ฐากูร บุนปาน : เมื่อรัฐบาลไทย อยากแบ่งเค้กโฆษณาจาก Facebook + Google

โบราณท่านว่า เวลาดวงตกหรือดวงแตกเนี่ย

ทำอะไรที่คิดว่าดี ผลสุดท้ายมักจะออกมาในทางตรงข้าม

ไม่เชื่อก็พิจารณาจากกรณีหอชมเมือง กฎหมายแรงงานต่างด้าว

หรือกรณีที่ กสทช. เชิญ 7 บริษัทที่ลงโฆษณาในสื่อดิจิตอลมากที่สุดไปพูดคุย เพื่อจะให้ลดการโฆษณาในกูเกิลหรือเฟซบุ๊กลง

รวมทั้งประกาศนโยบายว่า จะพยายามจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการระดับโลกเหล่านี้ดูก็ได้

ปฏิกิริยาที่ตามมาในทันทีก็คือกูเกิลและเฟซบุ๊กส่งหนังสือชี้แจงกลับมาถึง กสทช.

ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้

เพราะจะเป็นนโยบายที่ทำให้การพัฒนาและการลงทุนด้านดิจิตอลในเมืองไทยยิ่งลำบากลำบนไปกว่าเดิม

ปฏิกิริยาตอบสนองต่อปฏิกิริยาจาก กสทช. ก็คือ บอกว่า

ไม่ให้ราคาองค์กรที่เป็นสมาคมร่วมของกูเกิลและเฟซบุ๊ก

เจตนาดีที่อาจจะไม่ค่อยถูกกาลเทศะ และไม่ประเมินกำลังตัวเองนี้

จะส่งผลอย่างไรต่อไป-โปรดติดตาม

จริงอยู่

กูเกิลและเฟซบุ๊กมีส่วนแบ่งการตลาดจากเม็ดเงินโฆษณาในสื่อดิจิตอลประมาณร้อยละ 80

นี่เป็นตัวเลขใกล้เคียงกันทั้งของไทยและค่าเฉลี่ยทั้งโลก

รายได้จำนวนนี้ไม่รู้ว่าเสียภาษีให้ใคร

หรืออาจไม่เสียภาษีเลย

เพราะทั้งกูเกิล-เฟซบุ๊กมีการจัดตั้งบริษัทที่ซับซ้อน

ใช้ประโยชน์จากสวรรค์ของนักเลี่ยงภาษีอย่างไอร์แลนด์ และประเทศหมู่เกาะในอเมริกากลางอย่างเต็มที่

จนแม้แต่รัฐบาลสหรัฐยังเคยโวย

เพราะเก็บภาษีเฟซบุ๊กได้ไม่เต็มมือ

เลยมีคำถามว่า

ถ้ารัฐบาลสหรัฐที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลกยังทำไม่ได้

กสทช. หรือรัฐบาลไทย มีปัญญาเก็บภาษีรายได้จากโฆษณาของกูเกิล-เฟซบุ๊กได้ไหม

ถ้าทำได้นี่ต้องถือว่าเป็นนวัตกรรมระดับโลกเลยนะครับ

ต่อไปแทนที่จะต้องเสียเงินเสียทองไปดูงานบ้านเขา

เผลอๆ ทุกประเทศทั่วโลกอาจจะต้องขอมาดูงานบ้านเรา

ทำเป็นเล่นไป-ฮา

แต่อย่างที่เรียนว่า เข้าใจอยู่ว่านี่เป็นเจตนาดีครับ

เพียงแต่เจตนาดีต้องมีวิธีการที่ถูก ซึ่งสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วย

เช่น ถ้าลำพังไม่มีอำนาจจะไปจัดการกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้

(เพราะอีกด้านหนึ่งก็กลัวว่าเดี๋ยวเขาจะไม่มาลงทุน หรือไม่ทำธุรกิจในเมืองไทย จะยิ่งเสียหายหนักกว่าเก่า)

ทำไมไม่ร่วมมือกับหน่วยงานประเภทเดียวกันในประเทศอื่น

หารือกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร

หรือถ้าจะเล่นงานเขาด้วยเรื่องภาษี

ทำไมไม่ให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกเสียเอง

เพราะรัฐบาลหรือหน่วยงานเก็บภาษีของประเทศอื่น เขาก็คงไม่ได้คิดต่างจากท่านเท่าไหร่

และมองเค้กก้อนนี้ตาเป็นมันอยู่

ไม้ซีกน่ะงัดไม้ซุงไม่ได้

แต่หลายๆ ไม้ซีกมัดรวมกันน่ะไม่แน่นะครับ

และจริงๆ วิธีที่จะทำให้ได้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น (ถ้าต้องการอย่างนั้นจริงๆ)

โดยไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐ ว่าจำกัดเสรีภาพของผู้ประกอบการในโลกยุคใหม่

หรือไม่ทำให้ทุนต่างประเทศที่ท่านอยากได้กันหนักหนาถอยไป หรือไม่ยอมมาลงทุนในเมืองไทย

ก็คือ รัฐ-จะโดย กสทช. หรือใครก็ได้ เข้ามาผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศพัฒนาเนื้อหา เทคโนโลยีให้ไล่ทันต่างประเทศ

ถ้าผู้ประกอบการในประเทศแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะในแง่

1. พัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาได้

2. อยู่ในแพลตฟอร์มของยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ แต่มีอำนาจต่อรอง หรือมีช่องทางหารายได้มากขึ้น

จนกระทั่งเป็นตัวของตัวเอง หรือต่อรองแบบพอฟัดพอเหวี่ยงกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้

รัฐก็จะมีรายได้ภาษีและอื่นๆ มากขึ้นตามไปด้วย

ที่แน่ๆ คือ มากกว่ามาตรการจำกัดกั้นแบบนี้เป็นไหนๆ

โลกนี้หมุนไปทุกวันด้วยอัตราเร่งที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าอยากอยู่กับโลก ก็ต้องหมุนตามให้ทัน หรือหมุนเร็วกว่า

ที่อยากจะหยุดโลกนั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอนครับ

เอามือไปรั้ง ก็มือด้วน

หรือไม่ก็ตกขบวนประวัติศาสตร์ไปเลย

เลือกเอาเถิด