาสำคัญของฝ่ายบุ๋นก็คือ กวีนิพนธ์ ดนตรี ลิปิศิลป์ (วิชาเขียนหนังสือให้สวย) ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ซึ่งอึ้งเอี๊ยะซือล้วนเชี่ยวชาญ ทั้งยังแตกฉานดาราศาสตร์ พิชัยสงคราม แพทยศาสตร์ ปากศิลป์ (อ่านว่าปากะสิน แปลว่า วิชาปรุงอาหาร) และสรรพวิทยานานาแขนง

รวมทั้งวิทยายุทธ์อันโดดเด่นเป็นเอกในยุทธจักรด้วยผู้หนึ่ง

เมื่อสูงวัยขึ้นก็เข้าถึงความลึกซึ้งของวิถีแห่งเต๋ามากขึ้น ประกอบกับความเปรื่องปัญญาทำให้คนอื่นตามความคิดไม่ทัน อึ้งเอี๊ยะซือจึงเหม็นเบื่อมนุษย์ แม้กระทั่งก๋วยเจ๋ง ลูกเขยทึ่ม และอึ้งย้งลูกสาวคนฉลาด

ออกท่องเที่ยวไปอย่างไร้ร่องรอยจนได้มาพบปะชอบพอกับเอี้ยก่วย

อย่าได้แปลกใจที่เมื่อถึงเพลาพลบค่ำ อึ้งเอี๊ยะซือได้หวนกลับเข้ามาภายในห้องใหม่เพื่อถกแถลงอภิปรายร่วมกับเอี้ยก่วยอีกครา

การถกแถลงอภิปรายครั้งนี้สำคัญ

“เอี้ยก่วย ฟังว่าเจ้าทรยศต่อสำนักช้วนจิน ทำร้ายอาจารย์ตัวเอง กลับประหลาดพิกลจนเหลือร้าย เจ้ามิสู้ตีตัวออกต่างหากจากสำนักสุสานโบราณอีกครั้ง กราบกรานเราเป็นอาจารย์เถอะ”

นี่ย่อมเป็นการวิพากษ์ นี่ย่อมเป็นข้อเสนออันแหลมคม

อาศัยพื้นฐานจากการที่เคยตีตัวออกต่างหากจากสำนักช้วนจิน หันทวนเข้าสวนแทงอาจารย์อย่างตรงไปตรงมา แล้วเสนอแนวทางใหม่ นั่นก็คือ

1 ตีตัวออกต่างหากจากสำนักสุสานโบราณ

ขณะเดียวกัน 1 อาศัยช่วงจังหวะนี้กราบกรานอึ้งเอี๊ยะซือเป็นอาจารย์คนใหม่ แยกออกจากโกวโกวอาจารย์คนเก่า

ข้อเสนอนี้เหมือนนับเป็น “ทางออก” ให้กับ “เอี้ยก่วย”

การสนทนารอบใหม่ระหว่างอึ้งเอี๊ยะซือกับเอี้ยก่วยจึงไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาส่วนตัวอันเอี้ยก่วยประสบและกำลังหาทางออก

หากยังแสดงให้เห็น “ความคิด” ที่ดำรงอยู่ใน “ยุทธจักร”

กล่าวลงไปอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือ กระแสความคิดของลัทธิขงจื๊อซึ่งเป็นด้านครอบงำและทำให้คนอย่างเอี้ยก่วย เซียวเล้งนึ่ง ต้องแปลกแยก ถูกมองว่าเป็นคนนอกรีต ถูกมองว่าเป็นคนไม่เคารพต่อธรรมนิยมของสังคม

ความหมายก็คือ เอี้ยก่วยได้ถูกกีดกันกระทั่งผลักดันให้มายืนอยู่แถวเดียวกันกับอึ้งเอี๊ยะซือ