โตเกียว โอลิมปิก No Condom, No Beer, No Cheer/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

โตเกียว โอลิมปิก

No Condom, No Beer, No Cheer

กีฬาโอลิมปิก ที่โตเกียวจะเริ่มวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ แข่งจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม คาดกันว่าน่าจะเป็นโอลิมปิกที่มีค่าจัดสูงที่สุดถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 800,000 ล้านบาท แต่บรรยากาศห่อเหี่ยวมากที่สุดทั้งนักกีฬาและผู้ชม มีกฎเข้มมากมายเพราะสถานการณ์โควิด-19

ทางเจ้าภาพมีข้อห้ามหลาย No ที่นักกีฬาและผู้ชมการแข่งขันในสนามต้องทำตาม คือ…

No Condom, No Beer, No Cheer

โนถุงยาง, โนเบียร์, โนเชียร์

 

No Condom

ในหมู่บ้านนักกีฬา นักกีฬาจะได้รับแจกถุงยางเมื่อแข่งขันเสร็จและเก็บข้าวของออกจากบ้านพักนักกีฬา

ไม่ใช่มีแจกตลอดเวลาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย

กฎใหม่นี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ทางผู้จัดตั้งใจแจกถุงยาง 150,000 ชิ้นให้กับนักกีฬาประมาณ 11,000 คน จาก 206 ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันและพักที่หมู่บ้านนักกีฬา แต่ต้องทำตามกฎรักษาระยะห่าง 2 เมตร ดังนั้น จึงให้นักกีฬาเก็บถุงยางไว้และกลับไปใช้ที่บ้านตัวเอง

แต่ถ้านักกีฬามีถุงยางอยู่ในมือขณะพักอยู่ในบ้านพักนักกีฬา เจอนักกีฬาจากนานาประเทศที่ร่างกายฟิตจัด ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน จะมั่นใจได้อย่างไรว่านักกีฬาจะไม่ใช้ถุงยางอนามัย

ดังนั้น เพื่อความชัวร์ว่านักกีฬาจะไม่ใช้ถุงยางอนามัยแน่นอน ทางผู้จัดจึงเปลี่ยนใจมอบถุงยางอนามัยให้กับนักกีฬาเวลาเก็บข้าวของออกจากหมู่บ้านนักกีฬา

 

No Beer

เดิมทีทางผู้จัดอนุญาตให้มีการขายเบียร์ที่สนามแข่งได้ เพราะเบียร์ Asahi เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก

แต่ต่อมาผู้จัดตัดสินใจไม่อนุญาตให้มีการขายเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะมีกระแสความไม่พอใจของคนญี่ปุ่นเห็นว่าไม่ยุติธรรมที่บาร์และร้านอาหารเสิร์ฟแอลกอฮอล์ให้ลูกค้าในร้านที่นั่งโต๊ะละไม่เกิน 2 ได้ระหว่างเวลา 11:00 น. ถึง 19:00 น. โดยแต่ละโต๊ะดื่มได้ไม่เกิน 90 นาที ซึ่งเป็นกฎเข้มที่มีขึ้นในช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการขายเบียร์ในสนามแข่งโอลิมปิก เห็นว่าหากดื่มเบียร์ไปมากๆ ผู้ชมในสนามอาจมีอารมณ์สนุกคึกคัก ตะโกนเชียร์ และลืม Social Distancing อาจแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ได้

แต่สำหรับนักกีฬาโอลิมปิกสามารถนำแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในหมู่บ้านนักกีฬาได้

 

No Cheer

ผู้ชมสามารถเข้าชมในสนามแข่งจริงได้ แต่ให้เฉพาะผู้ชมชาวญี่ปุ่นเท่านั้น และจำนวนผู้ชมจะต้องไม่เกิน 50% ของจำนวนความจุของสนามแข่งขัน สนามแข่งจุผู้ชมได้ 20,000 คน หรือมากกว่า อนุญาตให้ผู้ชมเข้าสนามแข่งได้ไม่เกิน 10,000 คน

ผู้ชมในสนามไม่ต้องฉีดวัคซีนหรือแสดงหลักฐานว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ถ้าหากมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการป่วย จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนาม และไม่ได้เงินค่าตั๋วคืนด้วย

เมื่อผู้ชมผ่านเข้าสนามได้ ก็มีกฎเข้มที่ต้องปฏิบัติตามคือ ห้ามส่งเสียงเชียร์ ห้ามพูดคุยกับผู้ชมคนอื่นในสนาม เพราะเกรงว่าน้ำลายจะกระเด็น

หากจะเชียร์ ทำได้แค่ปรบมือ แม้แต่ผ้าขนหนูก็ห้ามโบก

นอกจากนี้ แฟนในสนามยังถูกห้ามขอลายเซ็นนักกีฬา

เมื่อการแข่งขันจบลง ผู้ชมต้องออกจากสนามและกลับบ้านทันที

 

สําหรับนักกีฬาต่างชาติที่เข้าแข่งขัน ก่อนเดินทางถึงญี่ปุ่น 4 วัน นักกีฬาต้องเข้ารับการตรวจโควิด 2 ครั้ง

ส่วนนักกีฬาจาก 6 ประเทศที่โควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนักคือ อินเดีย, มัลดีฟส์, เนปาล, ปากีสถาน, ศรีลังกา และอัฟกานิสถาน 7 วัน ก่อนเดินทางถึงญี่ปุ่น ต้องเข้ารับการตรวจโควิดทุกวัน รวม 7 ครั้ง

ขณะนี้ประชากรโลกประมาณ 22% หรือ 1,700 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นประชากรในประเทศพัฒนาแล้ว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 85%

ในขณะที่ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาเพียง 0.3% ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

 

คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ประมาณตัวเลขว่า 80% ของนักกีฬาราว 11,000 คนที่เข้าแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผู้สื่อข่าวจำนวน 70%-80% ก็ได้รับการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขัน

มาตรการป้องกันโควิด-19 ในโตเกียว โอลิมปิกที่มีนักกีฬาราว 11,000 คน จาก 206 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ต้องเข้มงวดและรัดกุมอย่างที่สุด…

เพราะไม่เช่นนั้น โตเกียว โอลิมปิกจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ของโควิด-19 ทุกสายพันธุ์จากทั่วโลก