เทียร์ & Tears : ในประเทศ

เทียร์ (Tier) มีอันมาเกี่ยวข้องกับ Tears (น้ำตา) อย่างคาดไม่ถึง

เมื่อมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 22 มิถุนายน 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560

ถือเป็นความพยายามสุดท้ายของรัฐบาลไทย ที่พยายามดำเนินการก่อนที่สหรัฐจะประกาศรายงานค้ามนุษย์ หรือทิป รีพอร์ต ปี 2560 ซึ่งไทยถูกจัดให้อยู่บัญชีประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในกลุ่ม “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List)

โดยรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หวังเป็นอย่างสูงว่า สถานะของไทยน่าจะลำดับ “ดีขึ้น”

แต่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 หรือ 5 วันต่อมา

นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงรายงาน ทิป รีพอร์ต ประจำปี 2560 ว่า สหรัฐยังจัดให้ไทยคงอันดับเดิมที่ “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” เป็นปีที่สองติดต่อกัน

โดยให้เหตุผลว่า ไทยไม่ได้ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามค้ามนุษย์ แม้แสดงความพยายามด้วยการปราบปรามและยึดทรัพย์จากบรรดาผู้ค้ามนุษย์ รวมมูลค่า 784 ล้านบาท ทั้งยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงมากขึ้น พร้อมยืดระยะเวลาให้เหยื่อ และพยานชาวต่างชาติในคดีค้ามนุษย์ ได้พำนักอยู่ในประเทศนานขึ้น

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และไม่ได้ดำเนินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันมากนัก

จึงยังจัดอันดับให้ประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานะ “เทียร์ 2 ประเทศที่ต้องจับตามอง” เช่นเดียวกับปี 2559 ต่อไป

คําแถลงดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้กับรัฐบาลและ คสช. มาก

เพราะหากสถานะของไทยถูกปรับขึ้นสู่เทียร์ 1 ย่อมจะถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

อันสะท้อนให้เห็นการยอมรับรัฐบาลทหารโดยอ้อมด้วย

แต่ผลก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหมาย

ยิ่งไปกว่านั้น การตัดสินใจเร่งออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แทนที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติ ที่มีขั้นตอนการพิจารณาที่รอบคอบกว่า

ยังได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงในทาง “ลบ” ต่อนายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างชาติ อย่างไม่คาดหมาย

โดยเฉพาะการเพิ่มโทษแก่นายจ้างและลูกจ้าง ที่จ้างหรือรับจ้างโดยไม่มีใบอนุญาตหนักมากยิ่งขึ้น

เช่น

– นายจ้างที่รับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตน (มีใบอนุญาตทำงานกับนายจ้างอื่น) มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อคน

– นายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

– คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

– คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

– คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

– ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

– ผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษที่ “แรง” และมีผลทันทีเช่นนี้ สร้างความแตกตื่นให้นายจ้างและลูกจ้างอย่างฉับพลัน

นายจ้างบางคนเลิกจ้างคนงานที่ไม่มีใบอนุญาต

ขณะที่คนงานต่างด้าวก็ขอลาออกและตัดสินใจเดินทางกลับประเทศนับหมื่นคน โดยเฉพาะแรงงานพม่า

เกิดความโกลาหลไปทั่ว

น้ำตาร่วงในกลุ่มคนงานทั้งพม่า ลาว เขมร เพราะผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนปรับตัวไม่ทัน

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการคนไทย โดยเฉพาะรายเล็กรายย่อย ที่ไม่สะดวกในการนำคนงานไปขึ้นทะเบียน ทั้งจากค่าใช้จ่ายที่สูงและขั้นตอนที่ยุ่งยาก จึงเลือกที่จะเสี่ยงทำผิดกฎหมาย

แต่เมื่อเจอบทลงโทษหนักยิ่งขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะเดินหน้า หรืออาจต้องลดการผลิต หรือแม้กระทั่งอาจต้องปิดกิจการ

กลายเป็น “มรสุม” ทางธุรกิจที่คาดไม่ถึง

เสียงโอดครวญจึงร้องระงม

โดยส่วนใหญ่มองว่า แม้รัฐบาลจะมีวัตถุประสงค์ดีที่จะจัดระเบียบคนงานต่างด้าว อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานเถื่อนที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องอาชญากรรม และปัญหาสังคมต่างๆ

แต่การให้ “ยาแรง” ทันที

ทำให้นายจ้างและลูกจ้างตกอยู่ในภาวะช็อก และส่อว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจรายย่อยอย่างคาดไม่ถึง

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะพยายามอธิบายและออกตัวว่า การแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่ว่าไปฟังตามใคร

