ไม่ตรงปก-ไม่ตรงปัญหา/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ไม่ตรงปก-ไม่ตรงปัญหา

 

ที่กล่าวกันว่า ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจก็จะดี สังคมจะเจริญก้าวหน้า มาในวันนี้ยิ่งกระจ่างชัด เมื่อประเทศชาติในยุคที่บริหารโดยพลเอกนอกราชการ ซึ่งเข้าสู่อำนาจในขณะเป็นผู้นำกองทัพด้วยการรัฐประหาร พร้อมกับสืบทอดอำนาจต่อมาผ่านรัฐธรรมนูญและกลไกเลือกตั้ง แล้วก็ต้องมาเผชิญสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด ตามซ้ำด้วยเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก

ความสามารถในด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เห็นมาตลอดในช่วงรัฐบาลทหาร 5 ปี ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้ง แล้วต้องมาเผชิญกับอภิมหาวิกฤตโควิด ผลก็คือ ประชาชนยากลำบากกันหนักหนาสาหัส

ขณะที่ทั่วโลกก็ต้องเจอกับโควิดรุนแรงไม่ต่างกัน แต่ด้วยการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตได้ดี การระดมวัคซีนมาได้เร็วและมีคุณภาพ ทำให้หลายประเทศเริ่มคลี่คลายปัญหาได้มาก จนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การค้าขายเริ่มกลับคืนมา

ในฟุตบอลยูโรที่จัดหลายสนามในหลายประเทศของยุโรป ภาพที่ปรากฏผ่านการถ่ายทอดสดทางทีวี เห็นคนเข้าไปนั่งดูกันเกือบเต็มสนามบ้าง บางที่ก็เต็มสนามเหมือนปกติแล้ว บ่งบอกถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้นในหลายๆ ประเทศ

แต่ของบ้านเรากลับตรงกันข้าม นับว่าโควิดยิ่งระบาด ผู้คนล้มตายและติดเชื้ออย่างมากมาย

จุดสำคัญคือการจัดหาวัคซีนที่ผิดพลาด ล่าช้า เพราะการแทงม้าแค่ 2-3 ตัว เมื่อวัคซีนไม่มา ฉีดได้ไม่พอ การป้องกันโควิดย่อมไม่ดี ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นได้

ขณะที่หลายๆ ชาติเขาจัดหาวัคซีนได้ทัน การป้องกันโควิดก็เริ่มดีขึ้น เศรษฐกิจก็ฟื้นตามมาทันควัน ชีวิตปกติก็ตามมา

กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาล จึงยิ่งแผ่กว้างไปทั่ว เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านในหลายๆ รูปแบบ ปฏิกิริยาผ่านทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เต็มไปด้วยความร้อนแรง ไม่ยอมรับความสามารถของรัฐบาลนี้

แต่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าประชาชนจะไม่พอใจกันขนาดไหน ก็ไม่มีผลทำอะไรต่อรัฐบาลนี้ได้

เพราะรัฐบาลนี้มีฐานอำนาจสนับสนุนแน่นแฟ้น ทั้งกองทัพ ทั้งเครือข่ายอำนาจนอกระบบ กลไกทุกอย่างก็ต้องหันมาโอบอุ้มดูแลรัฐบาล ยกเว้นการโอบอุ้มจากประชาชนวงกว้าง

ความล้มเหลวของการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผ่านได้แค่ร่างเดียว ที่ไม่ใช้ประเด็นหัวใจของปัญหารัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เครือข่ายอำนาจที่แสดงผ่าน 250 ส.ว. ยืนยันชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอะไร

จะต้องเป็นไปอย่างนี้อีกยาวนาน

สำหรับประชาชนแล้ว นี่คือเครื่องตอกย้ำว่า เมื่อการเมืองไม่ดี เศรษฐกิจก็ย่อมไม่ดี สังคมก็จะไม่พัฒนาก้าวหน้า ชีวิตประชาชนก็จะยิ่งจมอยู่กับความยากลำบากต่อไป!

 

ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญสัปดาห์ก่อน เหล่า ส.ว.ได้ดาหน้ากันอภิปรายปกป้องรัฐธรรมนูญ โดยบางรายถึงกับกล่าวอ้างว่า ปัญหาประเทศชาติเวลานี้ เป็นเรื่องโรคระบาด เรื่องปากท้อง แต่กลับมายื่นแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

นี่คือทัศนะของ ส.ว.หรือที่เรียกว่าสภาสูง ก็คือตัวแทนชนชั้นสูง ไม่รู้จักชาวบ้าน กลับมากล่าวอ้างชาวบ้านเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมให้แก้ไข

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หลังรัฐสภาลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่าสิบฉบับของ ส.ส.

เราจะได้ยินได้ฟังเสียงบ่นอย่างหมดหวังของชาวบ้าน ตามตรอกซอกซอย ตามร้านค้า หรือแม้แต่ชาวนาเกษตรกรตามเรือกสวนไร่นา ต่างพากันกล่าวว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็คงจะมีรัฐบาลจากพวกทหารมาปกครองประเทศ แล้วอย่างนี้จะจัดหาวัคซีนจะแก้โควิดได้ดีอย่างไร จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นมาได้อย่างไร ราคาพืชผล ราคาข้าวคงจะแย่อย่างนี้ต่อไป!?

ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่สอดคลองกับความต้องการของประชาชน และประชาชนรู้ว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ปัญหาโควิดและปากท้องของเขามีทางออกที่ดีได้ ด้วยมีนักการเมืองที่เหมาะสมเข้ามาจัดการ

อีกทั้งคำกล่าวของชาวบ้านเช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยาก

ไปถามใครก็รู้ว่า ปัญหาที่เราเห็นๆ กันอยู่คือ มีโรคระบาด การจัดหาวัคซีนทำได้ไม่ดี ย่อมต้องมีรัฐบาลที่มีความฉับไว มีวิสัยทัศน์ มีความสัมพันธ์กับนานาชาติที่แน่นแฟ้น ไปจนถึงเศรษฐกิจที่สาหัสขนาดนี้ ก็ต้องมีผู้นำที่เก่งกาจด้านเศรษฐกิจ เป็นนักบริหารที่ก้าวทันโลก จึงจะกู้เศรษฐกิจขึ้นมาจากขุมนรกได้

คุณสมบัติเหล่านี้ จะหาได้จากรัฐบาลที่รากฐานมาจากผู้นำกองทัพ แล้วเข้ามาโดยการรัฐประหาร ก่อนจะเป็นนายกฯ ต่อหลังเลือกตั้ง ด้วยอำนาจ 250 ส.ว.ที่เหนือเสียงของประชาชนหลายล้านเสียงที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างไร

ผู้นำที่เป็นนายพลนอกราชการ มีฐานสนับสนุนจากกองทัพ แล้วจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นมหาวิกฤตของประเทศและประชาชนแบบนี้ได้อย่างไร

เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง!!

แต่ไม่ว่าประชาชนจะส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ทำอะไรไม่ได้ แค่พยายามจะแก้รัฐรรมนูญ เพื่อตัดอำนาจ 250 ส.ว.ออกไป หวังให้การเลือกตั้งครั้งหน้า เสรีและเปิดกว้าง ตัดสินด้วยคะแนนเสียงจากประชาชนที่ไปเลือกตั้ง ตัดสินด้วยความต้องการของประชาชนที่รู้ดีว่าปัญหาของบ้านเมืองเวลานี้คืออะไร ต้องการผู้นำแบบไหน

แต่ก็ทำไม่ได้

การเมืองไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราจะต้องอยู่กันอย่างนี้ต่อไป!?

 

ตอนที่วางแผนกันล้มประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2557 โดยแบ่งงานกันทำเป็นกระบวนการ เริ่มต้นตั้งแต่ทำลายภาพพจน์ของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ก่อความวุ่นวาย ขว้างปาเก้าอี้ ฮือกันอลหม่านหลายครั้ง พร้อมกับสร้างวาทกรรมเผด็จการรัฐภา เพื่อจะทำให้บรรยากาศของประชาธิปไตยดูเลวร้าย เป็นที่เบื่อหน่ายของประชาชน ก่อนจะนำไปสู่การก่อม็อบ

ครั้นเมื่อชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายรัฐบาลยอมจำนนด้วยการยอมยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ แต่กลับไม่ยอมรับแนวทางแก้ปัญหาตามวิถีประชาธิปไตย อ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง คือขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเข้าทางตัน เรื่องจึงดำเนินมาจนถึงบทสุดท้ายก็คือการรัฐประหาร

ตอนนั้นคงมีเป้าหมายเพื่อล้มตระกูลชินวัตรให้ได้ ทำให้อำนาจมาสู่มือกองทัพ เพื่อควบคุมและจัดระเบียบการเมืองใหม่ เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อทำให้ฝ่ายนักการเมือง โดยเฉพาะตระกูลชินวัตรไม่สามารถกลับมาสู่อำนาจได้อีก

พูดง่ายๆ ว่า ที่เคยพยายามทำในการรัฐประหาร 19 กันยายน แล้วเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ยังไม่สำเร็จ จึงต้องมีรัฐประหารในปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อกระชับอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าให้หนาแน่นและยาวนานที่สุด

ผลก็คือ ทำให้ได้รัฐบาลทหารอยู่นานถึง 5 ปี แล้วพอมีเลือกตั้ง ก็ต้องให้นายกฯ คนเดิมอยู่ต่อไป ภายใต้กลไก 250 ส.ว.โหวตแต่งตั้งนายกฯ

เป้าหมายของเครือข่ายอำนาจเป็นเช่นนี้ เดินหน้ากันอย่างเอาจริงเอาจัง เป้าหมายอย่างน้อยก็ให้ 250 ส.ว.ที่อยู่ 5 ปี ตั้งรัฐบาลได้ 2 วาระ คือ 8 ปี

ไม่สนใจว่า 5 ปีของรัฐบาลทหารจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำขนาดไหน แล้วต่อมาเมื่อเป็นรัฐบาลเลือกตั้งด้วยกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมาเจอวิกฤตโควิดกับเศรษฐกิจที่พังทลาย

ก็ยังเดินหน้าเป้าหมายเดิมที่วางไว้เมื่อปี 2557 อย่างไม่แปรเปลี่ยน

ปัญหาคือชีวิตประชาชนที่ขาดวัคซีน ต้องหวาดผวาโควิด และยังไม่รู้ว่าปากท้องเงินทองจะแก้ไขได้อย่างไรนั้น

กลับไม่ได้รับความสนใจ และไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเป้าหมายเดิมๆ

แต่อาจจะลืมไปว่า การผูกขาดอำนาจยาวนานเกินไป เคยทำให้เกิดการระเบิดของอารมณ์ประชาชนครั้งใหญ่มาแล้ว เช่น 14 ตุลาคม 2516!