แต่เรื่องการค้ามนุษย์ เป็นพันธสัญญาของโลก ที่ไทยต้องแก้ปัญหา

หากแก้ไม่ได้จะพันกันหมด ต่างประเทศจะไม่ซื้อสินค้า ก่อผลกระทบต่อประเทศ

นอกจากนี้ ไทยยังไปทำเอ็มโอยูกับ 3-4 ประเทศ ทั้งเรื่องจดทะเบียนและการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านสามารถทำได้ไม่กี่หมื่นคน ฉะนั้น ต้องการแก้ปัญหา

ซึ่งก็ฟังดูมีเหตุผล

แต่กระนั้นก็มีเสียงวิพากษ์ว่า การตัดสินใจออก พ.ร.ก. “แรงงานต่างด้าว” ของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุมอย่างเพียงพอ

แม้จะเต็มเปี่ยมด้วย “เจตนาดี” คือ ต้องการจัดระเบียบ วางระบบ ในเรื่อง “แรงงานต่างด้าว” เพื่อให้สามารถควบคุมได้

และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในเรื่อง “การค้ามนุษย์” โดยเป้าหมายสำคัญอาจอยู่ที่ “เทียร์” อันมาจาก “สหรัฐ”

แต่ความเป็นจริงจากความพยายามนั้นก็คือ ไม่มีผลจากสหรัฐอะไรเลย

ไทยยังคงอยู่ใน “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” อันเท่ากับว่าการประกาศและบังคับใช้ “พ.ร.ก.” สูญเปล่า

มากไปกว่านั้น ยังมีเสียงจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการด้านประมง ก่อสร้าง ร้านอาหารและรีสอร์ต ว่าได้รับผลสะเทือนที่กว้างไกลและลึกซึ้ง

ธุรกิจขนาดใหญ่อาจพอรับมือได้ แต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก อยู่ในภาวะหนักหนาสาหัส

ยิ่งไปกว่านั้น ภาพของไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้วในเรื่องการละเมิด หรือการค้ามนุษย์

มาถูกตอกย้ำด้วยภาพแรงงานจากพม่า กัมพูชา ลาว ที่พากันแตกตื่นกลับประเทศเป็นเรือนหมื่น ในสภาพราวกับผู้อพยพ ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายตามแนวชายแดน

A Myanmar migrant worker with thanaka paste on her face is seen at a wholesale market for shrimp and other seafood in Mahachai, in Samut Sakhon province, Thailand, July 4, 2017. REUTERS/Chaiwat Subprasom

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังเพิ่มความอื้อฉาวไปทั่วโลก เมื่อสื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ได้ทำหนังสือผ่านชุดประสานงานไทย-เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

ระบุเจ้าหน้าที่ไทยเรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่เดินทางกลับประเทศ

ถือเป็นการถูกกระทำ “ซ้ำซ้อน” จากที่ถูกผลกระทบมาแล้วหลังมี พ.ร.ก.

ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก

และยังก่อให้เกิดคำถาม “ซ้ำซ้อน” ขึ้นมาอีกเช่นกันว่า เมื่อมีการเพิ่มโทษจำคุกและปรับหนักขึ้น ไทยจะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “หาประโยชน์” จากเหยื่อได้อย่างไร

เพราะยิ่งโทษหนัก การเรียกรับเงินหรือเรียกสินบน ก็ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ถือเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับแรงงานต่างด้าวมากขึ้นไปอีก

จึงถูกต้องแล้วที่ คสช. และรัฐบาลจะรีบใช้มาตรา 44 ผ่อนปรนการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ใน 4 มาตราเกี่ยวกับบทลงโทษออกไป 180 วัน

เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายมีเวลาในการปรับตัว และทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ว่าการจดทะเบียน การปรับปรุงศูนย์ลงทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น เพื่อนำไปสู่การประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

ที่สำคัญ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่รังแก หรือเรียกรับผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าว

ซึ่งคงจะเป็นเรื่องเศร้า หากจะมีการใช้ “ความแรง” ของ พ.ร.ก. ไปรีดนาทาเร้นนายจ้างคนไทยทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก และลูกจ้างต่างด้าว อย่างละโมบโลภมากยิ่งขึ้น

เวลา 180 วันหลังจากนี้ ถูกคาดหมายในทางดีว่าจะทำให้เรื่องแรงงานต่างด้าวเข้ารูปเข้ารอย มากยิ่งขึ้น

จนสามารถทำให้เราแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ จนพ้น “เทียร์ (Tier) 2 ต้องจับตามอง” จากสหรัฐได้แล้ว

ยังควรช่วยเช็ด Tears หรือน้ำตาของ “แรงงานต่างด้าว” ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ด้วย